8 ธ.ค. 2021 เวลา 01:59
กรณีศึกษาแบรนด์ SAMSUNG ร้านขายของชำ สู่ผู้ผลิตเครื่องบินไอพ่น
1 ใน 3 ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลก มาจากแบรนด์ซัมซุง
และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สมาร์ทโฟนทุกเครื่องบนโลก มีชิ้นส่วนจากโรงงานของซัมซุงอยู่
แต่รู้ไหม กว่าที่ซัมซุงจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทด้านเทคแนวหน้าของโลกได้ ในอดีตพวกเขาเคยเปิดร้านขายของชำมาก่อน
ย้อนกลับไปต้นศตวรรษที่ 20 (ปี 1901-1999) ตระกูลลี ครอบครัวชาวนาเกาหลี ประกอบกิจการเกษตรกรรม และค้าขายที่ดิน ซึ่งว่ากันว่า มีที่ดินรวมกว่า 300 ผืนเลยทีเดียว
แต่ด้วยความที่ว่า ยุคนั้นเกาหลียังมีปัญหาสงครามกับญี่ปุ่นอยู่ ตระกูลลีมองเห็นว่า การที่ตัวเองสะสมที่ดินไว้เยอะจะเป็นจุดสนใจจากผู้มีอำนาจ จึงได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนไปให้ทายาทประกอบธุรกิจในด้านอื่น
นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน
ปี 1938 ลูกชายผู้เป็นเสาหลักของตระกูลลี นามว่า ‘ลี บยอง ชุน’ ได้รับมรดกจากการแบ่งขายที่ดินของครอบครัว เขาได้นำเงินก้อนเล็กๆ มาก่อตั้งร้านขายของในตลาดแห่งหนึ่งของกรุงโซล
โดยตั้งชื่อร้านว่า SAMSUNG อ่านเป็นภาษาเกาหลีคือ “แซมซัง” หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ “ซัมซุง”
ความหมายของชื่อร้าน ได้แรงบันดาลใจมาจากทายาททั้งสามคนของคุณ บยอง ชุน ในช่วงเริ่มแรก โลโก้ซัมซุงเป็นตราสามดาว สื่อว่าทายาททั้งสามคือแก้วตาดวงใจของพ่อ พ่อจะทำทุกวิถีทางให้ลูกๆ ได้ใช้ชีวิตที่ดีมีความสุข
คุณ ลี บยอง ชุน เลือกรูปแบบธุรกิจซัมซุงเป็นเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไป โดยสินค้าหลักๆ คือพวก ผัก ผลไม้ ปลาแห้ง ของชำต่างๆ ภาษาชาวบ้านคือขายแต่สากกระเบือยันเรือรบ
แต่ที่จริงแล้ว ลี บยอง ชุน ไม่ได้เปิดร้านขายของชำแค่อย่างเดียว เขายังคงสืบทอดเจตนารมณ์ของครอบครัว ในเรื่องของการทำไร่ทำสวน และการค้าที่ดินอยู่ รวมไปถึง การมองเห็นโอกาสในธุรกิจต่างๆ ก็จะเอาเงินไปลงทุนกับธุรกิจนั้นๆ
กลับมาที่ร้านซัมซุง การค้าเป็นไปอย่างดี ธุรกิจมีความเจริญรุ่งเรือง เรียกได้ว่าเศรษฐีชาวไร่ที่มีฐานะอยู่แล้ว ก็ยิ่งรวยขึ้นไปอีก
ข้ามมาปี 1969 คุณ ลี บยอง ชุน มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล มองเห็นการเติบโตของโลกในอนาคต เขานำกิจการซัมซุงเข้าสู่แวดวงไอที โดยการจับมือกับ Sanyo จากญี่ปุ่น ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขายในประเทศเกาหลี
ปี 1975 ซัมซุงซื้อกิจการในเกาหลีต่อจาก Sanyo เพื่อครอบครองอิทธิพลการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด จนมีความมั่งคั่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
ปี 1978 รู้ไหมว่าซัมซุงเคยเข้าสู่อุตสาหกรรมการสงคราม โดยการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพเกาหลี ซึ่งมีตั้งแต่ปืนใหญ่ ยานเกราะ หรือแม้กระทั่งเครื่องบินไอพ่น
เครื่องบินไอพ่นที่พูดถึง ซัมซุงได้ร่วมมือกับ General Electric(GE) จากสหรัฐฯ โดยแรกเริ่ม GE เจรจาให้ซัมซุงพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผลิตเครื่องยนต์ไอพ่น แต่ซัมซุงเลือกที่จะผลิตเครื่องบินรบทั้งลำ
ภายหลัง ซัมซุงย้ายฐานการผลิตออกจากโซล เพราะมองว่าเมืองเริ่มมีความแออัด พวกเขาได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาและผลิตเทคโนโลยีที่เมืองซูวอน ซึ่งในเวลานั้น ซูวอนยังเป็นเมืองกสิกรรมที่เงียบๆ อยู่ไม่ห่างจากโซลเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันซูวอนคือเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของซัมซุงไปเสียแล้ว เพราะถ้าพูดถึงซูวอน ก็จะนึกถึงซัมซุงทันที
นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน พวกเขายังเป็นเสือเอเชียที่กล้าบุกดินแดนฝรั่ง ด้วยการสร้างฐานการผลิตและเจาะตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในอเมริกาและยุโรป
ปี 1980 เป็นช่วงที่โลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับโทรศัพท์บ้าน และซัมซุงก็มองเห็นโอกาสในตลาดนี้ พวกเขาได้ทุ่มทุนซื้อกิจการผลิตโทรศัพท์และระบบคมนาคมการสื่อสารจาก Hanguk Janja Tongsin เพื่อที่จะครอบครองตลาด โดยไม่ได้ขายแค่โทรศัพท์ แต่ยังเป็นเจ้าของสายสัญญาน ขายทางเชื่อมให้กับลูกค้าสื่อสารถึงกันได้
ปี 1982 โลกให้ความสนใจกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยมีบริษัท IBM เริ่มพัฒนาเป็นเจ้าแรก
ปี 1983 ซัมซุงก็มองเห็นโอกาสในตลาดนี้อีก จึงได้หันมาพัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะด้วย
ปี 1984 ซัมซุงรุ่งเรืองถึงขั้นขีดสุด พวกเขาเปิดโรงงานผลิตเทคโนโลยีที่นครนิวยอร์ค และยอดขายสินค้าของบริษัทก็สามารถแตะหลัก 1 ล้านล้านวอนได้เป็นครั้งแรก
ปี 1985 ซัมซุงเปิดโรงงานผลิต Semi-Conductor อันเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการนำไปทำชิป ROM และ RAM ในแบบต่างๆ ซึ่งซัมซุงคือเจ้าใหญ่ที่สามารถครองได้ทั้งตลาด เพราะไม่ว่าใครบนโลกจะผลิตเทคโนโลยีอะไร จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ และซัมซุงคือตัวเลือกแรกๆ ที่บริษัทหน้าใหม่ต้องวิ่งเข้าหา
ปี 1987 ลี บยอง ชุน จากไป คนที่มาสืบทอดกิจการใหญ่ของซัมซุงคือทายาทคนที่สาม เป็นชายหนุ่มชื่อว่า ลี คุน ฮี
คำถามก็คือ ทำไมลี บยอง ชุน ถือได้แบ่งสมบัติก้อนใหญ่ให้ลูกคนที่สามดูแล ทำไมไม่ให้ลูกคนแรกหรือคนที่สองล่ะ
ที่จริงแล้ว บยองชุน แบ่งสมบัติให้ทั้งสามคนดูแล โดยพี่คนโตเป็นเพศหญิง ดูแลบริษัท Hansol เป็นบริษัทด้านเคมิคอล ยา และไบโอเทคโนโลยีต่างๆ
ทายาทคนที่สอง ดูแล CJ Group บริษัทผลิตอาหารและยา รวมไปถึงอุตสาหกรรมการบันเทิง
ปี 1990 ซัมซุงก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปี 1996 สร้างโรงงานผลิตชิปที่ออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปี 1998 ซัมซุงเปิดตัวทีวีจอแบนเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้คนทั่วโลก เริ่มหันเข้าหาแบรนด์ซัมซุง แม้แต่ SONY ยังหวั่นไหวกับการเติบโตก้าวกระโดดของซัมซุง
ปี 2000 รัฐบาลเกาหลีรับเอาเทคโนโลยีทางการทหารของซัมซุงไปพัฒนาต่อ
ปี 2001 ซัมซุงผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เพื่อครอบครองการเป็นผู้นำในตลาด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใดในโลก ต้องสั่งอุปกรณ์จากซัมซุงไปใช้กับแบรนด์ของตัวเอง
ปี 2004 SONY เลือกที่จะมาเจรจากับซัมซุง เพื่อร่วมกันผลิตทีวีจอแบน
ปี 2006 ซัมซุงก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก ในเรื่องของทีวีจอแบน
ปี 2008 ซัมซุง ซื้อกิจการร่วมต่อจาก SONY
ก้าวข้ามมาปี 2017 ซัมซุงเปิดตัวโรงงานผลิตชิปที่คยองกี เป็นโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 400 สนามเรียงต่อกัน
มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ซัมซุงเป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่างในตลาดการค้าอย่างมาก แม้พวกเขาจะขายตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ
ส่วนหนึ่งของการเติบโตจนถึงปัจจุบัน คือวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของผู้นำ ที่ส่งต่อกันในรุ่นสู่รุ่น
คุณบยองชุน ไม่เพียงแค่มองเห็นอนาคตว่าโลกจะเปลี่ยนไปแบบไหน แต่เขาเลือกที่จะเปลี่ยนอนาคตให้กับโลกเสียมากกว่า
นี่แหละที่เขาว่ากันว่า “ใครเปลี่ยนโลกได้ ผู้นั้นคือผู้ครองโลก”
กดติดตาม YouTube TechHero ได้ที่ลิงค์ด้านล่างเลย
โฆษณา