9 ธ.ค. 2021 เวลา 00:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหมาป่าที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารถูกนำออกจากระบบนิเวศ!? เราจะพาทุกท่านกลับไปสู่เหตุการณ์ที่หมาป่าได้หายไปจากอุทยานแห่งชาติเยลโล่วสโตน (Yellowstone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา
.
ในปี 1924 หมาป่าสองตัวสุดท้ายของอุทยานแห่งชาติเยลโล่วสโตนถูกฆ่าลง ทำให้พวกมันได้สูญสิ้นไปจากพื้นที่แห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่เท่ากับภาคอีสานของประเทศไทย เนื่องจากชาวอเมริกันในขณะนั้นมองว่าหมาป่าคือสัตว์ดุร้ายที่คอยโจมตีทั้งมนุษย์ และสัตวเลี้ยงอื่น ๆ ผู้คนได้ออกมาล่าหมาป่าและทางภาครัฐก็สนับสนุน จนหมาป่าตัวสุดท้ายได้หายไปจากเยลโล่วสโตน ผู้คนมากมายมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะสัตว์นักล่าที่กินสัตว์ตัวอื่นได้หายไปแล้ว
หลายปีผ่านไป นักธรรมชาติวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ต่างสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ก่อนหน้านี้พวกเขาได้ยินถึงเสียงนกร้องของหลากหลายสายพันธุ์ เสียงสัตว์นานาชนิดในป่า แต่ในตอนนั้นมันกลับเหลือแต่เพียงความเงียบงัน และเสียงนกไม่กี่ชนิด จากป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อย่างหนาแน่นกลับเบาบางลง และที่เห็นได้ชัดเจนคือ แม่น้ำที่เคยไหลตรงก็กลับไหลคดเคี้ยวมากขึ้น
.
นักวิทยาศาสตร์ได้ลงสำรวจ พวกเขาพบความสัมพันธุ์คร่าว ๆ เมื่อผู้ล่าหมดไป อาหารของหมาป่าที่เป็นกวางเอลก์ก็เพิ่มอย่างรวดเร็ว พวกมันกินต้นพืชต้นอ่อนต่างๆ ที่จะเติบโตมาเป็นต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกที่ทำรังบนต้นไม้ เมื่อไม่มีที่สร้างรัง นกจึงลดจำนวนลง
นอกจากต้นไม้ต้นอ่อนแล้ว กวางเอลก์ยังกินต้นหลิว (Willow) ที่อยู่ริมแม่น้ำด้วย ซึ่งรากของต้นหลิวนี้จะคอยช่วยพยุงดินริมแม่น้ำไม่ให้ถูกกัดเซาะง่าย เมื่อไม่มีต้นหลิว แม่น้ำจึงคดเคี้ยวมากขึ้น อีกทั้งจำนวนต้นหลิวที่ลดลงทำให้บีเวอร์ผู้สร้างเขื่อนอันดับ 1 ที่เรารู้จัก ไม่สามารถสร้างเขื่อนได้เพราะไม่มีไม้จากต้นหลิว
.
และเมื่อไม่มีเขื่อนของบีเวอร์ จึงส่งผลให้ไม่มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วย งู กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำต่างๆ และนกขนาดใหญ่ที่ล่าสัตว์เหล่านี้ก็ได้ลดจำนวนลงไปเพราะไม่มีอาหารให้เหยื่อให้ล่า
บ่อน้ำพุร้อนอันเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของอุทยานเยลโล่สโตน รูปภาพจาก visitbigsky
นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระต่าย หนู และพังพอนก็ยังลดจำนวนลงด้วยเพราะหมาป่าโคโยตี้(หมาป่าขนาดเล็กคล้ายๆ จิ้งจอก) นั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีหมาป่า(ผู้ล่าสูงสุด)ไปล่ามัน
.
ระบบนิเวศซับซ้อนที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างพังทลายลงด้วยการหายไปของหมาป่าผู้อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารนี้เพียงชนิดเดียว สร้างความวิตกังวลไปทั่วให้กับนักวิทยาศาสตร์
จนกระทั่งปี 1991 เหล่านักธรรมชาติวิทยา นักวิทยศาสตร์ และนักวิจัย ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติเยลโล่วสโตน โดยเสนอว่าหมาป่าคือ Keystone Species ที่จะนำความหลากหลายกลับมา
.
ในที่สุดปี 1995 หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนการนี้ เหล่านักวิจัยจากอเมริการ่วมมือกับภาครัฐของแคนาดา ได้จับหมาป่าจำนวน 31 ตัวจากตอนเหนือประเทศแคนนาดากลับเข้าสู่เยลโล่วสโตน เพียงไม่กี่ปี ความอุดมสมบูรณ์เริ่มกลับมา เกิดผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ต่อกันไป
ภาพการปล่อยหมาป่าที่ถูกจับจากแคนนาดาเมื่อปี 1995 ภาพจาก spokesman
การกลับมาของมันทำให้กวางเอลก์ต่างหลีกเลี่ยงพื้นที่หลาย ๆ จุดที่เป็นอันตราย และถูกจำกัดจำนวน ทำให้จำนวนต้นไม้ได้กลับมามีโอากาสเติบโต ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่กวางเอลก์ได้หลีกเลี่ยง แม่น้ำที่เคยคดเคี้ยวก็กลับมาไหลตรงเป็นช่วง ๆ นกกลับมาร้องเพลงอย่างหลากหลาย มีเขื่อนของบีเวอร์ ความหลากหลายก็เพิ่มขึ้น
.
สิ่งเหล่าเกิดขึ้นเพียงทั้งการหายไปและกลับมาของหมาป่าผู้เป็น Keystone Species
.
แล้ว Keystone Species คืออะไรกัน?
ถ้าหากการค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์คือสุดยอดการค้นพบที่พลิกวงการฟิสิกส์แล้วล่ะก็ การค้นพบว่าหมาป่า 31 ตัวได้คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับอุทยานเยลโล่วสโตน ก็เป็นเหมือนทฤษฎีสัมพันธภาพของวงการชีววิทยา
.
เพราะมันพลิกความเชื่อทั้งหมดที่เคยเชื่อกันเกี่ยวกับระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารซึ่ง โรเบิร์ต เพน คือผู้ให้กำเนิดทฤษฎี Keystone Species นี้
.
โรเบิร์ต เพน (Robert Paine) ในปี 1963 ได้เริ่มต้นการทดลองสุดคลาสสิกที่จะกลายเป็นมาตราฐานของการศึกษาระบบนิเวศวิทยา นั่นคือการทดลอง "Kick it and see ecology" เขาเริ่มต้นการทดลองโดยเลือกสถานที่ค่อนข้างเป็นระบบปิด มีขอบเขตชัดเจน แล้วศึกษาถึงลำดับห่วงโซ่อาหารว่าตัวไหนกินตัวไหน
Dr. Robert Paine นักนิเวศวิทยา(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2016)
พื้นที่ที่เขาเลือกมีดาวทะเลอยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ดาวทะเลนั้นกินสัตว์อื่น ๆ ทากทะเล เพรียงทะเล หรือหอยทะเล แต่ไม่มีตัวไหนมากินมัน
.
เขาก็เริ่มการทดลองง่ายๆ โดยการจับดาวทะเลออกจากพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง เวลาเพียงแค่ 1 ปี เพนก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง จากตอนแรกที่มีสัตว์จำนวน 15 ชนิด ก็เหลือเพียงแค่ 8 ความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์หายได้ไป แต่เพนก็ยังทดลองต่อไปอีกประมาณ 5 ปี เพื่อความแน่ใจจนพื้นที่นั้นเหลือเพียงสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียว
.
การทดลองของเขากลายเป็นทฤษฎีที่รู้จักกันในนาม Keystone Species ที่หมายความว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งเป็นกุญแจคอยค้ำจุนความอดุมสมบูรณ์ทั้งระบบเหมือนกับหินก้อนเล็กที่คอยค้ำจุนทั้งโครงสร้างของสิ่งก่อนสร้างในวงการสถาปัตยกรรม
ถึงแม้นักวิจัยหลาย ๆ คนอาจแย้งว่าหมาป่าไม่ใช่เหตุผล แต่พวกเขาก็ไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่า ระบบนิเวศนั้นช่างซับซ้อนและเปราะบาง การรบกวนแม้เพียงน้อยก็ส่งผลกระทบกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สามารถพังตึกให้ทลายได้
.
โลกใบนี้ก็เช่นกัน ทั้งหมดเกี่ยวพันกันอย่างที่แม้จะใช้เวลาทั้งชีวิตก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ทุกปัจจัย เราเห็นผลกระทบเล็ก ๆ มากมายง่าย ๆ เช่นเมื่อแม่นกตาย ลูกนกที่อยู่บนรังก็ตายตาม โลกใบนี้คือแม่นกและเราคือลูกนก
.
“ธรรมชาติอยู่ได้อย่างสบายถึงแม้จะไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหากที่จะอยู่ไม่ได้หากขาดธรรมชาติ..”
Keystone species ภาพจาก ARK NATURE
โฆษณา