9 ธ.ค. 2021 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ผู้ว่า ธปท. เชื่อไทยรับมือความเสี่ยงด้านต่ำจากโอไมครอนและเงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวได้ เล็งใช้นโยบายการเงินผสานการคลังดูแลเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน MFA CEO Forum หัวข้อ ‘Thai Economy in the Next Normal: Getting the policy response right’ ว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและการเร่งตัวของเงินเฟ้อในโลกจะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำ (Downside Risks) ที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญในปีหน้า อย่างไรก็ดี ยังมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ และเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้
“แน่นอนว่าโอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีน้ำหนักถึง 12% ของ GDP ไทย และ 20% ของการจ้างงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่การที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน มาเหลือ 3 แสนคนในปีนี้ เราไม่คิดว่าในปีหน้ามันจะแย่กว่านี้ อะไรที่เป็น Downside Risk ในปีหน้าจะเป็น Upside เมื่อเทียบกับปีนี้ ส่วนเรื่องเงินเฟ้อเรามองว่าไทยน่าจะได้รับผลกระทบจำกัด โดยเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียง 1%” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า โจทย์ที่ ธปท. ต้องดำเนินการต่อไปในปีหน้าคือการดูแลนโยบายการเงินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวได้ช้าและไม่เท่าเทียม โดยสิ่งที่ ธปท. จะดำเนินการต่อใน 3 ด้าน คือ
1. การประสานนโยบายให้ดีระหว่างการเงินและการคลัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. ทำนโยบายแบบยืดหยุ่น ไม่ยึดติด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง นโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยน เช่น จากการปรับนโยบายของ ธปท. จากที่ในช่วงแรกเป็นแบบปูพรม มาเป็นเฉพาะเจาะจงในช่วงหลัง
3. เพื่อให้นโยบายการเงินได้ผลสูงสุด จะต้องคำนึงถึงขีดจำกัดของมัน ไม่ทำอะไรสุดโต่ง เพราะจะเกิดผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญได้ โดยมองว่าหากขาดเสถียรภาพทั้งฝั่งการเงินและการคลังจะทำให้ทุกอย่างรวนไปหมด
“โจทย์การทำนโยบายการเงินที่สำคัญในช่วงนี้ คือ 1. ต้องทำนโยบายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ไม่ให้เกิดการสะดุด 2. ต้องแน่ใจว่ามาตรการตรงจุด เพื่อช่วยคนที่ได้รับผลกระทบที่หนักกว่าคนอื่น หรือกลุ่ม K ขาล่าง เนื่องจากการฟื้นตัวของไทยยังเป็นการฟื้นแบบไม่เท่าเทียมกัน” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยนโยบายการคลังต้องใช้เวลาในการทำมากกว่าเพราะมีเรื่องของงบประมาณ แต่เมื่อทำออกมาแล้วจะเห็นผลได้เร็วและเจาะจงกลุ่มได้ดี ขณะที่นโยบายการเงินสามารถทำได้เร็วกว่า เช่น เรื่องดอกเบี้ย แต่ผลกระทบจะกระจายเป็นวงกว้าง ดังนั้น การผสานนโยบายระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลัง จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
“หากไม่มีการกู้ยืมมากระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ปัญหาทางเศรษฐกิจจะหนักและรุนแรงกว่าในปัจจุบันเยอะมาก เช่น ในปีก่อน GDP เราติดลบ 6% แต่หากไม่มีมาตรการคลังเข้ามาช่วย GDP อาจติดลบมากถึง 9% ขณะที่ GDP ในปีนี้ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 0.7% หากไม่มีมาตรการคลังจะติดลบ 2.5%” เศรษฐพุฒิกล่าว
2
เรื่อง: ดำรงเกียรติ มาลา
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
โฆษณา