Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2021 เวลา 23:27 • หนังสือ
=======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันจันทร์
=======================
🌅• รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง - Defining Moment
✍🏻• รวิศ หาญอุตสาหะ เขียน
🔖• Defining Moment ตอนที่ 5 || CREATE SOMETHING NEW TODAY EVEN IF IT SUCKS
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
==================
⑤
CREATE SOMETHING
NEW TODAY
EVEN IF IT SUCKS
==================
“CREATE SOMETHING NEW TODAY EVEN IF IT SUCKS” แปลว่า บางทีเราต้องลงมือสร้างอะไรบางอย่างไปก่อนแม้ว่าเราอาจจะยังไม่พร้อมที่สุด หรือผลงานที่เราสร้างอาจจะไม่ได้ดีที่สุดก็ได้
หลาย ๆ ท่านคงพอรู้จักการรวบรวมความคิดด้วยวิธี brainstorm และในช่วงต้นของวิธีนี้สิ่งที่เราต้องการคือ “ปริมาณ” ของไอเดียเยอะ ด้วยการรวบรวมคนที่เกี่ยวข้อง มาระดมสมอง ช่วยกันคิดไอเดียไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ให้ได้มากที่สุด โดยยังไม่ให้ความสนใจว่าสิ่งที่คิดได้นั้นมีคุณภาพมากแค่ไหน
ผลงานที่โดดเด่นของอัจฉริยะของโลก มักถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลงานที่พวกเขาเคยสร้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น . . .
• ปาโบล ปีกัสโซ ตลอดชีวิตของเขาได้สร้างผลงานประมาณ 20,000 - 50,000 ชิ้น แต่มีผลงานเพียงแค่หลักสิบเท่านั้น ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
• อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตีพิมพ์บทความและหนังสือรวม 300 ชิ้น แต่งานที่มีอิทธิพลกับโลกใบนี้ คิดเป็นสัดส่วนน้อยนิด แต่เปลี่ยนโลกมหาศาล
• ทอมัส แอลวา เอดิสัน จดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของเขามากถึง 1,093 ฉบับ แต่สิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ นั้นมีเพียงแค่ 5-6 ชิ้นเท่านั้น
5
คุณรวิศกล่าวว่า “การทำผลงานเยอะอย่างเดียวยังไม่พอ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฟีดแบ็กของผลงานนั้น”
ลิซซ์ วินเสต็ด ผู้ร่วมผลิตรายการ The Daily Show บอกว่า เวลาเธอคิดมุกตลกขึ้นมา เธอจะยังไม่แน่ใจว่ามันจะใช้งานได้ไหมจนกว่าจะได้ลองกับผู้ชมจริง ๆ ด้วยการโพสต์มุกต่าง ๆ ลงในโซเซียลมีเดีย เพื่อดูความเร็วของยอดการรีทวีตและยอดกดไลค์กดแชร์
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือความหลากหลายของความสนใจ เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ศึกษานักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่ได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่ปี 1901-2005 เทียบกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปในยุคสมัยเดียวกัน
เวลานึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล เรามักนึกถึงคนที่จดจ่อกับเรื่อง ๆ เดียวและอยู่แต่ในห้องแล็บ แต่ความจริงแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า นักวิทยาศาสตร์ที่มีงานอดิเรกอย่างอื่นด้วยมีโอกาสที่จะได้รับรางวัลโนเบลมากกว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมาก ยิ่งพวกเขาจริงจังกับงานอดิเรกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรับรางวัลโนเบลมากเท่านั้น
ในยุคปัจจุบัน การสร้างสรรค์งานดี ๆ เราต้องมีความรู้ที่หลายหลายและลึกด้วย งานชิ้นที่ดีที่สุดที่คุณรวิศเคยทำ ไม่ได้มาจากการพยายามวิเคราะห์ตัวเลขในห้องประชุม แต่มักจะมาจากการผสมเรื่องที่เขาสนใจมาก ๆ สองสามเรื่องเข้าด้วยกัน และผลิตมันออกมาเป็นชิ้นงานที่มีลายเซ็นในแบบฉบับของเขาเอง
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
สิ่งที่คุณรวิศเล่าข้างต้นสอดคล้องกับนักร้องชื่อดังในเมืองไทยหลายท่านเลยค่ะ เช่น
คุณส้ม มาเรีย เจ้าของเพลงดังอย่าง “หรือฉันคิดไปเอง” ก็ได้กล่าวในรายการ Coming of Age ว่าเธออยู่กับการปล่อยเพลงแล้วไม่ประสบความสำเร็จมาเป็นสิบปี จนเธอรู้สึกชินชากับความไม่สำเร็จไปแล้ว และแม้จะรู้ว่าปล่อยเพลงไปก็ไม่ดังแต่ก็อยู่กับมันมาจนวันที่เพลงมีชื่อเสียง
หรือจะเป็นวง Clash ที่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัดที่แกรมมี่นานถึง 4 ปี นานจนทุกคนแทบจะถอดใจ ตลอด 4 ปี พวกเขาทำ Demo เพลงมากมายแต่ก็ไม่ผ่าน จนในท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้ออกอัลบั้มและโด่งดัง
อิคิ ∙ 生き มองว่าความสำเร็จนั้นต้องบ่มค่ะ และกระบวนการบ่มคือการฝึกฝน แต่ในชีวิตจริงเราไม่รู้เลยว่าต้องฝึกฝนนานแค่ไหน เคล็ดลับของ อิคิ ∙ 生き ก็คือ เราต้องอยู่กับปัจจุบันค่ะ มีเหตุผลและเป้าหมายให้กับสิ่งที่ทำเสมอ
สิ่งนี้หมายความว่า เราควรจดจ่อกับสิ่งที่ทำตรงหน้า ตอบตัวเองในเชิงสร้างเหตุแห่งผลลัพธ์ให้ได้ว่าเราต้องการอะไรจากสิ่งที่กำลังทำอยู่
หลายท่านอ่านแล้วอาจมีคำถามว่า เหตุผลของการลงมือทำในเชิงสร้างเหตุหรือทางมาแห่งผลลัพธ์นั้นหมายความว่าอะไร อิคิ ∙ 生き ขอเล่าดังนี้ค่ะ . . .
อิคิ ∙ 生き เพิ่งคุยกับทีมงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หลายคนเวลาเริ่มทำอะไรมักจะจดจ่อไปที่ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จที่เราอยากได้ แต่กลับลืมไปว่าเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นทางมาของสิ่งเหล่านั้น
หากเราเป็นแบบนี้ มันจะถึงฝั่งฝันยากเพราะการได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง การประสบความสำเร็จนั้นมันมีหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ค่ะ การประสบความสำเร็จสำหรับคนบางคนอาจมาเร็ว บางคนอาจมาช้าแตกต่างกันไป
ถ้าเราจดจ่อกับชื่อเสียง เงินทอง การประสบความสำเร็จ เราจะท้อใจและยอมแพ้ง่าย เพราะเราจะรู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่ถึงเร็วเท่าใจเราคิดซักที
ดังนั้นเหตุผลในการลงมือทำอะไรซักอย่างมันต้องอยู่กับปัจจุบันขณะและสมเหตุสมผล โดยเป้าหมายเหล่านั้นมันควรจะอยู่ใกล้มากพอที่เราจะ “เอื้อมสุดตัว” แล้วสามารถคว้ามันได้ เช่น เราทำสิ่งนี้เพราะต้องการพัฒนาทักษะบางอย่าง ต้องการทำให้ดีกว่าเมื่อวาน ต้องการรักษาวินัย ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ค่ะ
ส่วนผลลัพธ์ในด้านชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ เราควบคุมมันได้ยาก แต่โอกาสมีอยู่รอบตัวนะคะ และสิ่งเดียวที่จะทำให้เราไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้นได้ คือหมั่นฝึกฝน ทำตนให้คู่ควรค่ะ
ถ้าวันนี้เรายังไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้นไม่ได้ ก็ขอให้สันนิษฐานว่าเรายังไม่คู่ควร และหันกลับไปจดจ่อกับปัจจุบัน จดต่อกับการพัฒนาตนให้คู่ควรกับโอกาสรอบกายที่จะหมุนเวียนเข้ามาพิสูจน์ความสามารถของเราค่ะ
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
“You can’t use up creativity. The more you use, the more you have”
“คุณไม่มีวันใช้ความคิดสร้างสรรค์หมดหรอก คุณยิ่งใช้คุณก็ยิ่งมีมากขึ้น”
Maya Angelou
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
จากประสบการณ์ส่วนตัว อิคิ ∙ 生き เห็นด้วยกับข้อความของคุณ Maya Angelou ข้างต้นค่ะ ในสมัยเรียนปริญญาตรี อิคิ ∙ 生き เรียนคณะนิเทศศาสตร์ เอกการโฆษณา
ดังนั้นในช่วงที่เรียนอยู่การบ้านของ อิคิ ∙ 生き มักเป็นการคิดไอเดียให้กับงานโฆษณาต่าง ๆ ที่อาจารย์ส่งโจทย์มาให้ ในวัยนั้น อิคิ ∙ 生き เคยกลัวว่ามันจะมีวันใดวันหนึ่งที่เราหมดไอเดียและคิดอะไรไม่ออก
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นค่ะ ตราบใดก็ตามที่เรานำวัตถุดิบใหม่ ๆ จากการดู อ่าน ฟัง เข้าสมองอยู่เสมอ ความคิดสร้างสรรค์ของเราจะไม่มีวันหมด
อิคิ ∙ 生き มักเปรียบเทียบวัตถุดิบเหล่านี้เหมือนวัตถุดิบการทำอาหารที่ถูกเก็บอยู่ในตู้เย็น พอเรารู้ว่าวันนี้เราจะปรุงอาหารอะไร เราก็ไปเลือกหยิบวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องในตู้เย็นเหล่านั้นออกมา เพื่อมาผสม ต้ม ปรุง ผัด สุดท้ายก็ออกมาเป็นอาหารจานไอเดียพร้อมเสริฟหรือนำไปใช้นั่นเอง
ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อิคิ ∙ 生き จะมีสมุดสำหรับจดไอเดียหนึ่งเล่ม เพราะ อิคิ ∙ 生き สังเกตุว่าเราไม่สามารถบังคับตัวเราให้คิดไอเดียเจ๋ง ๆ ในเวลาที่เรากำหนดได้ แต่ไอเดียต่าง ๆ มักจะมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยและหลาย ๆ ครั้งมันมาแบบที่ยังไม่มีโจทย์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าจะปล่อยให้ความคิดเหล่านั้นสูญหายไปกับอากาศก็น่าเสียดาย อิคิ ∙ 生き จึงเลือกที่จะจดเก็บไว้เหมือนเราถนอมอาหารในตู้เย็นค่ะ
เวลาที่ได้โจทย์จากอาจารย์ เราก็แค่ไปเปิดตู้เย็นความคิดและจับคู่วัตถุที่เหมาะสมกับโจทย์เพื่อนำมาผลิตเป็นชิ้นงานส่งอาจารย์
เมื่อ อิคิ ∙ 生き เติบโตขึ้นและโอกาสได้ทำธุรกิจ งานของ อิคิ ∙ 生き ในช่วงแรกคือการคิดไอเดียทำการ์ดตกแต่งแบบต่าง ๆ สิ่งที่ อิคิ ∙ 生き ก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือเวลาที่อยู่คิดอะไรได้ ก็จะจดไอเดียต่าง ๆ สำหรับทำการ์ดไว้ล่วงหน้าพอถึงหน้าเทศกาลก็จะนำความคิดมาจับคู่กับธีมงานต่าง ๆ แล้วผลิตออกมาเป็นสินค้าจำหน่ายค่ะ
อิคิ ∙ 生き มักถามน้อง ๆ ดีไซน์เนอร์ที่ทำงานกับ อิคิ ∙ 生き ว่า เรากลัวไหมว่าวันใดวันหนึ่งไอเดียเราจะหมดและคิดอะไรไม่ออก มีน้อง ๆ หลายคนบอกว่าไม่กลัว แต่ก็มีบางคนที่บอกว่ากังวลว่าวันนึงไอเดียจะหมด
ดังนั้นคำแนะนำของ อิคิ ∙ 生き คือ ถ้าเราจะทำงานดีไซน์ก็ต้องหมั่นเสพงานนะ งานไหนดูแล้วชอบเก็บใส่คลังความคิดเราไว้ คิดอะไรได้ให้จดเอาไว้ เชื่อเถอะหลาย ๆ ในอนาคตเราจะได้นำหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจดไว้มาใช้อย่างแน่นอน
หากท่านใดสนใจอ่านบทความ “สูตรปรุงความคิดสร้างสรรค์” ที่ อิคิ ∙ 生き เขียนไว้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 สามารถอ่านได้ที่ LINK ด้านล่างค่ะ
=====================================
https://www.facebook.com/iki.alive/posts/817801332314788
=====================================
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอจบบันทึกการอ่านไว้แต่เพียงเท่านี้ ในวันจันทร์หน้าเรามาพบกับ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” บทต่อไปกันนะคะ อิคิ ∙ 生き ขอกล่าวคำว่า “อรุณสวัสดิ์” กับทุกท่านในเช้าวันแรกของสัปดาห์ค่ะ อิคิ ∙ 生き ขอให้วันนี้เป็นวันที่แห่งการเริ่มต้นที่ดีสำหรับทุกท่านนะคะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ จนรอ อิคิ ∙ 生き สรุปเรื่องราวทีละบทของ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ
https://www.facebook.com/KOOBBOOKS/
Reference :
• Coming of Age | EP. 53 | วัย 29 อันแสนพลิกผันของส้ม มารี ที่ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน [
https://youtu.be/MsPjWRRUH_0
]
• EP.41 ความเป็น ' แบงค์ แคลช ' | BANK CLASH | ป๋าเต็ดทอล์ก [
https://youtu.be/bOx-SiAA18w
]
#สัปดาห์ละบทสองบท #รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สัปดาห์ละ. . .บท 2 บท
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย