13 ธ.ค. 2021 เวลา 07:17 • สุขภาพ
4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องจับตามองหลังจากนี้
ในปี 2020 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างมาก ส่งผลทำให้ GDP เฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบ และมาฟื้นตัวในปี 2021 นี้ นั่นรวมถึงประเทศไทยของเราด้วยครับ
ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของ JPMorgan ระบุว่า GDP เฉลี่ยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้ เติบโตมากถึง 6% โดยมาจากเอเชียเป็นหลัก ได้แก่ อินเดีย และหลายประเทศในอาเซียน
อย่างไรก็ดีครับ อีกไม่สัปดาห์ก็จะก้าวสู่ปี 2022 ในสัปดาห์นี้ผมจะมาเล่าถึง 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองครับ
โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
นี่เป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่ข้อมูลของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังมีข้อมูลที่ยังไม่มากพอ แม้ว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังใช้ความพยายามที่จะทดลองว่าสายพันธุ์โอมิครอน มีการดื้อวัคซีนมากแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตามองกับการแพร่ระบาดของเจ้าสายพันธุ์ใหม่นี้จะเก่งกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่
ถ้าหากเป็นกรณีเลวร้ายสุด มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลก อาจต้องกลับมาเหมือนกับช่วงปี 2020-21 อีกครั้งครับ และนั่นอาจสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างมาก เพราะว่าหลายประเทศ มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ราว 30-60% ของจำนวนประชากร อาจต้องมีการสั่งซื้อวัคซีนชุดใหม่ ในกรณีที่วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้
สายพันธุ์โอมิครอน ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่น่ากังวลนี้ยังเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ ที่ผมจะกล่าวถึงภายหลัง
อย่างไรก็ดี เราจะทราบว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีความร้ายกาจแค่ไหนในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งเราน่าจะมีข้อมูลที่มากขึ้นกว่าปัจจุบันครับ
เงินเฟ้อ
จากคาดการณ์ของหลายสถาบันการเงิน หรือแม้แต่ผู้จัดการกองทุนที่อยู่ในผลสำรวจของ Bank of America Global Fund Manager Survey ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต่างมองว่าเงินเฟ้อนั้นอาจเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
สาเหตุสำคัญก็คือความต้องการสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเมือง และธุรกิจต่างๆ กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ดี สินค้าต่างๆ ก็กลับผลิตได้ไม่ทันความต้องการ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศจีน ทำให้ภาคการผลิตในประเทศจีนประสบปัญหา ส่งผลต่อซัพพลายเชนทั่วโลกทันที ทำให้สินค้าหลายชนิดผลิตไม่ทัน หรือไม่ก็ผลิตได้จำนวนที่ลดลง แต่ความต้องการสินค้าที่สูง ส่งผลทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมา
พญามังกรและเศรษฐกิจพวกเขา
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเอง (แน่นอนรวมถึงไทยด้วย) มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ที่หลายประเทศ มีการนำเข้าส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน เช่น ไทยส่งออกชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จากการเกษตรไปยังประเทศจีน หรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ก็ได้ส่งสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังประเทศจีนไม่น้อย เช่น แร่เหล็กจากบราซิล หรือทองแดงจากชิลี ถ่านหินจากอินโดนีเซีย เป็นต้น
1
ซึ่งการค้าระหว่างประเทศทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเติบโตได้ดี เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจจีนเองก็ต้องการวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากประเทศอื่นๆ เช่นกัน
ไม่เพียงแค่ภาคการค้าหรือการผลิตเท่านั้น แต่หลายประเทศก็พึ่งพานักท่องเที่ยวจากประเทศจีนไม่น้อย ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยในปี 2019 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากจีนที่มาไทยอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้จีนที่มีนโยบาย Zero Tolerance กล่าวคือ จีนจะไม่อดทนกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และตั้งใจที่จะทำให้ในประเทศมีผู้ติดเชื้อเป็น 0 เท่านั้น
จีน มีแนวโน้มที่จะไม่เปิดประเทศเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของนักวิจัยจีนได้คำนวณว่าถ้าหากจีนเปิดเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ หรือในสหภาพยุโรป จะทำให้จีนมีผู้ติดเชื้อมากถึงหลักแสนรายต่อวัน ยิ่งทำให้เราเห็นโอกาสที่ประเทศจีนจะเปิดประเทศในปี 2022 ในช่วงครึ่งปีแรกยากมากๆ และจีนยังยืนยันที่จะใช้นโยบายนี้ต่อไปด้วย แถมยังให้เหตุผลอีกว่านโยบายนี้เมื่อเทียบกับต้นทุนทางเศรษฐกิจแล้วยังถือว่าคุ้มค่า
1
นั่นทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลับมามีเมฆหมอกปกคลุมอีกครั้ง เนื่องจากนโยบายโควิดของจีนเองได้สร้างผลกระทบไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิตของจีนที่มีการหยุดชะงักจากกรณีพลังงานขาดแคลน ที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมถึงจากนโยบายของจีนเอง ซึ่งเราจะเห็นจากกรณีท่าเรือใหญ่ของจีนเองมีการหยุดชะงักหลายครั้ง ส่งผลต่อซัพพลายเชนทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังเล็กๆ ว่า จีนอาจเปิดประเทศ และเศรษฐกิจของจีนอาจกลับมาดำเนินได้ปกติอีกครั้งในช่วงของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงปลายปีครับ
นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ
หลังจากที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นมาได้พักใหญ่ และอัตราการจ้างงานที่กลับเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น จนปัจจุบันนั้นอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ต่ำกว่า 5% ไปแล้ว และ GDP นับตั้งแต่ไตรมาส 1 เป็นต้นมาก็เป็นไปตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มองไว้ แม้จะยังมีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวในหลายภาคส่วนของธุรกิจ เช่น ภาคการบริการหรือภาคการท่องเที่ยวก็ตาม
แต่ความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่บนนโยบายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกัน (MBS) โดยรวมแล้วเป็นมูลค่ามากถึงเดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่ราวๆ 0.25% ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะผ่อนเครื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ลดความร้อนแรงลง และลดปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะต้องค่อยๆ ลดการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายในแต่ละเดือนลง นั่นก็คือลดการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่นเดียวกับการต้องเตรียมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกต่างหากด้วย
นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นเรื่องต้องติดตาม
ในบทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ถึง 3 ครั้งเลยทีเดียว โดยจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และนั่นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะอยู่ที่ราว 1% ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากธนาคารกลางในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา รวมถึงไทยด้วย
ถ้าหากยังใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำอยู่ ก็จะมีสิทธิ์ที่เม็ดเงินอาจไหลออกจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า คล้ายกับกรณีนี้ในช่วงปี 2013-14 ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นของประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาตกลงนั่นเอง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเอง อาจเป็นจุดตัดสินใจที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกสักพัก นั่นจะแปลว่าจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา ที่จะไม่โดนดึงเม็ดเงินกลับไปยังสหรัฐอเมริกา
สำหรับ 4 ปัจจัยที่ได้กล่าวไปนั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างมากในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งในกรณีที่ดีสุดคือสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ดื้อวัคซีน อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วยครับ แต่ถ้าหากเป็นกรณีแย่สุดก็อาจทำให้เศรษฐกิจกลับมาถอยหลังอีกรอบ
จากการคาดการณ์ล่าสุดของ JPMorgan เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปี 2022 จะโตที่ 4.5% เศรษฐกิจจีนโตที่ 4.7% มาเลเซีย 9.6% อินโดนีเซีย 4.9% ฟิลิปปินส์ 12.8% และไทยที่ 3.6%
นักเขียน
วัฒนพงศ์ จัยวัฒน์
นักเขียนผู้สนใจในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุน ความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยในโลกธุรกิจ
โฆษณา