15 ธ.ค. 2021 เวลา 00:46 • ความคิดเห็น
หลายครั้งที่เรามักจะพูดคุยกับเพื่อนโดยการตักเตือนด้วยความหวังดี แต่หลายๆ ครั้งเพื่อนของเราก็ไม่เข้าใจ หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราควรจะวางตัวอย่างไร...
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักคำสอนไว้ว่า “วาจาสุภาษิต” ได้แก่ คำพูดที่ดีต้องประกอบด้วยองค์ 5
1.พูดเรื่องจริง
2.พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์
3.พูดด้วยถ้อยคำสุภาพ
4.พูดด้วยจิตเมตตา
5.พูดถูกกาลเทศะ
หลักสำคัญในการพูด ได้แก่ เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริงและเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง ที่สำคัญคือพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่พูดกดใจผู้ฟังให้ต่ำลง
 
โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนนั้นต้องการความภาคภูมิใจในตนเอง พอมีใครมาพูดกับเราให้รู้สึกต้อยต่ำ เราย่อมไม่ชอบใจ แล้วเกิดอาการต่อต้าน เห็นได้ชัดในกรณีผู้ใหญ่กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กับลูก หรือหัวหน้ากับลูกน้องก็ตาม ถ้าผู้พูดเป็นผู้ใหญ่กว่า
หรือมีอำนาจมากกว่า ไปพูดออกคำสั่ง ต่อว่าเด็กหรือผู้น้อย เด็กหรือลูกน้องอาจจะไม่กล้าเถียง แต่ในใจเขาย่อมเกิดการต่อต้าน รับฟังไปอย่างนั้น แต่อาจจะไม่ทำเพราะต่อต้าน เหมือนแก้วที่ปิดฝา เราเทน้ำลงไปเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม
เพราะฉะนั้น การพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ คือ พูดไม่ให้กระทบกระเทือนอีโก้ของผู้ฟัง พูดโดยมุ่งไปยังประโยชน์ ให้ผู้ฟังเข้าใจและรับรู้ถึงความหวังดีของเรา ยินดีรับฟัง แล้วนำไปปรับใช้จนเกิดประโยชน์
บางเรื่องเราเพียงพูดสะกิดใจเขานิดเดียวก็เพียงพอแล้ว พูดสะกิดพอให้เขาได้ฉุกคิด พูดเพียงต้องการให้เขารู้ถึงผลดีผลเสียในสิ่งที่เขาทำ พูดพอแค่กระตุ้นให้เขานึกได้เท่านั้น อีกทั้งเราควรพูดให้ถูกจังหวะเวลา คือ พูดในเวลาที่เหมาะสม พูดในเวลาที่สภาพใจของผู้ฟังพร้อมรับฟัง
ส่วนการพูดด้วยจิตเมตตานั้น เป็นการพูดสื่อสารด้วยความรู้สึกที่มีเมตตาจิตจากใจจริง คือ ใจเราเองประกอบด้วยเมตตา พูดออกไปด้วยความหวังดี ไม่ใช่พูดแสดงความคิดเห็นแบบขาดความอ่อนโยน พูดประชดประชันถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของอีกฝ่าย พูดกึ่งสะใจ อย่างนี้ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก
เราควรมีใจเมตตาหวังดีกับผู้ฟังจริงๆ มีความละเมียดละไมในการกลั่นกรองคำพูด คำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้ฟัง แล้วสื่อสารด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม สุภาพ พูดให้ใจผู้ฟังยกสูงขึ้น พูดอย่างหวังผลให้ผู้ฟังได้สะกิดใจ แล้วปรับปรุงตัว ได้รู้ถึงจุดบกพร่องของตนเองในจังหวะเวลาที่เหมาะสมตามกาลเทศะ หากเราพูดด้วยปัจจัยทั้ง 5 ข้อ ผลดีย่อมเกิดขึ้นต่อผู้รับฟังและผู้พูดอย่างแน่นอน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนเราจะมีความเจริญก้าวหน้าได้ ต้องเป็นคนว่าง่าย” คนเรานั้นไม่มีใครไม่เคยทำผิดพลาด ตั้งแต่เด็กจนกระโต ทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย ดังนั้น ทุกคนย่อมมีโอกาสทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น
โบราณกล่าวไว้ว่า “คนยิ่งเติบโต ยิ่งหาคนตักเตือนได้ยาก” ลูกๆ มีพ่อแม่คอยตักเตือน เด็กๆ พอโตขึ้นหน่อยก็มีครูบาอาจารย์คอยตักเตือน แต่พอเราอายุมากขึ้น มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งได้เป็นหัวหน้าคน ได้เป็นเจ้าคนนายคน จะมีใครสักกี่คนที่กล้ามาตักเตือนเรา ลูกน้องไม่กล้าตักเตือนเพราะกลัวเจ้านายโกรธ ขึ้นสู่สภาวะหอคอยงาช้าง จึงเกิดโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้สูงมาก
ดังนั้น “จงมองผู้ชี้โทษ ประดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์” คนฉลาดจะเห็นคนที่เข้ามาเตือนตน หรือชี้ข้อบกพร่องของตนเองประหนึ่งผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ควรกล่าวขอบคุณเขาอย่างจริงใจ ไม่ถือโทษโกรธเขา ถึงแม้เขายังไม่สมบูรณ์ครบด้วยวาจาสุภาษิต 5 ก็ตาม
บางทีเขาอาจจะพูดเตือนเราด้วยถ้อยคำไม่สุภาพนัก หรือเขากล่าวตักเตือนเราถูกต้องแค่บางส่วนก็ตาม ก็ต้องกล่าวขอบคุณเขา การที่เรารับฟังเขานั้นมีแต่ได้อย่างเดียวไม่มีเสีย ไม่กระทบกระเทือนอีโก้เรา กิเลสเรา ทิฐิมานะเรา ที่จะกระทกระเทือนนั้นมีแต่ความจริง
ถึงแม้มีคนมาพูดตักเตือนเราถูกต้องตามความจริงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม ถึงเขาพูดเกินความจริงไปบ้าง เราก็ได้ประโยชน์ ส่วนที่เขาเกินเลยไป เราไม่จำเป็นต้องสวนกลับ หรือจดจำให้เกิดทุกข์ เพราะมันไม่จริง
ถ้าเราปฏิบัติตนเป็นผู้ฟังที่ดี ต่อไปหากเรามีข้อบกพร่องอะไร เขาก็อยากจะตักเตือนเราอีก ให้เราพยายามมุ่งไปที่ข้อบกพร่องของตนเองจริงๆ เพื่อนำไป
ปรับปรุงแก้ไขให้ตนเองสมบูรณ์ขึ้น
เจริญพร
โฆษณา