15 ธ.ค. 2021 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
การอ่อนน้อมถ่อมตน: หนทางแห่งการประสบความสำเร็จ?
ต่อกันตอนที่ 2 ที่จะมาพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า Humility Paradox
.
Humility เป็นภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน humus ที่แปลว่าดิน ซึ่งเชื่อมกับตำนานการเกิดของมนุษย์ตามคัมภีร์พันธสัญญาของศาสนาคริสต์ว่า พระเจ้าปั้นอดัมขึ้นมาจากดินในสวนอีเดน Humility ก็คือการถ่อมตัวเหมือนกันว่า เราไม่ต่างกับดิน เพราะเกิดมาจากดิน ก็กลับไปสู่ดินได้นั่นเอง
.
เราอาจจะเคยมองกันว่า ผุ้นำที่ดี คือผู้นำที่คนเคารพความสามารถความสำเร็จของเขา ซึ่งปกติแล้วเรามักจะทราบเรื่องของผู้นำที่ประสบความสำเร็จผ่านสื่อต่างๆ และการที่คนบูชาคนเหล่านี้ ยิ่งทำให้สิ่งที่เขาทำประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในสังคมที่ชื่นชมการโปรโมตตัวเองอย่างในสังคมของประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างที่ดีก็คงหนีไม่พ้นคนอย่างคุณ Elon Musk ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ว่า เขาจะทำอะไร ก็จะประสบความสำเร็จไปหมด แม้กระทั่งการลงทุนในเหรียญ cryptocurrency
.
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงแล้ว ผู้นำที่ประสบความสำเร็จกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้นำที่ดี และนำพาองค์กรฝ่าวิกฤต เจริญรุ่งเรือง และมีนวัตกรรมมากมายนั้น จากผลการศึกษากลับมักเป็นคนที่มีความถ่อมตัว ซึ่งทำให้หลายคนฉงนกับมัน จนบางครั้งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Humility Paradox หรือความย้อนแย้งของการอ่อนน้อมถ่อมตนนั่นเอง
.
หากถามว่า ทำไมถึงเป็นนั่น หากวิเคราะห์กันดี ๆ กลับเป็นเพราะสาเหตุหลายประการที่พอฟังแล้วกลับไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
.
- ผู้นำที่ถ่อมตนมักเปิดโอกาสให้กับผู้ตามในการเสนอความคิด
ผู้นำที่ดีถ่อมตัวจะพร้อมที่จะเปิดเผยจุดอ่อน (vulnerability) ของตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากกว่า และความคิดจากหลากหลายคนนี่แหล่ะ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความหลากหลาย และสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ และมีส่วนทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
ส่วนผู้นำที่โอ้อวดมักเป็นผู้ครอบครอง (dominate) การสนทนา/การประชุม สร้างวัฒนธรรมให้เกิดความเกรงกลัวผู้นำ จนทำให้คนอื่นไม่กล้าเสนอความคิด และตัดสินใจอะไร
1
.
- ผู้นำที่ถ่อมตัวมักจะระแวงอยู่เสมอ
ผู้นำที่รู้ตัวเองดีว่าตัวเอง และองค์กรมีจุดอ่อน ก็จะคอยระแวงระมัดระวังอยู่เสมอ เวลาเกิดปัญหา ก็จะรีบแก้ไข แต่ผู้นำที่คิดว่าตัวเองสุดยอด ไม่มีจุดอ่อน จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครทำอะไรตัวเองได้ เลยไม่ทำอะไร ตัวอย่างที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น Andrew Grove อดีตประธานบริษัท Intel เจ้าของหนังสือ Only the paranoid survive
.
- ผู้นำที่ถ่อมตัวพร้อมที่จะพัฒนาเสมอ
ผู้นำที่รู้ตัวว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ จะมีความคิดที่จะพัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอ ทำจุดแข็งของตัวเองให้ดีขึ้น และพยายามแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง ส่วนผู้นำที่โอ้อวดตัวเองจนเคยชิน กลับโอ้อวดจนคิดว่าตัวเองเก่ง จึงหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง และในที่สุดตัวเองก็จะมีชื่อเสียงเกินความสามารถจริงไปมากมาย ความสามารถที่เหลืออยู่จึงเป็นเหมือนลมที่พยายามทำให้ลูกโป่งโป่งอยู่ได้ ทั้ง ๆ ที่ข้างในนั้นว่างเปล่า
.
- ผู้นำที่ถ่อมตัวพร้อมที่จะจ้างคนที่เก่งกว่าตัวเอง
ผู้นำหลายคนที่รู้ตัวเองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่เพรียบพร้อม จะเป็นผู้ที่หาแม่ทัพคู่ใจมาช่วยทำงาน คงไม่ต่างกับ เล่าปี่ ในนิยายสามก๊กซึ่งมีจุดอ่อนเต็มไปหมด แต่กลับแสวงหาคนเก่ง ๆ มาร่วมงาน แม้กระทั่งอัจฉริยะแห่งยุคอย่าง ขงเบ้ง ยังยินดีมาร่วมงานด้วย
.
ส่วนคนที่โอ้อวด มักจะโอ้อวด จนนึกว่าตัวเองสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ให้เครดิตผู้ร่วมงาน ในที่สุดก็จะหาคนเก่งมาทำงานด้วยไม่ได้ คนเก่งที่มีอยู่ก็จะหลีกหนีหายไป
.
- ผู้นำที่ดีจะชื่นชนความล้มเหลว แทนที่จะแอบซ่อนมัน
1
แน่นอนที่สุด ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมชาติ และปกติแล้ว เรามักจะผิดมากกว่าถูก ผู้นำที่รู้จักถ่อมตัวนั้น จะเรียนรู้ที่จะเอาความล้มเหลวมาเป็นบทเรียน มาวิเคราะห์สาเหตุ และหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
.
แต่ผู้นำที่โอ้อวดจนเคยชินจะกลัวความล้มเหลว จนไม่กล้าจะทำอะไรที่อาจจะล้มเหลว หากเกิดความล้มเหลว ก็จะหาวิธีกลบซ่อนความล้มเหลว และพยายามลืมเรื่องเหล่านั้น จนไม่ได้ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว อีกทั้งบางครั้งการพยายามซ่อนความล้มเหลว กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
1
.
วันนี้คุณถ่อมตัวเองบ้างหรือยังครับ (แต่อย่า humblebrag นะครับ)
ภาพจาก https://qaspire.com/2020/07/22/leadership-from-arrogance-to-humility/
โฆษณา