15 ธ.ค. 2021 เวลา 05:00 • สุขภาพ
งานศึกษาในสหรัฐฯ เผย วัคซีนโควิดอาจไม่สามารถรับมือเชื้อโอไมครอนได้ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
2
วานนี้ (14 ธันวาคม) จากรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดต่อเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธ์ุสายพันธุ์โอไมครอนพบว่า วัคซีน 3 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Moderna, Pfizer-BioNTech และ Johnson & Johnson อาจไม่สามารถรับมือเชื้อโอไมครอนได้ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่จะสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กลับมามีประสิทธิภาพได้มากขึ้นอีกครั้ง
การศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Massachusetts General Hospital (MGH), Harvard และ MIT ที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ Peer reviewed เผยว่า จากการตรวจตัวอย่างเลือดของผู้มีประวัติเข้ารับวัคซีนโควิดแต่ละชนิด ทั้ง 3 ชนิดครบโดสพบว่า วัคซีน 2 เข็มจาก Moderna, Pfizer-BioNTech และวัคซีนเพียง 1 เข็มจาก Johnson & Johnson อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันรับมือเชื้อโอไมครอน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเลือดของกลุ่มผู้ที่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shot) กลับมีแนวโน้มที่ระดับภูมิคุ้มกันจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
3
นอกจากนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังระบุอีกว่า เชื้อโอไมครอนมีแนวโน้มที่จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจสามารถติดต่อกันได้เร็วกว่าเชื้อเดลตาถึง 2 เท่า ซึ่งเชื้อโอไมครอนอาจกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดแทนที่เชื้อเดลตาในอนาคตอันใกล้
1
สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยอื่นๆ เช่น งานวิจัยของ University of Oxford ที่พบว่า วัคซีน 2 เข็มของ Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca อาจไม่เพียงพอในการสร้างระดับภูมิคุ้มกันรับมือเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ ขณะที่ Pfizer-BioNTech เองก็ออกมาเผยว่า วัคซีน 2 เข็มมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อรับมือเชื้อโอไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รู้จัก Omicron โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล
- WHO ประกาศให้ ‘โอไมครอน’ เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธ์ุ เป็นสายพันธ์ุระดับที่น่ากังวลตัวใหม่
- A Pandemic of the Unvaccinated คืออะไร ทำไมผู้ติดเชื้อในยุโรปถึงพุ่งอีกครั้ง
- เทียบประสิทธิภาพยาเม็ดรักษาโควิดของ Merck vs. Pfizer
เรื่อง: ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
ภาพ: Marc Bruxelle / Shutterstock
1
อ้างอิง:
โฆษณา