20 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม “ทฤษฎีการประมูล” ถึงมีความสำคัญต่อสังคม?
ภาพจำของการประมูลในความคิดของหลายท่าน คงจะเป็นภาพของงานที่เต็มไปด้วยผู้คนนั่งเรียงรายอยู่ด้านล่าง เมื่อมองไปด้านหน้า ก็จะพบเข้ากับเวทีที่มีบุคคลทำหน้าที่เป็น “ผู้ประมูล”
เมื่อสินค้าถูกส่งออกมาแสดง ต่างคนก็ต่างแข่งกันเสนอราคา เมื่อไม่มีผู้ใดเสนอราคาที่สูงกว่าเดิมแล้ว หลังสิ้นเสียงกล่าวนับ “1..2..3” ผู้ประมูลตีค้อนจบ สินค้าก็จะตกไปอยู่กับคนที่เสนอราคาสูงที่สุด
การประมูลแบบที่กล่าวข้างต้น ที่คนส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ถูกเรียกว่า “การประมูลแบบอังกฤษ (English Auction)”
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีรูปแบบการประมูลแบบอื่นอีกมากมาย ที่ถูกนำมาใช้กับสินค้าอย่างหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ เมล็ดกาแฟ ดอกทิวลิป งานศิลป์ ไปจนถึง สัมปทานเครือข่ายมือถือ
ซึ่งเพื่อที่จะให้สินค้าแต่ละชิ้น ตกไปอยู่ในมือของ “คนที่ให้คุณค่ากับมันสูงที่สุด”
การศึกษาเรื่องการประมูลก็เลยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเสมอมา
📌 การประมูลพื้นฐาน 4 รูปแบบ
เมื่อพูดถึงเรื่องการประมูล เราอาจจะแบ่งรูปแบบพื้นฐานของการประมูลที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกเป็น 4 แบบ คือ
1. English Auction เป็นรูปแบบการประมูลที่ค่อยๆ เพิ่มราคาทีละนิด จนกว่าจะไม่มีคนสู้ราคาแล้ว โดยราคาที่เสนอแต่ละครั้ง ก็จะถูกประกาศให้ผู้เข้าร่วมประมูลทุกคนได้ทราบด้วย (ซึ่งรูปแบบนี้ก็คือรูปแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย อย่างที่กล่าวไปตอนต้น)
2. Dutch Auction เป็นรูปแบบการประมูลที่คล้ายกับ English Auction ทว่าการปรับราคาจะเริ่มจากราคาที่สูงที่สุดก่อน โดยผู้ขายจะเป็นคนกำหนดไว้ แล้วก็จะค่อยๆ ลดราคาลงมาทีละนิด โดยผู้ที่ชนะการประมูล ก็คือ คนแรกที่ยอมรับและบอกให้หยุดการลดของราคา
การประมูลในสองข้อแรกเรียกว่าเป็น “การประมูลแบบเปิด” เพราะทุกคนทราบว่า คนอื่นเสนอราคาเท่าใด
แต่ในข้อ 3 และ ข้อ 4 ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไป จะเป็น “การประมูลในรูปแบบปิด” ก็คือ แต่ละคนจะไม่รู้ว่าคนอื่นเสนอราคาเท่าใด ในไทย อาจจะเรียกการเสนอราคาแบบนี้ว่า “การใส่ซองปิดผนึก” ที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยสองรูปแบบ คือ
3. First Price Auction ที่เป็นการประมูลที่คนที่ใส่ซองราคาสูงที่สุด จะต้องจ่ายราคาสินค้าเท่ากับ “ราคาที่ตัวเองเสนอ หรือก็คือ ราคาที่ถูกเสนอเป็นลำดับที่หนึ่ง”
และ
2
4. Second Price Auction ที่เป็นการประมูลที่คนที่ใส่ซองราคาสูงที่สุด จะต้องจ่ายราคาสินค้าเท่ากับ “ราคาของคนที่เสนอสูงรองลงมา หรือก็คือ ราคาที่ถูกเสนอเป็นลำดับที่สอง”
1
คราวนี้ เราย้อนกลับไปที่เป้าหมายของการจัดประมูลจริงๆ ก่อน เป้าหมายสูงสุดของการจัดประมูลก็คือ “การให้สินค้าหรือของที่นำมาประมูล ตกไปอยู่กับคนที่ให้คุณค่ากับมันสูงสุด”
(อันนี้เป็นเป้าหมายคร่าวๆ บางครั้งการประมูลอาจจะมีเป้าหมายเพื่อการจัดสรรทรัพยากร หรือหาผู้บริการที่ดีที่สุด หรือ สร้างประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด ก็ได้ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อน)
หรือก็คือ คนจัดการประมูลอยากให้ทุกคนที่เข้าร่วมการประมูลเสนอราคาที่สูงที่สุด ที่ตัวเองยินยอมจะจ่าย ซึ่งทั้ง 4 วิธีข้างต้น ตอนแรกก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ อย่างไรก็ดี การศึกษาในยุคต่อมา แสดงให้เห็นว่าทั้ง 4 วิธี สร้างแรงจูงใจให้คนเสนอราคาไม่เท่ากัน
📌 คำสาปของ “ผู้ชนะ” และการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เคยรู้
อ้างถึงการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสองท่าน คือ พอล อาร์. มิลกรอม (Paul R. Milgrom) และ โรเบิร์ต บี. วิลสัน (Robert B. Wilson) พวกเขาได้สร้างแบบจำลอง ที่ทำการจัดลำดับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการประมูล (ราคาที่คนเข้าประมูลจะยอมจ่าย) ของการประมูลทั้ง 4 แบบพื้นฐานไว้ โดยเรียงลำดับดังนี้
English Auction > Second Price Auction > First Price Auction = Dutch Auction (ตรงตามที่ท่านผู้อ่านคิดหรือเปล่าครับ?)
โดยเหตุผลสำคัญสองประการที่สร้างความแตกต่างของผลตอบแทนขึ้น ก็คือ เรื่องคำสาปของผู้ชนะ และ การรับรู้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้ ซึ่งเราจะอธิบายผ่านการเปรียบเทียบรูปแบบการประมูล
เริ่มจาก เรื่องคำสาปของผู้ชนะ โดยเราจะใช้ตัวอย่างการประมูลแบบ First Price Auction และ Second Price Auction
การประมูลทั้งสองแบบนี้ แตกต่างกันตรงที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ชนะการประมูลต้องจ่าย ซึ่งถ้าดูกันแบบผิวเผิน การประมูลแบบ First Price Auction ก็ควรจะทำให้ผู้จัดประมูลได้เงินมากกว่าจริงไหมครับ?
แต่เรื่องจริงกลับไม่ใช่ โดยเมื่อเรามองผ่านเลนส์ของทฤษฎีเกม เราจะเห็นว่า แท้จริงแล้วคนที่ชนะการประมูลมักจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีที่สุด ซึ่งการมองโลกในแง่ดีก็ทำให้ เขาอาจจะจ่ายราคาที่สูงเกินกว่ามูลค่าจริงๆ ของมันไป
อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจ “ทำไมคนอื่นถึงให้ราคาของสิ่งนี้ต่ำอย่างนี้ได้?” “เราพลาดอะไรไปหรือเปล่า?”
ทำให้ทั้งๆ ที่เป็นผู้ชนะ ก็อาจจะเหมือนเป็นผู้แพ้อยู่ดี เราจึงเรียกสิ่งนี้ว่า “คำสาปของผู้ชนะ”
ทำให้สุดท้าย การประมูลแบบ First Price Auction ผู้คนจะระแวดระวังในการเสนอราคา และก็จ่ายน้อยกว่าที่พวกเขาคิดจริงๆ
แต่ในการประมูลแบบ Second Price Auction นั้น ต่อให้เราประเมินราคาแบบดีเกินจริงไปบ้าง สุดท้ายก็เหมือนจะมีการตรวจสอบข้อมูลของเรา ผ่านการประเมินราคาของคนอันดับสองอีกที จึงทำให้เรายินยอมจะเสนอราคาสูงที่สุดที่เราจะยอมจ่าย และทำให้การคาดการณ์ของผลตอบแทนของผู้ขายจากการประมูลแบบ Second Price Auction สูงกว่า
ส่วนในปัจจัยที่สอง ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่เราไม่รู้ เราจะเล่าผ่าน การเปรียบเทียบระหว่าง English Auction กับ Second Price Auction
เราเล่าเรื่องของ Second Price Auction ไปพอสังเขปแล้ว คราวนี้ลองจินตนาการการประมูลแบบ English Auction ครับ ถ้าเราแข่งขันสู้ราคากับคนอื่นในงานประมูลไปเรื่อยๆ แล้วเราเป็นผู้ชนะ จริงๆ แล้ว ราคาที่เราชนะ ก็คือ ราคาของคนอันดับสองที่บวกเพิ่มนิดหน่อยจริงไหมครับ
อันที่จริง ก่อนหน้าการศึกษานี้ ทางทฤษฎีบอกว่า ผลตอบแทนคาดการณ์ของ English Auction ไม่แตกต่างจาก Second Price Auction ด้วยซ้ำ
แต่ในงานศึกษานี้ เขาได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ในการประมูลแบบ English Auction ทำให้ผู้เข้าร่วมการประมูลได้เห็นการส่งสัญญาณ (Signals) จากผู้ประมูลคนอื่น ซึ่งมันจะทำให้พวกเขาตอบสนองแบบรุนแรงมากขึ้น จึงทำให้ผลตอบแทนของ English Auction สูงกว่า
(ขอเล่าถึง Dutch Auction เล็กน้อย เนื่องจากราคาค่อยๆ ลดทีละน้อย ทำให้การประมูลแบบนี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมกับผู้ร่วมประมูล นอกจากนี้ คนก็ยังกลัวคำสาปผู้ชนะเหมือนเดิม ทำให้ผลตอบแทนคาดการณ์เท่ากับ First Price Auction)
📌 การประมูลของหลายอย่างพร้อมๆ กัน
ความซับซ้อนของการประมูลยังไม่จบแค่นั้นครับ ในหลายครั้ง การประมูลมันจะมีความเกี่ยวข้องกับการประมูลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือ กำลังจะเกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การประมูลสัมปทานเครือข่ายมือถือ
ลองนึกภาพตาม เมื่อการประมูลเครือข่ายวันนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่า เราจะได้รับสัมปทานหรือเปล่า เราก็อาจจะไม่อยากที่จะจ่ายเงินเต็มที่สูงสุด ตามที่เราพร้อมจะจ่าย รอไปประมูลครั้งหน้าดีกว่า
หรือแม้แต่เรารู้ว่า ถ้าจ่ายราคาเต็มราคาของเรา จะได้สัมปทานคลื่นนี้อย่างแน่นอน เราก็อาจจะไม่อยากจ่ายอยู่ดี เพราะว่า มันจะทำให้ราคานี้ไปกำหนดเป็นราคาของการประมูลครั้งต่อไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้มันมีราคาถูก ดังนั้นในการประมูลครั้งนี้ เราก็จะไม่จ่ายเต็มจำนวนที่พร้อมจ่าย
อย่างไรก็ดี การออกแบบการประมูล ก็เหมือนกับการสร้างเมืองที่เหมาะสม ถ้าสภาพแวดล้อมดี ก็สร้างแรงจูงใจที่ดีในการใช้ชีวิตได้
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งสองอย่าง มิลกรอม และ วิลสัน ก็เล็งเห็นเหมือนกัน เลยได้มีความพยายามออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการประมูลแบบนี้
และก็สำเร็จออกมาเป็น Simultaneous Multiple Round Auction (SMRA) หรือ การจัดประมูลสิ่งของทั้งหมดพร้อมกันหลายรอบ
อย่างที่เกริ่นไป ปัญหาของสิ่งของที่เกี่ยวข้องกัน คือ คนต้องคำนึงถึงอดีตหรืออนาคตว่า ประมูลได้หรือไม่ได้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาเราก็จัดให้มีการประมูลสิ่งของพวกนี้ทั้งหมดพร้อมกันไปเลย
นอกจากนั้น พวกเขายังเพิ่มกลไก การให้ข้อมูลที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนแบบที่ English Auction ทำ ผ่าน “การประมูลหลายรอบ” ซึ่งก็คือ ในแต่ละรอบ เขาให้ทุกคนเขียนราคาที่ตัวเองพร้อมจ่ายของสินค้าทุกชิ้น หลังจากนั้นก็เปิดเผยราคาของทุกคน
และก็จะปล่อยให้ทุกคนกลับไปคิดใหม่ โดยมีข้อมูลการประเมินราคาของผู้เล่นทุกคนแล้ว ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงรอบที่ไม่มีคนเสนอราคาใหม่แล้ว
ซึ่งการออกแบบการประมูลแบบนี้ ได้ช่วยทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะ ผู้เล่นแต่ละคน ก็จะได้เลือกสินค้าชิ้นที่เหมาะกับตัวเองที่สุด โดยเห็นถึงข้อมูลการประเมินราคาของคนอื่นด้วย ทำให้พร้อมที่จะจ่ายราคาที่เหมาะสมนั่นเอง
1
ทฤษฎีการประมูล ถือเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถนำมาปฏิบัติจริงได้ดีที่สุดทฤษฎีหนึ่ง แล้วก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับภาครัฐ และใช้ในการจัดสรรทรัพยากร
ซึ่งตำแหน่งของผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็มีความพิเศษไม่น้อย เมื่อเทียบกับวิศวกรทั่วไปที่สามารถออกแบบตึกได้ เศรษฐกรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ออกแบบกลไกแรงจูงใจทางตลาดได้เหมือนกัน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา