22 ธ.ค. 2021 เวลา 03:31 • การเมือง
การบริจาคสะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐ แล้วบริจาคอย่างไรให้ได้ประโยชน์และไม่สร้างปัญหาในระยะยาว
ไม่กี่วันที่ผ่านมา พี่ตูน บอดี้สแลม ออกมาชวนวิ่งอีกครั้งในโครงการ "ก้าวเพื่อน้องปีที่ 2 เวอร์ชวลรัน 109 คำขอบพระคุณ"
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 ก็มีโครงการ "ก้าวคนละก้าว" วิ่งจาก เบตงไปแม่สาย ระยะทางกว่า 2,000 กม. ครั้งนั้นได้รับการตอบรับอย่างมากมาย ผู้คนร่วมกันบริจาคกว่า 1,300 ล้านบาท
ภาพจาก https://www.naewna.com/local/317737
แต่ครั้งนี้กระแสด้านลบกลับมีมากกว่า โดยเฉพาะในโลกโซเชียล คอมเมนต์ส่วนใหญ่ไปในทางไม่เห็นด้วย ส่วนในทวิตเตอร์เอง #พี่ตูนวิ่งทำไม ก็ติดเทรนด์อันดับ2 เลยทีเดียว
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Henning Wehn สแตนอัพคอมเมเดี้ยนชาวเยอรมัน ที่ว่า "งานการกุศลเป็นเพียงความล้มเหลวจากงานที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ"
คำพูดนี้แพร่หลายในโลกออนไลน์และมักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อเกิดประเด็นที่เกี่ยวข้องในสังคมขณะนั้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีการบริจาคในระดับสูง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
Henning Wehn ภาพจาก https://twitter.com/a_nitak/status/1319054083563597828
ต้องเข้าใจกันก่อนว่าการบริจาคหรือให้การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่รู้หรือไม่ในระยะยาวมันสร้างปัญหาตามมามากกว่าที่คุณคิด
มาว่ากันที่ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยกันก่อน ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือปัญหาสาธารณสุขในประเทศยูกันดา เมื่อรัฐขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร NGO จึงเข้าไปช่วย
อาสาสมัครของ NGO ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าของรัฐบาลแถมยังผ่านการอบรมและมีความชำนาญมากกว่า เมื่อเข้ามาช่วยการเข้าถึงบริการสาธารณสุขควรจะดีขึ้นใช่ไหมครับ
ภาพจาก https://www.aidsmap.com/news/aug-2021/fast-track-drug-refills-prove-most-common-hiv-service-adaptation-uganda
แต่ความเป็นจริงกลับลดลง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ
  • 1.
    พื้นที่ไหน NGO เข้าไปอาสาสมัครของรัฐจะถอนตัว ส่วนที่ยังอยู่ก็ขาดแรงจูงใจ ทำงานเช้าชามเย็นชาม
  • 2.
    ถึงเป็นอาสาสมัครแต่ NGO ก็ต้องใช้เงินและมีเป้าหมายที่ต้องทำ บางครั้งจึงอาจมีการระดมทุนและให้บริการคนที่ยากจนน้อยกว่ารัฐด้วยซ้ำ
  • 3.
    งานของ NGO มักเป็นโครงการ หมายความว่ามันมีวันสิ้นสุดและสุดท้ายก็ต้องถอนตัว ปล่อยให้อาสาสมัครของรัฐที่ไม่เรียนรู้และเฉื่อยชาทำงานต่อ
การบริจาคและงานการกุศลจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนและมีระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน สิ่งนี้จึงเป็นเหมือนการยื้อเวลาและทำเป็นตัวอย่างให้รัฐได้เรียนรู้ เมื่ออาสาสมัครไปแล้ว รัฐควรเข้ามาบริหารจัดการเองและพยายามแก้ไขในเชิงโครงสร้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ภาพจาก https://www.statnews.com/2020/03/28/community-health-workers-lead-covid-19-fight-uganda/
แต่ความจริงแล้ว รัฐมักไม่เรียนรู้ แต่กลับเฉยเมยและคาดหวังว่าจะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยต่อไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำหลายโครงการรัฐเองยังให้การสนับสนุน โปรโมทและถือเป็นความดีความชอบของตัวเองก็มี
แล้วควรสนับสนุนการบริจาคและงานการกุศลหรือไม่
กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ผมคิดว่าควรให้การสนับสนุนครับ เพราะบางครั้งเป็นเหตุการณ์ที่วิกฤติจริงๆ ซึ่งรัฐบาลอาจรับมือได้ไม่ทันท่วงที เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงหนึ่งของประเทศเรา ที่มีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
แต่มันควรเป็นการทำในช่วงสั้นๆ และรัฐบาลควรเข้ามาสานต่องานเพราะเป็นหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เหล่าอาสาสมัครและผู้ที่ร่วมกันบริจาคอย่างเราๆก็ควรที่จะเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการและแก้ปัญหา
การทำงานของกลุ่มเส้นด้าย ภาพจาก https://www.thaipost.net/main/detail/110079
ในเมื่อเราจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐมาดูแลและจัดการด้านสาธารณสุขให้พวกเราอยู่แล้ว การบริจาคจึงเป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อน
แต่ปัญหาบางอย่างอาจไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล จะด้วยกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และการจะแก้ไขอาจเป็นเรื่องยาก ปัญหาลักษณะนี้ก็จำเป็นต้องมี NGO หรือการบริจาคเข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้
กลับมาที่ประเด็นของพี่ตูนที่กำลังมีโครงการวิ่งครั้งใหม่ จากครั้งที่แล้วที่ได้รับการสนับสนุนมากมาย แต่การช่วยเหลือก็เป็นเพียงเฉพาะจุด เฉพาะโรงพยาบาล
รัฐบาลก็ไม่ได้เรียนรู้หรือรู้สึกว่าเป็นความล้มเหลวของตัวเองแต่อย่างใด แต่สถานการณ์โควิดก็ทำให้พวกเราได้รู้ว่า ที่พี่ตูนทำไม่ได้ช่วยอะไรเลยในระยะยาว
จะดีกว่าไหม หากโครงการนี้จะเปลี่ยนเป็น " ก้าวเพื่อน้องปีที่ 2 เรียกร้องรัฐบาลปฏิรูปการศึกษาเพื่อเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม" ใช้เสียงของร็อคสตาร์และดาราที่ดังกว่า พูดแทนทุกคนและทำให้ผู้คนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง
1
โฆษณา