26 ธ.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
Villa Market ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หากต้องการสินค้าประเภทอาหารสด เช่น เนื้อต่าง ๆ และเครื่องดื่มคุณภาพ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ซูเปอร์มาร์เก็ตแรก ๆ ที่ตอบโจทย์สิ่งนี้โดยเฉพาะ และหลายคนนึกถึง ก็ไม่พ้น “Villa Market”
2
ด้วยสินค้าคุณภาพ ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีจากทั่วโลก และมีความหลากหลาย ให้เลือกซื้อกันแบบหนำใจ
ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็หาซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่นไม่ได้
ทำให้ Villa Market นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภค และมีเหล่าสาวกจำนวนไม่น้อยแล้ว
2
ในแง่ของผลประกอบการ Villa Market ก็ทำได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กัน
1
บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 6,305 ล้านบาท กำไร 376 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 6,388 ล้านบาท กำไร 418 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 7,455 ล้านบาท กำไร 516 ล้านบาท
1
รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 ที่หลายกิจการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจหยุดชะงัก
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Villa Market มีจำนวนเพียง 35 สาขาเท่านั้น
แต่กลับสามารถสร้างรายได้เกินกว่า 7 พันล้านบาทได้
ซึ่งหากคำนวณคร่าว ๆ เฉลี่ยแล้ว 1 สาขา สามารถเสกรายได้กว่า 17.8 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว
2
จุดเริ่มต้นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียม ที่มีอายุกว่า 47 ปี อย่าง Villa Market มีความเป็นมาแบบไหน ?
และท่ามกลางการแข่งขัน ที่มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป Villa Market ปรับตัวอย่างไร ?
จริง ๆ แล้ว Villa Market ที่พอเราเดินเข้าไปแล้ว ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจากต่างประเทศ
เป็นแบรนด์สัญชาติไทยแท้ ๆ ก่อตั้งโดยคนไทยชื่อว่า สุรพงษ์ ภูสนาคม
1
คุณสุรพงษ์ เดิมทีเป็นลูกเจ้าของร้านขายของชำเล็ก ๆ ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เขาเคยทำงานในร้านขายของ ในฐานทัพทหารสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ สมัยสงครามเวียดนาม
1
ในยุคนั้นเป็นยุคที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบติดแอร์ในไทยยังไม่ค่อยมี
และคุณสุรพงษ์ สังเกตเห็นว่า ประเทศไทยเริ่มมีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดตลาดมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ซึ่งคนไทยก็เปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน
2
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ความต้องการแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่ในตอนนั้นแทบยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าไหน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เลย
เมื่อเห็นช่องว่างทางตลาดนี้ คุณสุรพงษ์จึงไม่รอช้า
ตัดสินใจก่อตั้ง Villa Market ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2517 โดยเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรก ที่สุขุมวิท 33
คุณสุรพงษ์ ต้องการให้ Villa Market แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่น ๆ
โดยจุดเด่นคือ เน้นจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ที่คัดสรรสินค้าคุณภาพพรีเมียมอันหลากหลาย จากทั่วทุกมุมโลก เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์, ผักสด, ผลไม้, นม, ชีส, กลุ่มสินค้าสุขภาพ ฯลฯ
เพื่อเจาะตลาดบนที่เป็น Niche Market เพราะมองว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ยอมจ่ายสูงขึ้น เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
4
ซึ่งประมาณ 70-80% ของสินค้าที่วางจำหน่ายใน Villa Market เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร
และมีการเลือกสรรสินค้าหายากเข้ามาจำหน่าย ทำให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ช็อปปิงที่พิเศษ ซึ่งอาจหาไม่ได้จากที่อื่น
1
ในช่วงแรก ๆ นั้น คุณสุรพงษ์ มีหลักคิดในการดำเนินธุรกิจคือ
“มองลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว มากกว่ามองลูกค้าเป็นธุรกิจ”
1
โดยสินค้าทุกอย่างที่นำเข้ามาขาย คุณสุรพงษ์ ต้องลองใช้และชิมก่อน
ถ้าสินค้าตัวไหนที่เขาไม่ทาน และไม่ให้ลูกทาน เขาก็จะไม่นำเข้ามาขายให้ลูกค้า
พร้อมกับเน้นสร้างความเป็นกันเองและบริการที่ดี ระหว่างพนักงานกับลูกค้า
รวมถึงจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อทำให้ Villa Market มีบรรยากาศแบบจุดนัดพบของชุมชน มากกว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นขายเพียงแค่สินค้าอย่างเดียว
2
ทั้งการเลือกสรรสินค้าคุณภาพ ที่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า และการให้บริการที่ดี
ทำให้ Villa Market สามารถค่อย ๆ เข้าไปนั่งในใจของลูกค้า จนเกิดเป็น Loyalty
และธุรกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา แม้จะต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ
1
ตอนนี้ Villa Market มีทั้งหมด 35 สาขา
แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 27 สาขา
ซึ่งเน้นตั้งในย่านชุมชนที่มีกำลังซื้อ ทั้งในรูปแบบ Stand Alone และใน Community Mall และศูนย์การค้า
4
ในต่างจังหวัด 8 สาขา ซึ่งเน้นหัวเมืองหลักและพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พัทยา, หัวหิน, ภูเก็ต, อุดรธานี
1
ปัจจุบัน Villa Market ถูกส่งต่อและบริหารโดยทายาทรุ่น 2 อย่างคุณพิศิษฐ์ ภูสนาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด ซึ่งเขาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT อีกด้วย
ภายใต้การนำของคุณพิศิษฐ์ เขามองว่าหากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
ในโลกที่การแข่งขันรุนแรง และพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
1
บริษัทและบุคลากร ต้องกล้าก้าวออกจาก Comfort Zone ไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ
กล้าที่จะทำ Digital Transformation ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
1
เพื่อให้ Villa Market สามารถเข้าใจลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งคุณพิศิษฐ์ ก็ได้ดึงเอาจุดแข็งของการเป็นองค์กรที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นธุรกิจครอบครัว ที่มีลำดับชั้นในการทำงานไม่ซับซ้อนเหมือนองค์กรขนาดใหญ่
มาใช้สร้างความได้เปรียบและประโยชน์ให้มากที่สุด ในเรื่องความคล่องตัว เพื่อปรับองค์กรให้ไวและทันสมัย ตามกระแสตลาดอยู่เสมอ
ตัวอย่างการปรับตัวของ Villa Market ในช่วงที่ผ่านมา ก็อย่างเช่น
ไปจับมือกับ SCB พัฒนาแอปพลิเคชัน “Villa Market VPlus”
แอปพลิเคชันที่ให้ลูกค้าเติมเงินเข้า e-Wallet สำหรับใช้ชำระค่าสินค้าผ่าน QR Code สอดคล้องกับสังคมไร้เงินสด
ช่วยค้นหาสาขาของ Villa Market ที่อยู่ใกล้ ๆ, รับข่าวสารโปรโมชัน
และสะสมคะแนน (Loyalty Point) เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สะสมไมล์การบินไทย
รวมถึงเปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง ที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจาก Villa Market ผ่านออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการส่งสินค้าถึงบ้าน
ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีสาขาของ Villa Market ไปตั้งอยู่
อีกทั้งเป็นการช่วยให้เข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบความสะดวก และชินกับการสั่งของผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
ทิศทางธุรกิจของ Villa Market ในปัจจุบัน คือการพยายามผสานช่องทางออนไลน์ (Digital) และออฟไลน์ (Physical) ให้เชื่อมกันอย่างราบรื่นและกลมกลืน
เพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิงที่ไร้รอยต่อ (Seamless Shopping Experience)
รวมถึงนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้ในธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำ Big Data โดยนำข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า ทั้งผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ, แอปพลิเคชัน Villa Market VPlus และช่องทางอื่น ๆ
มาวิเคราะห์และสร้างสรรค์เป็นแคมเปญการตลาด, โปรโมชันต่าง ๆ, Loyalty Program
หรือทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) เพื่อพิชิตใจลูกค้า นั่นเอง
สรุปแล้ว จุดเริ่มต้นของ Villa Market เกิดจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด ที่ยังไม่มีใครเข้าไปเติมเต็ม หรือทำได้ยังไม่ดีพอ
ส่วนเส้นทางการเติบโตของ Villa Market ก็มาจากส่วนผสมของการสร้าง “จุดต่าง” ในตลาด และมอบบริการที่ดี เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจทุกครั้งที่มาใช้บริการ จนเกิดเป็นสาวกของแบรนด์
รวมถึงกล้าที่จะ “ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง” เพื่อคว้าโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
และมอบคุณค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้า ผ่านสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์ยุคสมัย..
โฆษณา