28 ธ.ค. 2021 เวลา 23:00 • หนังสือ
6 ความเชื่อผิด ๆ ในชีวิตประจำวันที่แม้แต่คุณก็ไม่รู้ตัว!
สรุปข้อคิดหลังอ่านหนังสือ
'The Invisible Gorilla ทำไมสิ่งที่คุณน่าจะมองเห็น สมองกลับสั่งให้คุณมองไม่เห็น'
หนังสือ The Invisible Gorilla
1. เราคิดไปเองว่าเราทำ multi-tasking ได้
การทดลองกอริลลาอันโด่งดังของ Christopher Chabris และ Daniel Simons แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีกอริลลาเดินตัดหน้าคุณไป คุณก็มองไม่เห็นอยู่ดี! ถ้าคุณกำลังเพ่งความสนใจไปกับสิ่งอื่นอยู่
เมื่อคุณให้ความสนใจกับการทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งอยู่ คุณจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้สิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
ในทำนองเดียวกัน การถูกรบกวนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้คุณทำภารกิจแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น การที่คุณมั่นใจว่าคุณสามารถขับรถไปด้วยคุยโทรศัพท์ไปด้วยได้โดยปลอดภัยจึงเป็นความเชื่อที่ผิด แม้ว่าวันนี้จะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปลอดภัยแบบนี้อยู่ทุกวัน
2. ความทรงจำของเราไม่ได้ดีขนาดนั้น
ถ้าให้นึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ สักเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต เรามักจะนึกภาพออกมาได้เป็นฉาก ๆ จำได้แม้กระทั่งใครยืนอยู่ตรงไหน กำลังทำอะไรอยู่ พูดว่าอะไร
เหตุการณ์สำคัญที่หนังสือพูดถึงก็คือ ‘เหตุวินาศกรรม 911’
หลายคนบอกได้ว่าวันที่เกิดเหตุ ใครอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร แต่พอเอาคำบอกเล่าจากหลาย ๆ คนมาต่อกัน กลับพบว่าแทบจะไม่สอดคล้องกัน เช่น นาย A บอกว่าอยู่กับนาย B แต่นาย B บอกว่าตอนนั้นนาย A ไม่อยู่
เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำของเราจะถูกปรุงแต่งได้ง่าย ๆ แม้แต่เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเรายังบอกว่าจำได้
รู้อย่างนี้แล้วคงต้องทบทวนความทรงจำของเราอีกทีก่อนที่จะมั่นใจจนเกินไป และเมื่อมั่นใจจนเกินไปก็จะทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ อันต่อมา
3. มั่นใจมากไม่ได้แปลว่าจะถูก
และโชคร้ายที่เรามักจะเชื่อถือคนที่มีความมั่นใจมาก ๆ เสียด้วย
ในหนังสือได้ยกตัวอย่างคดีข่มขืนหนึ่ง ซึ่งผู้เสียหายมั่นใจมากว่าคน ๆ หนึ่งเป็นคนร้าย แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่เพราะผู้เสียหายบอกว่าจำหน้าคนร้ายได้และมั่นใจมาก ผู้พิพากษาจึงตัดสินให้คนร้ายตัวปลอมได้รับโทษไป
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งคงจะดีกว่านี้หากเราเอาชนะความเชื่อผิด ๆ เรื่องความมั่นใจของเราได้ และหันมาใช้เหตุผลกันมากขึ้น จะได้ไม่ต้องมีผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องซวยทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร
4. เราคิดไปเองว่าเรารู้ลึกรู้จริง
มีการสำรวจหนึ่งซึ่งไปถามผู้คนว่า คิดว่าตัวเองเข้าใจหลักการทำงานของจักรยานแค่ไหนจาก 0-7 คะแนน โดยที่ 0 คือ ‘ไม่รู้อะไรเลย’ และ 7 คือ ‘เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง’ คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 แสดงให้เห็นว่าผู้คนคิดว่าตัวเองค่อนข้างเข้าใจหลักการทำงานของจักรยาน
แต่พอให้คนหล่านั้นเล่นเกม ‘เจ้าหนูทำไม’ พวกเขากลับตอบได้เพียง 1-2 ขั้นเท่านั้น
เกมเจ้าหนูทำไมคือการถามว่าทำไมต่อไปเรื่อย ๆ เช่น ถ้าถามว่าทำไมการถีบคันเหยียบถึงทำให้ล้อหมุน เมื่อได้คำตอบก็จะถาม ทำไมล่ะ? ทำไมล่ะ? ต่อไปเรื่อย ๆ
แม้ว่าจะเป็นวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จักรยาน ผู้คนส่วนใหญ่ก็ประเมินความรู้ของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงอยู่ดี
ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า เรื่องบางเรื่อง จริง ๆ แล้วเราอาจจะรู้เพียงแค่เสี้ยวเดียวของที่เราคิดว่ารู้เท่านั้นก็เป็นได้
5. บางทีมันก็เป็นแค่เรื่องบังเอิญ
หลายปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหนึ่งคนบอกว่ารู้สึกปวดเป็นพิเศษในวันที่ฝนตก เมื่อเขาเอาเรื่องนี้ไปบอกกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ คนอื่น ๆ ก็พากันบอกในทำนองว่า ’เอ้อ จริงด้วย เพิ่งสังเกตเลยนะเนี่ย’
1
ผลของปากต่อปากในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเชื่อเป็นวงกว้างว่าโรคข้ออักเสบมีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในเวลาต่อมาบอกว่าโรคข้ออักเสบกับสภาพอากาศไม่มีความสัมพันธ์กัน
แล้วเกิดอะไรขึ้นในตอนแรกล่ะ?
ความจริงก็คือพวกเขาเจ็บข้อทุกวันนั่นแหละ เพียงแต่พอมีเหตุการณ์อย่างฝนตกเข้ามา คนหนึ่งคนบังเอิญสังเกตถึงความเจ็บปวดในวันนั้นพอดีเลยบอกต่อว่าเขาเจ็บข้อในวันที่ฝนตก และคนอื่น ๆ ก็ทำแบบนี้ต่อไปเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้ให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ในวงกว้าง
มนุษย์เราเชี่ยวชาญเรื่องการหาเหตุผลเหลือเกิน แต่อย่างว่าล่ะครับ ยังไงเราก็ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลอยู่ดี เรื่องบางเรื่องมันก็เป็นแค่เรื่องบังเอิญแต่เราก็หาสาเหตุ (ที่ไม่มีอยู่จริง) ให้มันจนได้
6. เราไม่สามารถพัฒนาสมองได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน
หลายปีมาแล้วมีการเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับ ‘ปรากฏการณ์โมสาร์ท หรือ Mozart Effect’ ซึ่งต่อมาก็ถูกคัดค้านแล้วว่าปรากฏการณ์นี้ไม่มีอยู่จริง
ที่มาของปรากฏการณ์นี้คือ นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มทดลองออกเป็นสามกลุ่มโดยจะให้แต่ละกลุ่มทำแบบทดสอบวัดไอคิวหลังจากนั่งรอในห้อง 30 นาที แต่จะมีกลุ่มหนึ่งได้นั่งฟังเพลงของโมสาร์ทไปด้วย ผลการทดลองออกมาว่ากลุ่มที่ได้ฟังเพลงของโมสาร์ทมีผลการทดสอบที่ดีกว่า!
แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น เพราะหลังจากทดลองซ้ำหลาย ๆ ครั้ง กลับไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองอย่างมีนัยสำคัญ
ถึงอย่างนั้น ความเชื่อทำนองนี้ก็ฝังหัวพวกเราจนถึงทุกวันนี้อยู่ดี
บางครั้งเราก็คิดไปเองว่าการทำอะไรแปลก ๆ อย่างเช่นการฟังเพลงโมสาร์ทจะช่วยให้เราฉลาดขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ลองคิดดูดี ๆ เถอะว่า เราะจะสามารถฉลาดขึ้นได้ด้วยการฟังเพลงไม่กี่นาทีจริง ๆ หรือ?
วิธีดึงศักยภาพของสมองออกมามีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ‘การฝึกฝนอยู่เสมอ’
สำหรับใครที่ยังไม่เคยชมคลิปการทดลองกอริลลาของผู้เขียน ผมขอแนะนำให้ไปดูเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ
โฆษณา