29 ธ.ค. 2021 เวลา 10:00 • อาหาร
กินให้ครบสูตรกับของกินปีใหม่
ผ่านพ้นวันคริสต์มาสมา ลำดับถัดไปก็เป็นการเข้าสู่ปีใหม่ ในวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ เรามาดูกันว่าประเทศในแถบเอเชีย เขาทานอาหารอะไรกันบ้างในเทศกาลนี้และจะกินให้ครบสูตรเต็มไปด้วยความโชคดีได้อย่างไร?
ขอบคุณภาพประกอบจาก littlemandarinclasses
เริ่มต้นก็ประเทศที่เราบอกว่าใช่อื่นไกลก็พี่น้องกันคือประเทศจีน เมื่อถึงวันปีใหม่ของชาวจีน อาหารที่ใช้เฉลิมฉลองวันปีใหม่นอกจากหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เป็นอาหารเฉลิมฉลองโดยทั่วไปแล้ว ก็ยังมีอาหารอยู่อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องรับประทานในวันปีใหม่ก็คือ “เกี๊ยว”
เหตุที่ “เกี๊ยว” เป็นอาหารวันปีใหม่ของชาวจีนก็เพราะ “เกี๊ยว” มีรูปร่างคล้ายเงินตำลึงจีนโบราณ เพราะฉะนั้นการรับประทานเกี๊ยวในวันปีใหม่เหมือนกับได้รับเงินรับทอง จะมั่งมีศรีสุขตลอดไป
นอกจากนี้ คำว่า “เกี๊ยว” ในภาษาจีนเรียกว่า 饺子 (jiǎo zi) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า 交子 (jiāo zi) คำว่า 交 (Jiāo) แปลว่า แลกเปลี่ยน ส่วนคำ 子 (zi) หมายถึง เวลาเที่ยงคืน เมื่อนำคำทั้ง 2 ผสมกันก็หมายถึง ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของปีเก่าและปีใหม่ จึงมีผู้นิยมทำเกี๊ยวและรับประทานกันในช่วงเวลาดังกล่าวการส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่
พูดถึงคำว่า “เกี๊ยว” 饺子 (jiǎo zi) นั้นไม่ใช่เกี๊ยว 雲吞 (wonton) ที่เรารู้จักกันดีอย่างในบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงนะครับ จะว่าไปแล้ว เกี๊ยว-wonton เป็นสาขาย่อยสาขาหนึ่งของเกี๊ยว-jiǎo zi แตกต่างกันตรงที่แป้งที่ใช้ห่อ wonton จะมีความหนากว่าแป้งที่ใช้ห่อเกี๊ยว-wontonและตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในขณะที่แป้งที่ใช้ห่อเกี๊ยว- jiǎo zi จะเป็นรูปยาวแบบพระจันทร์เสี้ยว พูดง่าย ๆ ก็เหมือนกับเกี๊ยวซ่าของญี่ปุ่นนั่นแหละครับ
นอกจากนี้ ไส้ที่ห่อของเกี๊ยว-wonton ก็เป็นเพียงหมูหรือกุ้ง ในขณะที่ไส้ของเกี๊ยว-jiǎo zi จะมีความหลากหลายกว่า ซึ่งต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า “เกี๊ยว” ก็หมายถึงเกี๊ยว-jiǎo zi นะครับ
เกี๊ยวนั้นตามปกติก็ประกอบด้วยเนื้อสับและผักห่อเข้าด้วยกัน เนื้อสับนั้นก็มีหลากหลายเช่น หมูสับ กุ้งสด ปลา ไก่สับ เนื้อวัว ผักที่ใส่เข้าไปก็เป็นพวกผักกาดขาว กะหล่ำปลี แล้วก็ต้นหอม ส่วนวิธีการปรุงนั้นก็มีได้หลายวิธีเช่น ต้ม นึ่ง ทอด และอบ
เมื่อปี 2556 ที่ร้านเกี๊ยว Qingfeng ทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง มีชายคนหนึ่งเดินเข้าไปเข้าคิวที่เคาน์เตอร์สั่งอาหาร ผู้ที่ได้พบเห็นต่างพากันประหลาดใจเพราะชายคนดังกล่าวคือนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไปแบบง่าย ๆ ไม่เอิกเกริก มีผู้คุ้มกันเพียง 2 คน เขาสั่งเกี๊ยวไส้หมูสับและต้นหอมนึ่ง 6 อัน ต้มตับหมู 1 ที่และใบมัสตาร์ด 1 จาน และถือถาดไปรับประทานอย่างเงียบ ๆ แบบชาวบ้านทั่วไป ประธานาธิบดีสีจ่ายเงินค่าอาหารไป 21 หยวน(ประมาณ 110 บาท)
การไปกินเกี๊ยวของท่านประธานาธิบดีสี ทำให้ผู้คนอยากจะลิ้มลองเกี๊ยวเหมือนท่าน ผู้คนต่างแห่ไปร้านเกี๊ยว Qingfeng และสั่งอาหารเมนูเหมือนกับท่าน มีคนต่อคิวที่ร้านเกี๊ยวนับร้อยคนเป็นเวลาหลายชั่วโมง
มีเคล็ดอย่างหนึ่งของการทำเกี๊ยวในวันปีใหม่คือ เขาจะใส่เงินเหรียญ 1 อันไว้ในไส้ของเกี๊ยวนั้นด้วย ใครที่เวลาทานแล้วเจอเกี๊ยวอันที่มีเหรียญก็จะถือว่าโชคดี ความมั่งคั่งร่ำรวยจะตามมา
การใส่เหรียญซ่อนไว้ในอาหารนี้ พวกฝรั่งก็จะมีเหมือนกัน พระราชินี Victoria และเจ้าชาย Albert พระสวามีเป็นผู้ส่งเสริมให้มี Christmas pudding เป็นของประจำโต๊ะดินเนอร์ในวันคริสต์มาส และยังมีการใส่สตางค์ที่เป็นเหรียญเงินเข้าไปไว้ในขนม pudding ด้วย ใครที่ทานขนมแล้วเจอเหรียญเงินนี้ก็จะถือว่าจะโชคดีในปีใหม่ที่กำลังมาถึง ไม่รู้ว่าระหว่างจีนกับฝรั่ง ใครลอกใคร
ไปอ่านเรื่อง Christmas pudding ได้ที่
ขอบคุณภาพประกอบจาก pickledplum
ส่วนคนญี่ปุ่นนั้นจะทานบะหมี่โซบะ(soba)กันในโอกาสขึ้นปีใหม่ แต่จะทานกันในวันสิ้นปี และถ้าใครไปกินเอาตอนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคมก็จะถือว่าโชคไม่ดีแทน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
บะหมี่นี้มีชื่อว่า Toshikoshi Soba แปลตรงตัวได้ว่า “บะหมี่ข้ามปีใหม่” เหตุที่บะหมี่กลายเป็นอาหารในการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น เพราะเส้นบะหมี่มีความเหนียวนุ่ม และเรียงต่อกันเป็นเส้นยาว จึงถือกันว่า เป็นความต่อเนื่องกันจากปีเก่าสู่ปีใหม่ การที่บะหมี่มีความเหนียวนุ่มตัดขาดจากกันได้ก็เท่ากับว่า เป็นการตัดทุกข์โศกโรคร้าย สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปกับปีเก่า และเริ่มต้นปีใหม่ที่สดใสแทน
บะหมี่ Toshikoshi ทำจากแป้งสาลี buckwheat ส่วนจะใส่เครื่องอะไรก็ตามอัธยาศัย โดยมากมักจะใส่
กุ้ง เพราะตัวกุ้งเป็นรูปโค้ง ถือเป็นเคล็ดว่าผู้ที่ได้ทานจะมีอายุยืนจนหลังโกง
ปลาเฮอริ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมีบุตรมาก
ฮือก้วยญี่ปุ่นหรือ Kamaboko ที่เราเห็นเป็นสีขาว ๆ แล้วมีขอบสีชมพู เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า
เต้าหู้ทอด เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีมีเงินทอง มีตำนานว่าเต้าหู้ทอดเป็นของชอบของเทพเจ้าสุนัขจิ้งจอกซึ่งมีนามกรว่า “อินาริ”(Inari) ซึ่งเป็นเทพเจ้าของความอุดมสมบูรณ์หรือความรุ่งเรืองทางธุรกิจ
บะหมี่ Toshikoshi นี้ห้ามรับประทานเมื่อพ้นปีเก่าไปแล้ว คือต้องทานกันก่อนที่จะถึงเที่ยงคืนของวันสิ้นปีเก่าเท่านั้น ถ้าขึ้นวันปีใหม่แล้วห้ามทานเด็ดขาด แต่ก็มีบางท้องที่ที่ทานกันในวันขึ้นปีใหม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปก็คือต้องรับประทานก่อนวันปีใหม่
ขอบคุณภาพประกอบจาก mykoreankitchen
การรับประทานบะหมี่ Toshikoshi จะทานเป็นบะหมี่ร้อนมีน้ำซุป หรือบะหมี่เย็นไม่มีกติกาอันใด แต่ที่นิยมกันก็จะเป็นบะหมี่ร้อนในน้ำซุป เพราะในวันส่งท้ายปีเก่าซึ่งอยู่ในฤดูหนาว การได้ทานน้ำซุปร้อน ๆ ก็จะช่วยแก้หนาวได้เป็นอย่างดี
ข้ามไปประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ กับญี่ปุ่นคือ เกาหลี ธรรมเนียมก็จะกลับกันคือ ในวันปีใหม่ คนเกาหลีเขาต้องกิน Tteokguk
Tteokguk (떡국) อ่านว่า “ต๊อกกุก” (ถ้าออกเสียงผิด ท่านผู้ที่รู้ภาษาเกาหลีช่วยกรุณาบอกด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่ง) หมายถึงซุปแป้งข้าวเจ้าที่คนเกาหลีรับประทานกันในวันปีใหม่
ส่วนผสมหลักของซุปนี้แผ่นแป้งข้าวเจ้า โดยเอาข้าวเจ้ามานวดเป็นแป้งยาว ๆ รี ๆ คล้ายกับฮื่อก้วย เวลาจะรับประทานก็หั่นออกเป็นชิ้นบาง ๆ เหมือนกัน นำไปต้มกับน้ำซุปร้อน ๆ ส่วนผสมอย่างอื่นก็แล้วแต่ชอบ จะเป็นเนื้อสัตว์อะไรก็ได้แต่ที่นิยมกันจะเป็นเนื้อวัว ใครจะเติมไข่ไก่เข้าไปอีกฟองก็ไม่ได้ผิดกติกาอันใด
Tteokguk จะรับประทานกันในตอนเช้าของวันปีใหม่ เป็นอาหารประเพณีที่กินกันมายาวนาน เหตุผลที่รับประทาน Tteokguk กันในวันปีใหม่ก็เพราะแผ่นแป้งมีสีขาวและมีรูปร่างยาวจึงเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์และการมีอายุยืนยาว เป็นการเริ่มปีใหม่ด้วยความเป็นมงคล
ตามปกติเมื่อขึ้นปีใหม่แล้วคนเราก็จะมีอายุเพิ่มขึ้น 1 ปี แต่ชาวเกาหลีจะถือว่าอายุยังไม่เพิ่มขึ้นจนกว่าจะได้รับประทาน Tteokguk
หรือแม้แต่การถามอายุของคน แทนที่จะถามว่าอายุเท่าไหร่? คนเกาหลีก็อาจจะถามว่า กิน Tteokguk มากี่ชามแล้ว? แทน
Tteokguk สมัยใหม่อาจจะมีการใส่ดอกไม้ลงไปเพิ่มสีสันรวมทั้งใส่สมุนไพรบางอย่างลงไปเพื่อประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพ ถ้าใครไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำซุป Tteokguk รับประทานเอง ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีก็จะมีซุป Tteokguk สำเร็จรูปวางขายอยู่เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ละชาติแต่ละภาษา ต่างมีวัฒนธรรมของการกินอาหารในวันสิ้นปี-วันปีใหม่ที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นอาหารที่เป็นมงคลทั้งสิ้น Gourmet Story เลยขอเสนอแผนการกินที่เป็นมงคลนี้ เริ่มด้วยการทานบะหมี่ Toshikoshi ในวันที่ 31 พอถึงวันที่ 1 ตอนเช้าก็ทานซุป Tteokguk พอกลางวันก็ไปทานเกี๊ยว-jiǎo zi ได้ครบทั้ง 3 อย่างนี้ก็จะเป็นสิริมงคลทำให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ร่ำรวยเงินทองและสุขกายสบายใจในปีใหม่ที่จะถึงนี้แน่นอน
สวัสดีปีใหม่ Healthy & Happiness ครับ!!!!
เรื่องตอนที่แล้ว “Tom Yum Pizza - พิซซ่าไทยใน Google Doodles”
อ่านได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา