30 ธ.ค. 2021 เวลา 01:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเกี่ยวกับความรักคือ ประสบการณ์ในวัยเด็กที่เกี่ยวกับการผูกพันธ์นั้นเป็นพื้นฐานให้กับบุคลิกภาพของความรักเมื่อโตขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยนั้นมีมากมายแต่การเลี้ยงดูในวัยนี้ก็ยังคงความโดดเด่นไว้ถึงแม้จะผ่านมาหลายปี
.
อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นตามนี้ บุคลิกภาพและความคิดสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้หากเจอกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนนั้น ๆ ครับ เช่นในวัยเด็กเราอาจจะเป็นคนที่กลัวความสัมพันธ์จนกระทั่งได้เจอคนที่ดีคนหนึ่งที่ได้พยายามอย่างที่สุดเพื่อให้เรานั้นกล้าเปิดใจและมั่นคงต่อเรา สิ่งนี้ก็ทำให้เราเปลี่ยนจากความกลัวไปเป็นความมั่นคงได้
หรือหากเราเป็นคนที่มั่นคง แต่กลับถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็อาจกลายเป็นคนที่กลัวความสัมพันธ์ก็เป็นไปได้ครับ และมันสามารถมีความแตกต่างไปตามแต่ละคนอีกด้วยหรือพูดง่าย ๆ ก็คือแตกต่างไปตามแฟนแต่ละคนที่เราคบ เพราะความรักนั้นซับซ้อนสุด ๆ แต่วิทยาศาสตร์ก็พยายามที่จะเข้าใจเพื่อให้เราทุกคนได้มีความสัมพันธ์ที่ดีและเข้ากับตัวเรา
.
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของใครเลยไม่ว่าจะเป็นคู่ของเรา ตัวเรา หรือแม้แต่คนที่เลี้ยงดูเรามา ไม่อยากให้โทษใครเลยครับ แต่อยากให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจ แก้ปัญหาต่าง ๆ ไปด้วยกันและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ๆ ต่อคู่ของเราหรือครอบครัวของเราให้มีความสุขกันนะครับ (ข้อมูลมาจากหนังสือ How Psychology Work? และรูปภาพทั้งหมดจาก freepik.com)
รูปแบบความผูกพันธ์ในวัยเด็กที่ส่งผลถึงตอนโต
.
1. Secure หรือมั่นคงปลอดภัย นำไปสู่ Secure ตอนโต
ตอนเด็ก - เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูในแบบที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงสามารถตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน เช่นการสัมผัสทางกาย ความรัก ความอบอุ่นหรืออาหาร และทำให้เด็กนั้นมีความสุขที่เพียงพอ จะส่งผลให้เด็กนนั้นรู้สึกปลอภัยและมั่นคงต่อความสัมพันธ์ พูดง่าย ๆ คือหากเด็กมีครอบครัวที่อบอุ่นเด็กก็จะรู้สึกปลอดภัยต่อความสัมพันธ์รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะกับพ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อน ๆ ครับ
ตอนโต - ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยนี้ทำให้ตอนโตมีบุคลิกภาพที่มีความมั่นใจในความสัมพันธ์ พวกเขาจะรู้สึกสบายใจกับความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่สามารถให้อิสระต่อกัน เชื่อใจอีกฝ่าย ไม่เช็คโทรศัพท์ ไม่ระแวง ไม่กังวล และถึงแม้อีกฝ่ายจะแอบมีใครจนต้องเลิก พวกเขาก็สามารถเลิกได้อย่างสบายใจโดยยังมีความมั่นใจในตนเองอยู่และมีความสุขได้ในแบบที่ไม่ต้องมีอีกฝ่าย คนกลุ่มนี้มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าของตนเองสูง
ขออนุญาตนำรูปภาพเดิมจากเพจ Science Stories ของผมเอามาลงนะครับ
2. Ambivalent หรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ นำไปสู่ Anxious-Preoccupied
ตอนเด็ก Ambivalent - เมื่อเด็กคนนั้นได้รับการเลี้ยงดูในรูปที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง การตอบสนองขั้นพื้นฐานที่ไม่สม่ำเสมอ กอดบ้างไม่กอดบ้าง บางครั้งพูดดีแต่บางครั้งก็ดุด่า บางครั้งใส่ใจและส่วนใหญ่ก็ละเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ เกิดความวิตกังวล ไม่ปลอดภัย หรือไม่พอใจได้
.
ตอนโต Anxious-Preoccupied - การตอบสนองแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ นำไปสู่ความกลัวการปฎิเสธนั่นทำให้คนกลุ่มนี้มักจะยึดติดอยู่ตลอดเวลา หรือพูดง่าย ๆ คือพวกเขานั้นไม่ต้องการที่จะห่างจากคู่ของตนเลยแม้แต่สักวินาทีเดียว อยากจะอยู่เธอตลอด อยากจะสัมผัสใกล้ชิดทั้งทางกายและใจ พวกเขาอาจจะถามบ่อย ๆ วันละหลายครั้งว่า รักไหม? คิดถึงไหม? เพราะการตอบสนองที่ไม่สม่ำเสมอในวัยเด็ก จึงมีความต้องการที่สม่ำเสมอในตอนโตแทน
ขออนุญาตนำรูปภาพเดิมจากเพจ Science Stories ของผมเอามาลงนะครับ
3. Avoidant หรือหลีกเลี่ยงในตอนเด็ก นำไปสู่ Dismissive-Avoidant ในตอนโต
ตอนเด็ก Avoidant - คล้าย ๆ กับครึ่ง ๆ กลาง ๆ เมื่อคนเลี้ยงหรือพ่อแม่นั้นให้ความเย็นชาต่อเด็ก หรือดุด่าเด็กเมื่อเด็กร้องขอ ทำตัวห่างเหินกับเด็ก พวกเด็ก ๆ หลายคนจึงตอบสนองด้วยความเย็นชาเช่นกัน พวกเขาจะหลีกเลี่ยงจากแสดงออกทางอารมณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเย็นชาหรือดุด่าต่อพวกเขาพฤติกรรมนี้จะกลายเป็นการหลีกเลี่ยงการพบปะ ไม่อยากพบเห็นต่อพ่อแม่ของพวกเขา
.
ตอนโต Dismissive-Avoidant - เมื่อโตขึ้น เด็ก ๆ จะพยายามออกห่างจากคนรอบตัว หลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ทำตัวเย็นชาและไม่แสดงออกทางอามรณ์ใด ๆ เมื่อมีแฟนก็เช่นกัน เขามักจะไม่พูดสิ่งที่รู้สึกหรือใส่ใจ เมื่อทะเลาะกันเขาจะแสดงออกว่าไม่แคร์ เพราะการถูกเลี้ยงดูมาอย่างเย็นชาเลยชาเย็นต่อทุกคน(เย็นชาครับ มุขบาทสองบาทก็เอา) “อ้าวนี่เธอกำลังงอนเหรอ?” “แล้วไง ไม่ง้อนะ”
ขออนุญาตนำรูปภาพเดิมจากเพจ Science Stories ของผมเอามาลงนะครับ
4. Disorganized หรือสับสนไม่เป็นระเบียบในตอนเด็กนำไปสู่ Fearful-Avoidant ในตอนโต
ตอนเด็ก Disorganized - พฤติกรรมและการตอบสนองที่คาดเดาไม่ได้ เด็ก ๆ จะเกิดความสับสนต่อการเลี้ยงดูและเกิดความเครียดอยู่ตลอดว่า หากเราทำสิ่งนี้เราจะโดนด่าไหม? แต่เมื่อวานก็ไม่โดนแต่วันก่อนโดน แล้ววันนี้จะโดนไหม แต่เราต้องการนี่นา ประมาณนี้ครับ เด็ก ๆ เมื่อเครียด พวกเขาก็จะกลัวเมื่อกลัวแล้วพวกเขาจะหมดความมั่นใจในตนเองจึงนำไปสู่ Fearful ในตอนโต
ตอนโต Fearful-Avoidant - เมื่อถูกเลี้ยงดูในแบบคาดเดาพฤติกรรมของพ่อแม่ไม่ได้ โตมาพวกเขาก็จะมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่คาดเดาไม่ได้เช่นกัน แต่ที่แน่ ๆ พวกเขาจะกลัวต่อความสัมพันธ์ บางคนอาจไม่กล้ามีแต่บางคนอาจมีและกลัวที่จะเสียความสัมพันธ์ไป พูดง่าย ๆ คือกลุ่ม Fearful-Avoidant คือจะปฎิเสธแบบไม่เอาเลย ไม่ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม กลัวว่าความสัมพันธ์นั้นจะทำร้ายเราเพราะมันคาดเดาไม่ได้เลย กลัวที่จะเจ็บปวด
ขออนุญาตนำรูปภาพเดิมจากเพจ Science Stories ของผมเอามาลงนะครับ
ทีนี้เมื่อเรามาดูตัวอย่างของการจับคู่ระหว่างบุคลิกภาพเหล่านี้กันครับซึ่งทางหนังสือได้ให้ตัวอย่างไว้ซึ่งผมขออนุญาตให้สัญลักษณ์แทนกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้นะครับคือ A แทนกลุ่ม Secure และ B แทนกลุ่มที่เหลือนะครับ
Secure กับ Secure หรือ A กับ A
เมื่อทั้งคู่เป็นแบบ Secure หรือมั่นคงปลอดภัย พวกเขาต่างให้อิสระต่อกันและกัน เชื่อใจกัน ต่างรู้สึกสบายใจที่จะแชร์ แบ่งปัน พูดคุยเกี่ยวความคิดความรู้สึกหรือแม้แต่พูดคุยถึงปัญหา สิ่งที่ชอบไม่ชอบในตัวของอีกฝ่ายได้ แน่นอนว่านี่คือการจับคู่ความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบที่สุด
Secure และ บคุลิกภาพกลุ่มอื่น ๆ หรือ A กับ B
ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มมั่นคงปลอดภัย อีกฝ่ายคือหลีกเลี่ยง คนที่อยู่ในรูปแบบ Secure จะคอยช่วยเหลือซัพพอร์ตอีกฝ่ายให้รู้สึกสบายใจและอบอุ่นมากขึ้น Secure จะคอยให้ความใส่ใจ ไม่รีบร้อนให้อีกฝ่ายเปิดใจ พวกเขาจะให้เวลาส่วนตัวกับอีกฝ่าย นี่ก็เป็นอีกความสัมพันธ์หนึ่งที่น่ายินดีหากเราพบว่าคู่ของเรานั้นเป็น Secure หรือพยายามที่เป็น Secure ที่เอาใจใส่เรา
.
เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่โอเคกับอะไร เราสามารถพูดคุยกับ Secure ได้อย่างสบายใจเลยนะครับ พวกเขาจะคอยรับฟัง หรือในเวลาที่เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใส่ใจเรานะครับ Secure แค่ให้เวลาเราส่วนตัว หากเราต้องการอะไรก็สามารถพูดได้เพราะพวกเขาเป็นผู้ฟังที่ดีได้ และเข้าใจได้ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ต้องการเวลาส่วนตัว พวกเขาอาจไปไหนมาคนเดียวก็อยากให้เราเข้าใจในส่วนนี้บ้าง
ขออนุญาตนำรูปภาพเดิมจากเพจ Science Stories ของผมเอามาลงนะครับ
B กับ B
เมื่อกลุ่ม B กับ B มาเจอกัน ผลลัพธ์ก็คือพวกเขามีปัญหาในแต่ละกลุ่มที่พวกเขาเป็น(ไม่ได้หมายความพวกเขาไม่ดีนะครับ) ไม่ว่าจะกลัวการปฏิเสธ เย็นชาไม่ใส่ใจความรู้สึก หรือยึดติด สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นหากแต่ละฝ่ายเลือกที่จะไม่พูดคุยทำความเข้าใจกัน พูดง่ายกว่าทำครับ ผมเข้าใจ เพราะโดยปกติแล้วการกระทำของเรานั้นหลายครั้งมักจะกระทำโดยไม่รู้ตัว และนั่นได้ทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย
.
มีงานวิจัยหนึ่งได้ให้ผลลัพธ์ไว้ว่า การขอโทษอย่างจริงใจนั้นจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ และแน่นอนว่าอย่าทำแบบเดิมซ้ำอีกนะครับ การพูดคุยกันอย่างเข้าใจโดยไม่ใช่การพยายามตำหนิอีกฝ่ายจะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นครับ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นลบและอีกฝ่ายจะเป็นลบ ทุกอย่างมีทางออกครับ
เมื่อก่อนผมเป็นกลุ่มลบครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Avoidant ซึ่งผมไม่ชอบพูดว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรหรือว่าไม่โอเคกับอะไร ได้แต่หลีกเลี่ยงโดยการยอม ยอมอีกฝ่ายทุกอย่าง ยอมขอโทษทุกอย่างครับ หรือแม้แต่การอยากเลิกเพราะมันทำให้ผมอึดอัดมาก แต่ก็ไม่กล้าพูดครับ มันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอย่างมาก ไม่มีความสุขเลย
.
แต่สุดท้ายก็เลิกมาได้และผมได้บอกกับตัวเองว่า ให้เอาตัวเองเป็นที่ตั้งก่อน ให้ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองก่อน แน่นอนครับว่ามันทำให้ผมโอเคขึ้น แต่ไม่ค่อยโอเคกับอีกฝ่าย ผมจึงปรับตัวเอง ให้เอาตัวเองตั้งไว้เหมือนเดิมครับ เพิ่มเติมคือ รวมความรู้สึกของอีกฝ่ายเข้ามาด้วยว่าการทำแบบนี้อีกฝ่ายโอเคไหม? ถ้าไม่โอเคแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นเพียงไหน ให้คุยกันอย่างเข้าใจครับ ไม่ใช่การตำหนิ การเห็นแก่ตัว หรือการคิดว่าโลกต้องหมุนรอบตัวเรา
หากเรามีความรักแล้ว เราก็อยากให้ความรักนั้นมันดี ไม่มีใครอยากมีความรักที่เป็นพิษหรอกครับ จริงไหม?
ขอให้ทุก ๆ ท่านเจอกับความรักดี ๆ ครับ
.
เพจ science stories เป็นเพจของผมเองในเฟซบุ๊คครับ
โฆษณา