3 ม.ค. 2022 เวลา 01:41 • ปรัชญา
"วิธีทำสติปัฎฐาน"
" ... พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ อดทน
ทำให้เต็มที่แล้วได้ผลแค่ไหนก็แค่นั้น
อยากได้ผลมากๆ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ทำเหตุให้มากแล้วผลมันมาเอง
ทำเหตุก็คือเจริญสติไว้ ทำสติให้มาก
ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี สมาธิที่ไม่เคยมีก็จะมี
ปัญญาที่ไม่เคยมีก็จะมีขึ้นมาได้
อาศัยสติเป็นตัวตั้งต้น คล้ายๆ เป็นเซลล์ตั้งต้น ตัวสติ
แล้วก็พัฒนาเป็นเซลล์ชนิดนั้นชนิดนี้ขึ้นมาที่ดีๆ
ฉะนั้นเราพยายามฝึก เมื่อกี้บอกแล้วการฝึกสติ
ทำได้โดยการทำสติปัฏฐาน
วิธีทำสติปัฏฐาน จะรู้กายก็ได้ รู้เวทนาก็ได้ รู้จิตก็ได้
แต่ธัมมานุปัสสนาเว้นไว้ก่อน ยากเกินไป
แต่ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา
เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
สุดท้ายมันจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนาอัตโนมัติ
ไปตรงนี้ทุกคนล่ะ จะไปเห็นอริยสัจ ลงตรงนี้
ฉะนั้นเริ่มต้นไม่ต้องไปที่ธัมมานุปัสสนาก็ได้ มันยาก
อย่างเราดูจิตเราก็จะเห็นจิตใจเรามีกิเลสบ้าง ไม่มีกิเลสบ้าง
เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
1
ถ้าดูระดับ ธัมมานุปัสสนามันละเอียดลงไปอีก
มันไม่ใช่แค่ดูจิตโลภ โกรธ หลงหรอก
มันดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันดูไปถึงตัวนิวรณ์
ตัวรากตัวเหง้าของโลภ โกรธ หลงอีกทีหนึ่ง
เป็นตัวที่ขัดขวางคุณงามความดีทั้งหลาย
แล้วจะพบว่านิวรณ์แต่ละตัวมีเหตุ
นิวรณ์แต่ละตัวมีเหตุทั้งสิ้นเลย
ทั้ง 5 ตัวก็มีเหตุต่างๆ กันไป
จะเรียนรู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้เหตุ รู้ผล
ตัวธัมมานุปัสสนาเรียนแล้วจะรู้เหตุรู้ผล
ส่วนตัวกาย เวทนา จิต
เรียนแล้วจะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา
ถนัดอันไหนเอาอันนั้น ทำอะไรไม่ได้ก็หายใจไป
ไหนๆ ก็หายใจอยู่แล้ว อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ
หายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว
หายใจเข้า อ้าวลืมไปแล้ว จิตมันหนีไปแล้วรู้ว่ามันหนี
กลับมาหายใจใหม่ไม่ว่ามัน
หายใจธรรมดาๆ เวลาหายใจก็อย่าไปบังคับให้จิตสงบ
ถ้าหายใจแล้วก็บังคับจิต
ก็ผิดธรรมชาติอีกแล้ว ผิดธรรมดาอีกแล้ว
จิตมันมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง
ไปหายใจจนมันนิ่งๆ
ไปปรุงแต่งความนิ่งความว่างขึ้นมาก็ใช้ไม่ได้
เราอยากเห็นความจริงเราก็อย่าไปดัดแปลงมัน
จะทำ อานาปานสติ เจริญสติด้วยการหายใจ
ก็หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก แล้วพอมันไม่รู้สึก
พอมันเผลอก็รู้ว่ามันเผลอ แป๊บเดียวผู้รู้มันจะเกิดเอง
จิตมันจะตั้งมั่นขึ้น แล้วก็ต่อไปเผลออีก
เผลออีกรู้อีก เผลออีกรู้อีก
ต่อไปสติมันจะไวเผลอปุ๊บรู้ปั๊บ เผลอปุ๊บรู้ปั๊บเลย
ค่อยๆ ฝึกไป
หรือบางคนไม่ชอบดูลมหายใจ ดูแล้วอึดอัด
ก็มาดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไปเรื่อย
พอขาดสติแล้วมันก็ลืมร่างกาย มันไปคิดเรื่องอื่นแล้ว
คิดเรื่องวันนี้นัดกับสาวไว้
พอร่างกายมันขยับจะโทรฯ หาเขาแล้ว
ขยับจะคว้ามือถือแล้ว ร่างกายเคลื่อน มันเคยรู้สึกตัว
ร่างกายขยับเราเคยรู้สึก มันจะรู้สึกขึ้นเอง
นี่เรียกสติเกิดแล้ว
ความหลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน
มันก็หลุดออกมาดับไป
จิตมันหลุดออกมาเป็นผู้รู้ขึ้นมาอีก
ฉะนั้นเราก็จะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ
การเจริญสติปัฏฐานคอยมีสติรู้สภาวะที่กำลังเกิดขึ้น
ให้จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่ ค่อยๆ ฝึกไป
โดยเฉพาะจิตมันหลงปุ๊บรู้ปั๊บ ตัวรู้มันเด่นดวงขึ้นมาเลย
หรือจิตมันโลภ โลภปุ๊บรู้ปั๊บก็ใช้ได้
หรือร่างกาย ร่างกายมันขยับ สติมันระลึกร่างกายขยับ
ผู้รู้ก็เด่นขึ้นมาทันทีเลย
ฉะนั้นมีสติที่ถูกต้องเมื่อไร สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดเมื่อนั้น
เกิดอัตโนมัติเลย
ฉะนั้นเวลาฝึกท่านถึงสอนเรื่องสติปัฏฐาน
เจริญสติไปแล้วสิ่งที่ได้คืออะไร
ก็จะได้สติได้สมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอัตโนมัติ
แล้วการเจริญสติปัฏฐานเมื่อทำต่อไปจะได้อะไร
จะได้ปัญญา
เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน
เราจะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา
มันเป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้
1
ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง
เราจะได้ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ปัญญา
ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเราแก่กล้าแล้ว
วิมุตติก็เกิดเอง มรรคผลมันจะเกิดเอง
ทำสมถะให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วเจริญสติปัฏฐานให้เกิดปัญญาต่อไป
ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจ แต่ละคนสังเกตตัวเอง
ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง
ที่เนื่องด้วยกายด้วยใจของเรานี้ล่ะ ไม่ต้องเอาของข้างนอก
ไม่ต้องไปนั่งดูเทียน ดูใบไม้ไหวดูอะไร
ไม่ต้องไปดูข้างนอกหรอก ดูเข้ามาที่ตัวเอง
ดูกาย ก็เช่นดูร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งอะไรอย่างนี้
หรือเห็นความเป็นธาตุของร่างกาย
ร่างกายหายใจเข้า ก็มีธาตุไหลเข้า
ร่างกายหายใจออก ก็มีธาตุไหลออก
เห็นความเป็นธาตุของมัน
กินอาหารก็เอาธาตุใส่เข้าไป
ขับถ่ายก็เอาธาตุไหลออกไป
ร่างกายก็เป็นแค่ธาตุ
คอยรู้คอยดูอย่างนี้ก็ใช้ได้
ดื่มน้ำแล้วก็ไปปัสสาวะออก
ร่างกายก็มีธาตุน้ำ มีธาตุดิน มีธาตุน้ำ มีธาตุลม
แล้วมีความร้อนเกิดขึ้นภายใน ธาตุไฟ
เวลาเจ็บป่วยบางทีตัวร้อนเชียว
บางทีเจ็บป่วยบางทีตัวเย็นเลย ธาตุไฟมันแปรปรวน
จะดูธาตุอย่างนี้ก็ได้ถ้าดูได้
แต่ของง่ายๆ คือดูร่างกายหายใจ
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง หัดดูอย่างนี้ไป
แล้วต่อไปสติ สมาธิ ปัญญา มันจะแก่รอบขึ้น
บางคนให้ดูร่างกาย จิตใจยังวอกแวก
ให้ดูกายหายใจ ถ้าใจยังวอกแวกอย่างอื่น
ให้ดูกายเคลื่อนไหวใจก็ยังวอกแวกๆ
ก็ต้องเพิ่มเติมอะไรลงไปอีกเพื่อให้ใจไม่วอกแวก
การให้ใจไม่วอกแวก คือการทำสมถกรรมฐานนั่นเอง
อย่างบางคนทำสมถกรรมฐานด้วยกาย
กำหนดจิตเลยไม่ต้องใช้มือ ใช้จิต
เราลองหลับตาแต่อย่าให้ตามันแข็ง
หลับตาให้มันสบายๆ อย่าให้ตรงนี้แข็งๆ
กำหนดจิตเหมือนมีมือลึกลับ มือเรานี่ล่ะกำหนด
มือจริงไม่ต้องเคลื่อน
ดึงผม ถอนมัน ถอนๆๆ ไป กำหนดด้วยจิต
แล้วก็ถลกหนังหัวมันหัวกะโหลก
เห็นหัวกะโหลกเอานิ้วแหย่ลงไปในลูกนัยน์ตา ฉีกมัน
ง้างขากรรไกรมันอะไรอย่างนี้
ทำไปแล้วได้อะไร ได้สมาธิ
ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็ถนัดเรื่องนี้
ท่านฉีกร่างกายท่านเป็นส่วนๆ เรียก ม้างกาย
ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญอันนี้
คือหลวงปู่หลุย จันทสาโร
ลูกศิษย์หลวงปู่หลุยก็หลวงปู่สุจินต์ สุจิณโณ นี่ล่ะ
เดิมเรียนอยู่กับหลวงปู่หลุย ค่อยมาบวชกับหลวงปู่ดูลย์ทีหลัง
ฉีกร่างกายเป็นชิ้นๆ แหวกอกตัวเอง
แหวกๆๆ จิตมันชอบคิดนักหรือ
ชอบคิดโน้นคิดนี้ให้ดูกายไม่ยอมดู
ให้นั่งคิดพิจารณากายไม่ยอม
ก็ต้องมีแอคชั่นฉีกโน้นฉีกนี้ ให้มันหยาบขึ้นไปอีก หยาบ
หักกระดูก ถอดกระดูกเป็นชิ้นๆๆ ขว้างไปทิศเหนือ ทิศใต้
ขว้างไปข้างหน้าข้างหลัง
ในที่สุดร่างกายสลายไป จิตก็สงบตั้งมั่นขึ้นมาได้
นี่ก็อุบายเป็นอุบาย
คือถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเราก็เห็นแค่กายเคลื่อนไหว ดูไป
แต่ถ้าตรงนี้เอาไม่อยู่ หรือจิตยังฟุ้งซ่านมากก็ทำสมถะ
ทำสมถะก็ทำได้เยอะแยะไป
อารมณ์อะไรก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างการม้างกาย
ฉีกร่างกายอะไรอย่างนี้ก็เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา
อุบายในการปฏิบัติมีเยอะแยะ
ถ้าเราฉลาดเราก็รู้ว่าอันไหนเหมาะสมกับตัวเอง
อย่างหลวงปู่หลุยท่านฉลาด
ท่านรู้ว่าท่านฉีกร่างกายแล้วจิตท่านสงบ
พอจิตสงบแล้วท่านก็เจริญธรรมะต่อไป
พิจารณา เจริญสติปัฏฐานให้เกิดปัญญาต่อไป
พวกเราก็ต้องทำ ตอนไหนฟุ้งซ่านมากก็ทำสมถะ
ไปดูตัวเองทำสมถะแบบไหนสงบ
แบบหวือหวาอย่างที่เล่าเมื่อกี้มันหวือหวามาก
แต่หลวงพ่อทำสมถะหายใจเข้าพุท
หายใจออกโธเดี๋ยวก็สงบแล้ว อยู่ที่เราถนัดอะไร
บางคนถนัดสวดมนต์
แต่สวดมนต์หลวงพ่อไม่แนะนำบทสวดที่ยาวๆ
บทสวดที่ยาวกว่าจะจบบท หลงไปห้าร้อยรอบแล้ว
อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง
สวดก็สวดอะไรที่สั้นๆ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” อะไรก็ได้
“พุทธะเมตตัง จิตตัง มะมะ”
สักบทหนึ่งสั้นๆ อะไรอย่างนี้ อะไรก็ได้
“เมตตา คุณัง อรหัง เมตตา”
หาสักบทหนึ่ง แล้วก็บริกรรมของเราไปเรื่อยๆ
บางคนเขาก็ชอบ “นะ มะ พะ ทะ” “นะ มะ พะ ทะ”
พวกที่ชอบ “นะ มะ พะ ทะ” ส่วนใหญ่จะชอบทางกสิณ
แล้วเล่นให้เกิดอิทธิฤทธิ์
แต่ถ้าเราไม่เอากสิณ ไม่เอาอิทธิฤทธิ์
เราเอาแค่บริกรรมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิตก็ใช้ได้
ไม่มีอะไรต่างกัน
บางคนก็บอกไม่เอา “สัมมาอรหัง”
เพราะเป็นหลักสูตรที่เราไม่ชอบ
ที่จริง “สัมมาอรหัง” เป็นคำบริกรรมเฉยๆ
อย่าไปสร้างนิมิตอะไร อย่าไปหลงนิมิต
มันก็ใช้ได้เหมือนกัน อะไรก็ได้เอาที่เราถนัด
เอาที่เราถูกใจ บริกรรมแล้วก็จิตใจสบาย
จิตใจมีความสุขอยู่กับการบริกรรม
เราก็บริกรรมของเราไป อย่างนี้เราก็ได้สมาธิแล้ว
จะฝึกให้เกิดสติทำอย่างไร
เราก็บริกรรมของเราไปนี่ล่ะ
พอจิตมันหลงลืมคำบริกรรม
มันหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน รู้ทันสภาวะที่จิตมันเคลื่อนไป
ต่อไปพอจิตมันเคลื่อนไป สติมันเกิดเอง
มันจะระลึกได้เอง อ้าว เผลอแล้ว ใช้ได้ หลงแล้วก็รู้
แต่ไม่ใช่ไปนั่งท่องอย่างนี้ หลงรู้ๆๆๆ
อันนี้หลงๆๆๆ ไม่ใช่หลงรู้หรอก
ถ้าหลงรู้ คือหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ อย่างนี้ใช้ได้
กรรมฐานอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ทันสภาวะที่กำลังมี กำลังเป็น
ตัวผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติ โกรธแล้วรู้ว่าโกรธก็เกิดตัวผู้รู้
โลภแล้วรู้ว่าโลภก็เกิดตัวผู้รู้
หลง โดยเฉพาะหลงคิด หลงคิดมันเกิดทั้งวัน
ฉะนั้นส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะสอนเรื่องหลง หลงคิด
เพราะอะไร เพราะมันเกิดทั้งวันเดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็หลง
อย่างจะเอาโกรธมาทำกรรมฐานเหรอ
นานๆ โกรธที บางคนชาตินี้ไม่เคยโกรธ
มันเป็นคนใจเย๊นใจเย็นมาแต่ไหนแต่ไร ไม่โกรธ
แล้วจะรอดูเมื่อไรจะโกรธ อย่างนี้ไม่มี ไม่มีให้ดู
ดูของที่เรามี เราขี้โลภเห็นอะไรก็อยากได้ เห็นอะไรก็อยากได้
จิตโลภขึ้นมาแล้วรู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้อย่างนี้ใช้ได้
1
อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนขี้หงุดหงิด
ใครมาพูดอะไรด้วยยาวๆ ยังรำคาญเลย
เนื้อหาเธอมีแค่นี้ พออ้าปากเราก็รู้แล้วว่าจะว่าอย่างนี้ๆ รู้จัก
รำคาญ หลวงพ่อก็ดูโทสะเกิดแล้วรู้
เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวดับ
ตรงที่ความโกรธผุดขึ้นมาเรารู้ ผู้รู้ก็เกิด
ผู้รู้มันเป็นของที่เข้าคู่กับอารมณ์
ถ้าอารมณ์นั้นเป็นรูปธรรมนามธรรมมีสภาวะรองรับ
เกิดขึ้นมาแล้วสติรู้ทัน ตัวผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติเลย
แต่ถ้าเป็นอย่างอารมณ์บัญญัติ
สมาธิที่เกิดขึ้น มันจะไม่ตั้งมั่น
เช่น เราดูไฟ จิตไหลไปอยู่ที่ไฟแล้ว
ดูอากาศ ช่องว่าง จิตก็ไหลไปในช่องว่าง
ฉะนั้นดูสภาวะ หัดดูสภาวะเรื่อยๆ
โกรธขึ้นมาแล้วรู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้
ที่มีบ่อยที่สุดคือหลงคิด … "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา