8 ม.ค. 2022 เวลา 01:37 • ไลฟ์สไตล์
โลก, ทุกข์, ความดับแห่งโลก,
มหาวิทยาลัยเพื่อความพ้นทุกข์
ความดับแห่งทุกข์ บัญญัติไว้ใน “ร่างกาย” นี้เอง
“ มหาวิทยาลัยที่สั่งสอนเรื่อง “ความสุขอันสูงสุดแท้จริง” โดยเฉพาะ มีอยู่ในโลกนี้แต่แห่งเดียว คือ พระพุทธศาสนา
หลักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งค้นคว้าเฉพาะศิลปะแห่งยอดสุขในโลกนี้ มีแต่หลักเดียว คือ หลักพุทธศาสนา
นักวิทยาศาสตร์ที่สูงสุด ก็คือ “พุทธศาสนิก” ที่ทำการทดลองด้วยเครื่องมือ กล่าวคือ ดวงจิตที่อบรมแล้วด้วยภาวนา อยู่ในห้องทดลองกล่าวคือร่างกายนี้ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในสถานที่สงัดจากสิ่งรบกวน ทั้งทางกายและทางใจ
กายนี้เป็นที่ประชุมแห่งความจริง ๔ อย่าง คือ ทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับสนิทของทุกข์, และทางให้ถึงความดับสนิทอันนั้น. คำนี้(พระผู้มีพระภาค)ตรัสไว้ใน “โรหิตัสสสูตร” อังคุตตรนิกาย, ทรงย้ำให้ผู้อยากทราบค้นเอาความจริงจากกายอันยาววาหนึ่งนี้นั่นเอง
ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโลกปัจจุบัน อาจมีการทดลองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉันใด ในร่างกายนี้ก็มีสิ่งที่ค้นคว้าไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น
…. แต่พระองค์ทรงสอนให้ค้นเพียง ๔ อย่าง คือ ทุกข์ เหตุของทุกข์ สุข และเหตุของสุข (อริยสัจ ๔) เท่านั้นเอง
…. เครื่องมือในการค้นมีเพียงอย่างเดียวคือ “มรรค” หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” อันประกอบด้วยองค์ ๘
พบแล้วก็จะทำให้ที่สุดทุกข์ หรือความพ้นทุกข์ ได้
…. จงค้นให้พบความสงบกาย สงบจิต และสงบกิเลส การค้นนี้เรียกว่า “กรรมฐาน” หรือ การปฏิบัติธรรม
…. มรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา มีองค์ ๘ เป็นแนวทางและเครื่องมือแห่งการค้นคว้า ที่จะใช้ค้นกับกายนี้. การค้นพบเพียงใด ก็คือการดำเนินก้าวหน้าแห่งใจเพียงนั้น. นั่นคือการก้าวหน้าแห่งปฏิบัติธรรมตามทางสายเดียว ที่จะนำชีวิตอันทนทุกข์ทรมานนี้ให้หลุดพ้น และลุถึงสุขอันสูงสุดได้.
…. มรรค คือทางเดินแห่งใจ ใจย่อมเดินไปด้วยการปฏิบัติ”
1
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : เรื่องยาวหัวข้อ “เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม” ฉบับต้นฉบับ “ชุมนุมเรื่องยาว” หน้า ๔๒ - ๔๓
“อริยสัจ” มีอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆนี้
…. “ ความทุกข์นั้นก็อยู่ในคน คนเป็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์อยู่ในคน ก็ได้แก่ ความโง่ของคน ความอยากของคน ความยึดมั่นของคน
…. ทีนี้ ภาวะที่จะดับทุกข์ ที่เป็นความดับทุกข์ ที่ไม่มีทุกข์ นั้น ก็ต้องอยู่ที่ตัวความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ไหนต้องดับที่นั่น ฉะนั้น จึงอยู่ในคน และคนจะต้องปฏิบัติ ฉะนั้นการปฏิบัติก็อยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่กายวาจาที่ใจของคน
…. เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ
…. ฉะนั้น เราจึงถือว่า ในร่างกายของคนเป็นๆนั้น คือ มหาวิทยาลัยของพุทธศาสนา..เรื่อง “อริยสัจ” เป็นเรื่องจริงหาที่อื่นไม่พบ นอกจากจะหาในคนที่เป็นๆ ถ้าไม่เคยฟังมาอย่างนี้ ก็จงฟังเดี๋ยวนี้ และก็พยายามคิดพิจารณา ให้เข้าใจในเรื่องที่เรียกว่า “อริยสัจ”
พุทธทาสภิกขุ
คำบรรยาย หลักพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๑๑
“ถึงที่สุดแห่งโลก” “ถึงที่สุดแห่งทุกข์” ได้ ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้เอง ( “อริยสัจ” มีอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆนี้ )
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบโรหิตัสสเทพบุตรว่า...
…. “เทพบุตร! เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลก ที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ว่า “ พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้ ” ด้วยการไป
…. และเราไม่กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
…. อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจ นี้เอง.”
ไม่ว่าในเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนออกจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า.”
ทุติยโรหิตัสสสูตร
พระไตรปิฎกภาษาไทย(มจร.)
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๖/๗๔-๗๕
พระราธะ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า...
…. “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า “ทุกข์ ทุกข์” เป็นอย่างไร?”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า...
…. “ราธะ! รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์”
ทุกขสูตร
พระไตรปิฎกภาษาไทย(มจร.)
สงฺ. ข. ๑๗/๑๗๕/๒๖๔
หมายเหตุ ( ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ )
ดังนั้น ตามพระสูตรนี้ “ทุกข์” ก็คือ ขันธ์ ๕ หรือ นามรูป นี่เอง )
# ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. #
โฆษณา