12 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
สรุป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบบเข้าใจง่าย
4
จะดีกว่าไหม ถ้ามีกองทุนบางกองทุนมาช่วยให้เราออมเงินเพื่อเกษียณได้ง่ายขึ้น โดยมีเงื่อนไขเพียงแค่ว่าเราต้องออมเงินเข้าไปก่อนบางส่วน และจะมีคนมาช่วยเราออมเงินเพิ่มให้อีก อีกทั้งเงินที่เราสะสมเข้าไปในกองทุนนี้ยังเอาไปลดหย่อนภาษีได้อีก
1
กองทุนที่กำลังพูดถึงมีชื่อว่า…กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ
1
วันนี้เลยจะมาสรุปทุกเรื่องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ฟังแบบเข้าใจง่าย
ถ้าพร้อมแล้วมาทำความเข้าใจเนื้อหาทีละรูปไปด้วยกันเลยครับ
ว่าแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร ?
จริง ๆ แล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นตัวช่วยออมเงินเพื่อเกษียณแบบหนึ่ง หลักการของมันจะให้ลูกจ้างแบ่งเงินจากเงินเดือนตัวเองมาออมทุกเดือนไปเรื่อย ๆ จนเกษียณ ซึ่งความพิเศษ คือ ลูกจ้างไม่ต้องเหนื่อยออมเงินอยู่คนเดียว แต่นายจ้างจะช่วยสมทบเงินออมเพิ่มให้ด้วย
2
และเงินก้อนที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างช่วยกันออมนี้ ก็ไม่ได้เอาไปเก็บไว้เฉย ๆ แต่จะเอาไปให้บริษัทจัดการหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ลงทุนต่อ จนเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นเงินก้อนที่ใหญ่ขึ้นให้ลูกจ้างเอาไปใช้ตอนเกษียณอายุ
ดังนั้น จะเรียกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งก็ได้ เพราะเงินส่วนนี้บริษัทจะสมทบให้เราฟรี ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่มีสวัสดิการนี้ให้แก่พนักงาน และถ้าบริษัทของคุณมีกองทุนนี้บอกเลยว่า คุณ คือ ผู้โชคดีครับ
3
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเงินสะสม
อย่างที่บอกไปว่า ลูกจ้าง คือคนที่ได้รับผลประโยชน์จากกองทุนนี้แบบเต็ม ๆ ลูกจ้างเลยต้องมีส่วนในการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองด้วย เงินส่วนนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เงินสะสม” และลูกจ้างยังมีโอกาสเลือกอีกในสองเรื่อง
1
🚩 เลือกแรก คือ เลือกได้ว่าจะให้หักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละกี่เปอร์เซ็นต์
ลูกจ้างเลือกหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน เงินส่วนนี้บริษัทจะหักออกไปก่อนที่เงินเดือนจะออกในแต่ละเดือน แปลว่าถ้าเลือกหักเยอะเงินเดือนที่เหลือมาใช้ก็จะน้อยลงตาม แต่ถ้ามองอีกมุมการออมแบบนี้ก็เหมือนเป็นการฝึกให้เรา “ออมก่อนใช้” ไปในตัว ดังนั้น ถ้าใครมีเงินเหลือใช้เพียงพอก็อยากให้เลือกหักในอัตราสูงสุด เพราะยิ่งสะสมเงินมากขึ้น เงินเกษียณปลายทางที่ได้ก็จะมากตามไปด้วย
2
🚩 เลือกสอง คือ เลือกได้ว่าจะให้เอาเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนอะไรต่อ
บอกก่อนว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่หลัง ๆ มานี้หลายที่ก็เปิดโอกาสให้เลือกได้เองมากขึ้น นโยบายการลงทุนแต่ละแบบจะมีระดับความเสี่ยงที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าไปลงทุนในสินทรัพย์อะไร สาเหตุที่ต้องมีหลายแบบ เพราะลูกจ้างแต่ละคนก็ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ต่างกัน ถ้ากำหนดนโยบายว่าลงทุนในตราสารหนี้ทั้งหมด ลูกจ้างบางคนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่า ก็อาจจะเสียโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
1
รูปแบบเงินสมทบ
1
เงินส่วนที่นายจ้างจ่ายให้จะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เงินสมทบ” ปกติแล้วรูปแบบการให้เงินสมทบจะต่างกันไปตามแต่ละบริษัท รูปแบบที่เจอจะมีอยู่สองแบบ
แบบแรก 📢 ได้เงินสมทบคงที่ตลอดอายุงาน
แบบสอง 📢 ยิ่งอายุงานมาก ยิ่งได้รับอัตราเงินสมทบมาก
จากตัวอย่างจะเห็นว่า บริษัทที่ให้เงินสมทบแบบคงที่ ไม่ว่าอายุงานเท่าไหร่ก็จะได้เงินสมทบต่อเดือนคงที่ ตรงกันข้าม บริษัทที่ให้เงินสบทบตามอายุงาน ลูกจ้างจะได้เงินสมทบมากขึ้นตามจำนวนอายุงานจนไปจบที่ 15% ของเงินเดือน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่บริษัทจะให้
สิทธิการได้เงินสมทบ
1
อธิบายง่าย ๆ สิทธิการได้เงินสมทบ คือ สิ่งที่บริษัทใช้จูงใจให้พนักงานอยู่กับบริษัทไปนาน ๆ ด้วยเงื่อนไขว่า ถ้าลาออกก่อนอายุงานที่กำหนด จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเลย หรือได้ก็ไม่เต็มจำนวน
2
ซึ่งหลังจากที่ออมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เงินจะแบ่งได้เป็น 4 ก้อน สองก้อนแรกก็คือ “เงินสะสม” และ “เงินสมทบ” ที่ลูกจ้างและนายจ้างช่วยกันใส่เข้าไป ส่วนอีกสองก้อนจะเกิดขึ้นมาหลังจากเอาเงินไปลงทุนต่อจนได้เป็น “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” และ “ผลประโยชน์ของเงินสมทบ”
ดังนั้น ถ้าวันดีคืนดีเกิดอยากลาออก เงินส่วนที่ลูกจ้างจะได้แน่ ๆ ก็คือ ส่วนที่สะสมไว้เองทั้งเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม แต่ส่วนที่นายจ้างให้ทั้งเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า อายุงานของเราครบตามเงื่อนไขรึเปล่า
1
ประโยชน์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พูดเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตั้งยาว ก่อนจบเลยอยากสรุปให้ฟังอีกรอบว่า รวม ๆ แล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้มีประโยชน์ยังไงบ้าง ?
1. ช่วยฝึกนิสัย “ออมก่อนใช้”
อยากที่บอกไปว่าเงินก้อนนี้ถูกหักออกไปก่อนที่เงินเดือนจะถึงมือเราในแต่ละเดือน จึงเหมือนเป็นการ “ออมก่อนใช้” ที่อย่างน้อยก็เป็นการบังคับให้ตัวเราออมในอัตราคงที่เท่ากันทุกเดือน ตรงกันข้าม ถ้าใช้วิธีออมแบบ “ใช้ก่อนออม” บางทีเราอาจจะใช้เงินหมดจนไม่เหลือมาออมก็ได้
2. ได้เงินสมทบจากนายจ้างเพิ่มฟรี ๆ
ข้อดีข้อนี้เป็นข้อดีที่หาจากที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว ลองนึกดูว่าจะมีเครื่องมือเกษียณอันไหนที่สมทบเงินให้เราเพิ่มฟรี ๆ แบบนี้อีก คิดง่าย ๆ ถ้าเราใส่เงินสะสมเข้าไป 5% ของเงินเดือน และสมมุตินายจ้างก็สมทบให้เพิ่ม 5% เหมือนกัน ก็เท่ากับว่าเราได้ผลตอบแทน 100% ฟรี ๆ โดยที่ยังไม่เอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อด้วยซ้ำ
3
3. เอาเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้
เชื่อว่าคนที่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีจะต้องถูกใจข้อดีข้อนี้แน่นอน เพราะเงินส่วนที่ลูกจ้างสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี เอาไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
1
อ้างอิง
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
3
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา