12 ม.ค. 2022 เวลา 13:00 • สุขภาพ
อุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
Trigger warning: ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ
หากเพื่อนของคุณถูกแฟนทำร้าย
คุณจะแนะนำอย่างไร
แล้วหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง
คุณจะทำอย่างไร
คุณจะไปหาหมอไหม
แล้วคุณกังวลอะไรบ้างไหม
หลาย ๆ คนคงมีคำตอบในใจ แต่ถ้ายังไม่มีคำตอบ อยากชวนให้คิดเรื่องนี้สักนิด เพราะในตอนท้ายของบทความ จะชวนมาแลกเปลี่ยนว่า แล้วเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างที่จะทำให้อุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพในเรื่องนี้ลดน้อยลง
ในบทความนี้จะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับ
  • ปัจจัยที่เป็นสิ่งกีดกั้นในการพูดคุยเรื่องนี้กับแพทย์
  • เครือข่ายในประเทศไทยที่ดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
  • สถิติและข้อมูลเรื่องความรุนแรงทางเพศของไทย
● ปัจจัยที่เป็นสิ่งกีดกั้นในการพูดคุยเรื่องนี้กับแพทย์
ปัจจัยที่เป็นสิ่งกีดกั้น หรืออุปสรรค (Barrier) ในการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ปัจเจกบุคคล 2.การดูแลสุขภาพ 3.สังคม
1
1.ปัจเจกบุคคล
บางคนก็มองปัญหาในครอบครัวควรจะอยู่ภายในครอบครัว ก็เลยไม่กล้าเล่าให้แพทย์ฟัง เหมือนสุภาษิตว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ซึ่งก็จะส่งผลให้คนไม่กล้าบอก หรือร้องขอความช่วยเหลือเมื่อมีเรื่องปัญหาในครอบครัว
บางคนกังวลเรื่องจะสูญเสียการสนับสนุนทางการเงิน เพราะบางคนยังต้องการพึ่งพิงเศรษฐานะของคู่อยู่ ซึ่งหากสูญเสียไปแล้วก็อาจไม่สามารถดูแลตัวเองและลูกได้
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าหากเปิดเผยเรื่องราวจะทำให้ความรุนแรงนั้นแย่ลงได้ เช่น ถูกขังไว้ในบ้าน ไม่ให้ออกไปขอความช่วยเหลือจากใคร
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ก็เลยทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้า หรือลังเลที่จะบอกข้อมูลความรุนแรงกับหมอ
2. การดูแลสุขภาพ
ประเด็นนี้อยากจะเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์อ่านเป็นพิเศษ เพราะอุปสรรคหนึ่งก็มาจากบุคลากร และระบบการดูแลสุขภาพ การฝึกอบรมก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัจจัยด้านนี้ได้
1
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ถูกกระทำมองว่าแพทย์ก็มักจะดูแลต่อเฉพาะสุขภาพด้านร่างกายเป็นหลัก ไม่ได้คาดหวังว่าแพทย์จะมาช่วยดูแลอะไรนัก และที่โรงพยาบาลก็ดูจะยุ่งมาก ๆ อยู่แล้ว ไม่อยากไปรบกวนเวลาของแพทย์
1
แต่บางคนก็มองว่า มันจะดีมากถ้าแพทย์ช่วยดูแลนอกเหนือจากเรื่องร่างกายได้ และอยากให้แพทย์เป็นคนเริ่มต้นถามเรื่องความรุนแรงก่อน มันจะช่วยให้ผู้ถูกกระทำกล้าเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น
1
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แอดหมอเองก็ได้สอนและย้ำเตือนกับนักศึกษาแพทย์บ่อยครั้งว่าให้เริ่มสอบถามก่อน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องตรวจเพื่อให้กล้าเปิดเผยเรื่องนี้
1
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือเรื่อง ความไม่เชื่อใจในการรักษาความเป็นส่วนตัว บางคนอาจจะกังวลว่าเล่าไปแล้วอาจจะทำให้แพทย์ไปบอกกับคนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะทำให้คนใกล้ตัวรู้ หรือกระตุ้นให้ความรุนแรงในครอบครัวแย่ลงไปอีก
3. สังคม
ผู้ถูกกระทำไม่เปิดเผยข้อมูล เพราะความกังวลเรื่องที่สังคมอาจมองว่าความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ในครอบครัวทั่วไป ซึ่งมันไม่จริง เพราะความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ
มุมมองแบบผิด ๆ นี้ อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการโทษเหยื่อ หรือโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ เช่น ก็เพราะเป็นคนแบบนี้ ทำไมไม่อดทนมากกว่านี้ ทำไมไม่ให้โอกาสคู่ในการปรับตัว เป็นต้น
บางคนก็กังวลว่าจะถูกตีตรา เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต เช่นกังวลว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งจากอิทธิพลของสังคมทั้งหมดนี้ก็มีส่วนที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่เปิดเผยข้อมูลออกมากับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
ข้อสรุป 3 ปัจจัยนี้ นำมาจากงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาในประเทศปาเลสไตน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ซึ่งพูดถึงเพศหญิงที่ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว (เพศใดก็ถูกกระทำได้เช่นกัน) และแอดหมอเขียนเสริมเพิ่มเติมในประเด็นของไทย
1
แม้ว่าข้อมูลจะไม่ได้มาจากของไทยโดยตรง (ข้อมูลในไทยค่อนข้างน้อยและกระจัดกระจายมาก) แต่หลาย ๆ เรื่องก็น่าจะพบได้เช่นเดียวกัน สำหรับอุปสรรคของคนไทยคงต้องรอให้มีการศึกษาเพิ่มเติม และมีข้อมูลมากกว่านี้
● เครือข่ายในประเทศไทยที่ดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
2
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC สายด่วน 1300
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- Shero Thailand
สำหรับการฝึกอบรมแพทย์ไทยอาจยังไม่ได้เน้นเรื่องการประเมินและการดูแลเคสความรุนแรงมากเท่าที่ควร จึงยังเป็นอุปสรรคหนึ่งที่พบได้ในไทย แต่ก็ต้องบอกว่าในอนาคตน่าจะดีขึ้น จากการที่มีคนเล็งเห็นความสำคัญ พัฒนาการดูแล พัฒนาการสอนให้ครอบคลุมประเด็นนี้มากขึ้น
1
● สถิติและข้อมูลเรื่องความรุนแรงทางเพศของไทย
ปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศ หรือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-based violence) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการคุกคามทางเพศผ่านทางออนไลน์
ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มีน้อย และไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง เราจึงมักไม่ทราบสถิติหรือตัวเลขที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไรนัก
เวลาที่หาข้อมูลสถิติเหล่านี้ไม่ได้ มันก็อาจมีผลทำให้ปัญหาเหล่านี้มันดูเล็กลงกว่าที่ควรจะเป็น เพจน้องสาวขอแนะนำให้รู้จักเพจ Femnimitr ที่มีความตั้งใจจะจัดทำฐานข้อมูลและเป็นแหล่งในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ให้มากขึ้น
อยากชวนทุกคนช่วยกันคิดว่านอกจากการรวมรวมข้อมูลเชิงสถิติแล้ว จะมีวิธีการใดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงการบริการ และได้รับการดูแลมากยิ่งขึ้น มาแลกเปลี่ยนกันค่ะ
บทความโดย พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ
เพจน้องสาว - LittleSisCare - Last updated January 2022
Reference:
Shaheen, A., Ashkar, S., Alkaiyat, A. et al. Barriers to women’s disclosure of domestic violence in health services in Palestine: qualitative interview-based study. BMC Public Health 20, 1795 (2020). https://doi.org/10.1186/s12889-020-09907-8
2
โฆษณา