14 ม.ค. 2022 เวลา 13:18 • หนังสือ
"เป็นเรื่องยากมากครับที่จะเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรา ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนความเชื่อลึก ๆ ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเดิมที่คุณเคยทำ" ต่อให้คุณมีแรงบรรดาลใจในการตั้งเป้าหมายใหม่ เปลี่ยนกระบวนการใหม่ หรืองัดเทคนิค 108 วิธีออกมามากมายยังไง สุดท้ายมันก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมครับถ้าเรายังคงเชื่อและเข้าใจตัวเองอยู่แบบเดิม
ลองจินตนาการตามดูนะครับมีคนยื่นบุหรี่ให้กับคนสองคน คนแรกบอกว่า
"ไม่ดีกว่าครับ ผมพยายามจะเลิกบุหรี่อยู่" กับคนที่บอกว่า
"ไม่ดีกว่าครับ ผมไม่ใช่คนที่สูบบุหรี่ (ทั้งที่เมื่อก่อนเขาก็เคยสูบพอ ๆ กับคนแรก)" เพื่อน ๆ คิดว่าใครจะมีโอกาสเลิกบุหรี่ได้มากกว่ากันครับ
งั้นระหว่างคนที่คิดว่า "ฉันจะต้องลดความอ้วนให้ได้!" กับอีกคนที่คิดว่า
"ฉันเป็นคนสุขภาพดี" เพื่อน ๆ คิดว่าใครต้องใช้ความพยายามในการลดน้ำหนักมากกว่ากันครับ (ถ้าสมมุติให้สองคนนี้มีทุกอย่างเหมือนกัน ประหนึ่งเป็นคนเดียวกันแต่อยู่กันคนละมิติ)
คนแรกหรือคนที่คิดว่า "ฉันจะต้องลดความอ้วนให้ได้!"
จะออกกำลังกายอย่างจริงจัง จะงดของหวานของมัน จะไม่กินจุกจิกและจะไม่กินหลังสองทุ่ม จะเปิดตำราทำอาหารคลีนกินเองที่บ้านและนับแคลอย่างจริงจัง จะ...
ดูจะเป็นวิธีลดน้ำหนักที่เข้าท่าดีใช่มั้ยล่ะครับ แต่เขาคนนี้จะทำแบบนี้ด้วยความมุ่งมั่นไปได้ซักระยะนึงเท่านั้นครับ ถ้าเขายังคงคิดหรือเข้าใจกับตัวเองอยู่แบบเดิมว่า "ฉันเป็นคนอ้วนที่ต้องการจะลดน้ำหนัก"
เพราะการกระทำเหล่านี้คือการกระทำที่พยายามจะฝืนความคิดความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองที่สั่งสมมานาน จนท้ายที่สุดเราก็จะฝืนความเชื่อของเราที่มีต่อตัวเราเเองไม่ไหวครับ อะไรที่มันฝืนความเป็นตัวตนของเรา เราก็มักจะไม่ทำมันใช่มั้ยล่ะครับ หรือถ้าทำก็จะทำไปอย่างไม่มีความสุขแล้วก็จะทำไปได้ไม่นานนัก เพราะเราจะรู้สึกว่า "มันไม่ใช่ตัวเรา"
ไม่ได้จะบอกว่าการรู้จักและยอมรับตนเองเป็นเรื่องที่ผิดนะครับ เพียงแค่จะสื่อให้เห็นว่าความคิดความเชื่อที่เรามีต่อตนเอง มันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนิสัยของเราอย่างไร เราไปดูคนที่สองกันต่อดีกว่าครับ
คนที่สองหรือคนที่คิดว่า "ฉันเป็นคนสุขภาพดี"
เขาคนนี้จะถามกับตัวเองอยู่ตลอดครับว่า
"คนสุขภาพดีทำอะไรกันบ้างนะ"
"คนสุขภาพดีจะกินอะไรและจะไม่กินอะไร"
"คนสุขภาพดีจะออกกำลังกายแบบไหนและบ่อยแค่ไหน"
"คนสุขภาพดีจะนอนวันละกี่ชั่วโมงกันนะ"
ความสงสัยเหล่านี้ของเขาจะนำมาซึ่งการพยายามหาคำตอบ การพิสูจน์ และการเรียนรู้
ทุกครั้งที่เขามีช้อยส์ให้ต้องเลือกระหว่าง 'ชานมไข่มุกหวานร้อยพิเศษมุก' กับ 'ชาดำร้อน' เขาจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า "คนสุขภาพดีจะเลือกกินอะไร"
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเปลี่ยนจากคนที่เคยกินชานมไข่มุกเป็นประจำ
มาเป็นคนที่กินชาดำร้อนได้ในทันที แต่เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ และหาทางปรับให้มันเข้ากับเอง แล้วค่อย ๆ พัฒนามันต่อไปครับ
เขาอาจจะไม่ได้กินชาดำร้อนตลอดเวลา อาจจะมีกินชานมบ้างเป็นบางวัน แต่เขาก็จะหาคำตอบแล้วเรียนรู้ได้ครับว่า "กินปริมาณเท่าไหร่ถึงพอดี" "เท่าไหร่ที่จะไม่มากเกินแล้วไปขัดต่อการเป็นคนสุขภาพดีของเขา"
และทุกครั้งที่เขาทำได้ ทุกครั้งที่เขาเอาชนะความขี้เกียจแล้วลุกออกไปออกกำลังกาย ทุกครั้งที่เขาเอาชนะใจตัวเองจากการกินจุกกินจิก ทุกครั้งที่เขากินอาหารที่มีประโยชน์อย่างมีสติ ทุกครั้งพักผ่อนอย่างเพียงพอ ฯ
จะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นครับว่า "เขากำลังเข้าใกล้ตัวตนของคนที่มีสุขภาพดี" มากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ความคิดความเชื่อและตัวตนของเขาจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ การกระทำและวิธีการของเขาก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามความคิดความเชื่อเหล่านั้น จนสุดท้ายมันก็จะกลายเป็นตัวเขา และเขาก็จะไม่ได้รู้สึกฝืนอะไร
สรุปแล้วใครใช้ความพยายามมากกว่ากัน?
ตัวผมเองก็ยังสรุปไม่ได้ครับ เพราะถึงจะบอกว่าเขาทั้งสองคนมีทุกอย่างเหมือนกันยังไง แต่สิ่งที่เขาสองคนต้องเผชิญหลังจากการตัดสินใจทำตามความเชื่อเหล่านั้นมันไม่มีทางเหมือนกันครับ
แต่ผมพอจะตอบได้ว่า สุดท้ายแล้วใครจะรู้สึกพึงพอใจมากกว่ากัน เพื่อน ๆ คิดเห็นอย่างไรบ้างครับ
แต่การจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะอย่างที่ผมได้บอกไป ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตัวเรานั้นถูกหล่อหลอมและสั่งสมมานานหลายปี การที่เราเป็นคนกินจุกจิก ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อวานเป็นครั้งแรก การที่เราเป็นคนใจร้อนโมโหง่ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่เราเจอมาเมื่อตอนกลางวัน ดังนั้นการจะเปลี่ยนมันได้ก็ต้องใช้เวลาที่นานเช่นกัน
สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือ "เชื่อว่าเราทำได้" "เชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้" แล้วค่อย ๆ ปรับมันไป ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เก็บสะสมความสำเร็จเล็ก ๆ ที่จะพาเราให้เข้าใกล้ตัวตนที่เราอยากเป็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใกล้ตัวตนที่เรานึกย้อนกลับมาแล้วจะไม่เสียใจในภายหลัง
สุดท้ายนี้ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทุกคนในการทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไป เราจะเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ
"Just take a baby step." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor #productivity #psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment #selfgrowth | 008/2022 (มนุดปอ Ep.50)
อ้างอิง
- หนังสือ "Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น" โดย James Clear
- บทความ "รีวิวหนังสือ Atomic Habits" (พุธ 8/12/2021) โดย มนุดปอ
- บทความ "กฎสำคัญ 4 ข้อ ของการเปลี่ยนนิสัย" (ศุกร์ 10/12/2021) โดย มนุดปอ
โฆษณา