23 ม.ค. 2022 เวลา 13:02 • ธุรกิจ
ทำความรู้จักการนำทั้ง 6 สไตล์ (Leadership Style) อยากนำต้องรู้!
มีคำกล่าวไว้ว่า “เราศึกษาอดีต เพื่อคาดการณ์อนาคต”
ถ้าลองดูจากประวัติศาสตร์ มีตัวอย่างผู้นำเจ๋งๆ มากมายให้เราได้ไปศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งผู้นำแต่ละคนก็ดูจะมีสไตล์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่นถ้าพูดถึง Steve Jobs ก็จะนึกถึงสไตล์การนำที่เน้นสั่ง (อยากได้ ต้องได้) พูดถึง Mahatma Gandhi ก็จะนึกถึงสไตล์การนำที่ใช้ความแน่วแน่ของเขาสร้างความเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ หรือถ้านึกถึง Richard Branson ก็จะนึกถึงผู้นำสไตล์กล้าทำและพร้อมลุยไปกับทีมงาน
แต่การที่ผู้นำแต่ละคนประสบความสำเร็จได้นั้น พวกเขาพึ่งพาแต่สไตล์การนำที่โดดเด่นเพียงแค่อย่างใดอย่างนึงแค่นั้นรึเปล่า?
บทความจาก Harvard Business Review (HBR) ที่เขียนโดย Daniel Goleman บอกว่าสไตล์การนำแต่ละแบบมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน และในผู้นำ 1 คนนั้นสามารถมีสไตล์การนำได้หลายอย่าง ซึ่งผู้นำที่ดีจะต้องเลือกใช้สไตล์การนำให้เหมาะกับสถานการณ์
ในบทความนี้ ผมจะพาคุณไปรู้จักกับสไตล์การนำทั้ง 6 แบบ พร้อมกับจะยกตัวอย่างให้คุณได้เห็นด้วยว่าสไตล์การนำแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์แบบไหน
สไตล์การนำทั้ง 6 แบบ! เลือกหยิบไปใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์
1. The Coercive Style
สไตล์การนำรูปแบบแรกเป็นสไตล์การนำแบบ “ทำในสิ่งที่ฉันบอกให้ทำ” หรืออธิบายง่ายๆ ใน 1 คำคือ “เผด็จการ”
ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด ทำตามสั่งก็พอ
ในสถานการณ์ปกติหรือในสถานการณ์ที่องค์กรกำลังเติบโต จากการวิจัยของผู้เขียนพบว่าการนำแบบนี้เป็นการนำที่ส่งผลที่แย่ที่สุดในภาพรวม เนื่องจากผู้นำที่ใช้สไตล์การนำแบบนี้จะจำกัดความยืนหยุ่นและจินตนาการของคนด้วยคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิด
ทั้งนี้ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นองค์กรมีวิกฤตหรือกำลังย่ำแย่ การนำแบบนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีมากๆ วิธีหนึ่ง เพราะระหว่างวิกฤต ผู้นำต้องแข่งขันกับเวลา การสั่งให้ทำโดยไม่ต้องคิดจึงเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการจัดการกับปัญหา
Note: มีข้อแม้เล็กๆ สำหรับในก็ตามที่จะใช้วิธีการนำแบบนี้คือคุณต้องเก่ง ต้องกล้าด้วย ถ้าจะให้ดีก็ควรจะมีกุนซือดีๆ ช่วยเป็นสมองให้
ผู้นำในยามสงบและผู้นำในยามออกรบ ต้องใช้การนำที่ต่างกัน
2. The Authoritative Style
สไตล์การนำรูปแบบนี้เป็นสไตล์การนำแบบ ” Come with Me รับรองว่าดี” หรือก็คือการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
การนำแบบนี้คือการนำที่โน้มน้าวให้ทุกคนมุ่งหน้าไปสู้เป้าหมาย… ด้วยกัน
สิ่งสำคัญสำหรับการนำแบบนี้คือ Vision และ Mission ต้องชัด และต้องหาทางพยายามที่จะสื่อสารทั้ง 2 สิ่งนี้ให้กับทุกคนในทีม และทำให้พวกเขาซึมซับสิ่งเหล่านี้เข้าไปทุกวัน ทุกวัน จนกว่าเป้าหมายจะสำเร็จ
การนำแบบนี้จะใช้ได้ดีกับองค์กรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ช่วยให้ทีมรู้ว่าจะต้องเดินหน้ากันต่อไปยังไง
ซึ่งจากการวิจัยของผู้เขียน เขาบอกว่าวิธีการนำแบบส่งนี้ผลบวกกับบรรยากาศโดยภาพรวมที่สุด
1
จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน จุดหมายที่ฝันไว้คงไม่ไกลเกินไป
3. The Affiliative Style
สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การทำแบบ “People First” ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คนต้องมาก่อน
การนำแบบนี้ ผู้นำจะต้องทำให้ทุกคนในทีมแฮปปี้ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างกัน และพยายามทำให้ผู้คนเปิดอกพูดคุยกันมากขึ้น
กลเม็ดเคล็ดลับสำหรับการนำแบบนี้มีหลายวิธีเช่นการให้ Positive Feedback เป็นประจำ การพาทีมไปกินข้าวร่วมกัน หรือการทำ One-on-one Feedback เป็นต้น
ถึงแม้ว่าสไตล์การนำแบบนี้จะเป็นสไตล์การนำที่ดี แต่ผู้เขียนบอกว่าสไตล์การนำแบบนี้ไม่ควรจะถูกใช้กับทุกสถานการณ์เพราะการชื่นชมแต่ไม่ยอมติชม การโฟกัสที่คนแต่ไม่โฟกัสที่งาน อาจจะส่งผลให้คนในทีมอืดอาดยืดยาด และไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงาน
People First อย่างเดียวไม่พอ ผลลัพธ์ต้องได้ด้วย!
4. The Democratic Style
สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำแบบ “ประชาธิปไตย” คนส่วนใหญ่ว่ายังไง ผู้นำก็ว่าตามกัน
สไตล์การนำแบบนี้เป็นสไตล์ที่คนทุกคนจะได้มีโอกาสออกสิทธิ์ออกเสียง เสนอความคิดเห็นของตัวเองได้ เมื่อคนมีความเห็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการร่วมด้วยช่วยกัน อยากจะทำงานออกมาให้ได้ดี
สไตล์การนำแบบ Democratic จึงเหมาะมากสำหรับตอนที่ผู้นำต้องการที่จะทำให้คนในทีม Buy-in (คือผู้นำอาจจะคิดวิธีการไว้บ้างแล้ว ซึ่งวิธีการที่ดีมากๆ วิธีนึงในการทำให้คนในทีมเชื่อในวิธีการคือการให้เขาเสนอหรือคิดวิธีการนั้นๆ ออกมากันเอง) นอกจากนั้นแล้วสไตล์การนำแบบนี้ยังเหมาะกับช่วงเวลาที่ผู้นำมี Vision ที่ชัดเจน แต่ต้องการไอเดียเพิ่มเติมในตอนที่ลงมือทำจริงๆ
1
ทั้งนี้จากงานวิจัยของผู้เขียน การนำแบบนี้เมื่อเทียบกับการนำในรูปแบบอื่น (ยกเว้น The Coercive Style) แล้ว ถือว่าไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากว่าผลจากการใช้สไตล์นี้ในการนำอาจจะเป็นการประชุมอย่างไม่หยุดหย่อนและคนในทีมอาจจะรู้สึกว่ามีผู้นำก็เหมือนไม่มี (เพราะผู้นำไม่ช่วยตัดสินใจเลย)
ประชาธิปไตยจะสร้างความร่วมแรงร่วมใจ ถ้าหยิบมาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา
5. The Pacesetting Style
สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำแบบ “ฉันทำดีให้เธอดู แล้วเธอทำดีให้ได้ตาม” ผู้นำที่ใช้สไตล์นี้มักจะพยายามแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของการทำงานและต้องการให้คนในทีมทำตามให้ได้
ซึ่งเมื่อมีความคาดหวังเกิดขึ้น ความกดดันก็จะตามมา เพราะคนในทีมจะถูกผู้นำคาดหวังให้ทำได้ดีเหมือนกับที่ผู้นำทำ
สไตล์การนำแบบนี้เน้นการทำให้ดู มากกว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการพูดคุยและการให้ feedback ระหว่างกันอาจจะมีน้อย เมื่อการพูดคุยมีน้อย ระยะห่างก็จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าคนในทีมทำงานออกมาไม่ได้ดั่งใจผู้นำ ผู้นำก็จะไม่พอใจ บรรยากาศโดยรวมก็จะเสียไป
ทั้งนี้สไตล์การนำแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีข้อดี ผู้เขียนได้บอกไว้ว่าสไตล์การนำแบบนี้จะใช้ได้ผลดีถ้าทีมของคุณเป็นทีมที่สามารถสร้างแรงจูงใจได้ด้วยตัวเอง (Self-motivated) และมีความสามารถที่จะทำงานออกมาให้ดีได้ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างว่าการนำสไตล์แบบนี้เหมาะกับงานที่ต้องอาศัยทักษะและความสามารถของแต่ละคนค่อนข้างสูงอย่างเช่นงานกฏหมายหรืองานวิจัยและพัฒนา
1
การทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งอาจจะดีกว่าถ้าทำไปด้วยกัน
6. The Coaching Style
สไตล์การนำรูปนี้เป็นสไตล์การนำสาย “สอน” ให้คนในทีมเป็นคนที่เก่งขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม
การนำสไตล์แบบนี้โฟกัสที่พัฒนาการของทีมแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้คนในทีมพัฒนาจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้น หรือเข้าใจจุดอ่อนของตัวเองมากยิ่งขึ้น
การนำสไตล์แบบนี้ต้องใช้ Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจและความเอาใจใส่ของผู้นำค่อนข้างสูงเพราะคนแต่ละคนก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน
ในความเห็นของผมการนำแบบนี้ค่อนข้างเป็นการนำแบบผู้จัดการ (อ่านเพิ่มเติม: ความแตกต่างระหว่าง Great Leader และ Great Manager https://sitthinunt.com/talent-management/manager-vs-leader/)
ข้อควรระวังสำหรับสไตล์การนำรูปแบบนี้คือมันจะใช้ได้ผลกับคนที่เปิดใจว่าตัวเองยังพัฒนาได้เท่านั้น แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับองค์กรที่คนไม่อยากที่จะปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้เพิ่มเติม
คนคือหัวใจ ถ้าพัฒนาคนให้ดีได้ องค์กรก็จะก้าวหน้าไปได้
สรุป
ผู้นำที่ดีคือคือผู้นำที่เชี่ยวชาญในสไตล์การนำมากกว่า 1 สไตล์ และเลือกหยิบสไตล์การนำให้เหมาะกับสถานการณ์
ถ้าตอนองค์กรกำลังเจอวิกฤต ผู้นำมัวแต่ใช้ Democratic Style ฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่ บางทีองค์กรอาจจะรอไม่ได้และฟังไปก่อน กลับกัน ถ้าองค์กรอยู่ในช่วงอึนๆ ตันๆ ต้องการไอเดียใหม่ๆ มาเสริมทัพ แต่ผู้นำดันใช้ Coercive Style นวัตกรรมใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เกิด
1
และ “ความเป็นผู้นำ” นั้น คนทุกคนไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่ “ความเป็นผู้นำ” เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนครับ
1
“Leaders are made, not born”
บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ https://sitthinunt.com/entrepreneurship/6-leadership-styles/
ผมทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ Business, Productivity, Self-development & Tech เป็นประจำ
ไม่พลาดคอนเทนต์ดีๆ ที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพียงเลือกติดตามผ่านทางช่องทางด้านล่าง :)
READ
💬 LINE: https://link.sitthinunt.com/line หรือแอด LINE ID: @sitthinunt
โฆษณา