15 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของ UAE ที่ต่อยอดความรุ่งเรืองของประเทศจากการค้าน้ำมัน
เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของประเทศที่ครอบครองน้ำมันมหาศาล ที่จะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากแหล่ง “ทองคำดำ” เหล่านี้ได้ แต่มีไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่สามารถต่อยอดเศรษฐกิจจากรายได้น้ำมัน จนนำมาซึ่งความสำเร็จในอุตสาหกรรมอื่นๆ และการยกระดับคุณภาพชีวิต ได้ด้วย..
หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่ทำได้ก็คือ “ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE)” ที่พัฒนาโครงสร้างจากที่เคยพึ่งพารายได้น้ำมันเป็นหลัก กลับกลายมาเป็นประเทศที่มีส่วนของรายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำมันมากกว่าในปัจจุบัน
ในบทความนี้ เราจึงจะพาทุกท่านไปดูการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของ UAE ที่สร้างประเทศจากรายได้น้ำมันกันครับ
📌 ทำความรู้จักกับ UAE
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ United Arab Amirate (UAE) เป็นประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีพื้นที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเปอร์เซีย โดยประกอบด้วย 7 รัฐที่มารวมกัน ได้แก่ อาบูดาบี (Abu Dhabi) ดูไบ (Dubai) อัจมาน (Ajman) ฟูไจราห์ (Fujariah) ราสอัลไคมาห์ (Ras Al Khaimah) ชาร์จาห์ (Sharjah) และอุมม์อัลไกไวน์ (Umm AL Quwain)
โดยมีเมืองหลวงถาวรอยู่ที่ “อาบูดาบี” ที่เป็นรัฐที่ผลิตที่สำคัญ และยังมีพื้นที่มากที่สุดกว่าทุกรัฐ นอกจากอาบูดาบี อีกรัฐที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของ UAE ก็คือ “ดูไบ” ที่ถือเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของภูมิภาค
โดนหากมองย้อนกลับไปช่วงก่อนที่ประเทศจะค้นพบน้ำมัน UAE มีความสำคัญในฐานะเป็นหนึ่งตัวเชื่อมทางการค้ากับอินเดีย รู้จักในชื่อ “entrepôt” ที่แปลว่า “ศูนย์กลางที่เชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างประเทศในคาบสมุทรอินเดีย”
ทำให้ในตอนนั้น ทาง UAE จำเป็นต้องทำการเซ็นสนธิสัญญาข้อตกลงกับสหราชอาณาจักร ที่เป็นมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น เพื่อแลกกับสันติในดินแดน
ก่อนที่ต่อมา ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาจะได้รับเอกราช ก่อนที่จะมารวมตัวกันก่อตั้งเป็น UAE อย่างเป็นทางการในปี 1971
📌 การค้นพบน้ำมัน และรายได้ที่ไหลเข้ามาพัฒนาประเทศ
มีการค้นพบน้ำมันครั้งแรกที่รัฐอาบูดาบีในปี 1958 หลังจากนั้นประเทศก็พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลักมาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง
มีการก่อตั้งบริษัทที่เป็นของรัฐอย่าง Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลการผลิตน้ำมันในรัฐอาบูดาบี ที่ในปัจจุบัน รัฐนี้มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันคิดเป็น 95% ของทั้งประเทศ
โดยจุดเด่นหนึ่งของ UAE ที่แตกต่างจากประเทศอื่นในอาหรับ ก็คือ พวกเขาได้ทำการร่วมมือกับบริษัทผลิตน้ำมันนานาชาติ ทำให้มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นตลอดเวลา ต่างจากอีกหลายประเทศที่จะทำการแปลงรูปสิทธิการขุดเจาะน้ำมันของต่างชาติที่เคยได้ เป็นของตัวเองหมดเลย
และจุดเด่นอีกอย่างที่แตกต่างจากอีกหลายประเทศ ที่เป็นเสือนอนกินรอนับเงินจากน้ำมันอย่างเดียว เม็ดเงินที่เข้ามาใน UAE ตอนนั้น ถูกแปรเปลี่ยนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศทั้งโรงเรียน ที่พักอาศัย โรงพยาบาล โดยต้องยกความดีความชอบให้กับผู้นำของรัฐอาบูดาบีในขณะนั้นอย่าง Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan ที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐในปี 1966
2
อีกรัฐหนึ่งที่สำคัญ ที่นำแนวคิดการใช้รายได้จากน้ำมันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็คือดูไบ ที่ผู้นำในขณะนั้นอย่าง Sheikh Rashid bin Saeed Al Maktoum ก็มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ได้ทำการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่น ควบคู่มากับการส่งออกน้ำมันด้วย โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค
ด้วยแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ทำให้ UAE จากที่เคยเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้น้ำมันมากกว่า 60% ของ GDP เมื่อพิจารณาจาก oil rents* ก็ลดลงมาเหลือแค่ประมาณ 20% ของ GDP เท่านั้น
*oil rents คือส่วนต่างของมูลค่าน้ำมันดิบหักด้วยต้นทุนการผลิตน้ำมันทั้งหมด
📌 เศรษฐกิจส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันของประเทศ
หากอาบูดาบี คือกำลังหลักในการผลิตน้ำมันของประเทศแล้ว ดูไบ ก็คือเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักส่วนที่ไม่ใช่น้ำมัน แต่เป็นการค้าขายแทน (ซึ่งอาจจะขัดกับความคิดของหลายคน ที่มองว่า ดูไบต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลักแน่นอน)
1
ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และการออกนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค
นำมาด้วยการสร้างเขตเสรีการค้าหลายแห่ง โดยเฉพาะ Jebel Ali free-trade zone ที่ก่อตั้งในปี 1980 ที่มีอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งการถลุงอลูมิเนียม การผลิตรถยนต์ และการผลิตปูนซีเมนต์
และตามมาด้วยการออกกฎเกณฑ์ในปี 1998 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าพื้นที่เป็นระยะเวลา 99 ปี ทำให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเฟื่องฟูอย่างมาก กลายเป็นที่ตั้งของบริษัทหลายพันแห่งจากยุโรปและอเมริกาเหนือ
ซึ่งรวมถึง สถาบันการเงินจำนวนมากที่เข้ามาตั้งฐานในดูไบ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเทศ UAE ก็ถือว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาสถาบันการเงินและตลาดหุ้นตามหลักของศาสนาอิสลามมาก่อนแล้ว และมีกฎเกณฑ์ทางการเงินที่ค่อนข้างเสรี
นอกจากนี้ ด้วยตำแหน่งไทม์โซนของประเทศ UAE ทำให้ดูไบเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมช่วงเวลาระหว่างศูนย์กลางทางการเงินในทวีปยุโรปและทวีปเอเชียตะวันออกได้เป็นอย่างดีด้วย เป็นการเติมเต็มทำให้ตลาดการเงินโลกแทบจะไม่เคยหลับใหล
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องก็คือ การท่องเที่ยวแบบ Luxury ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม การขยายสนามบิน การสร้างธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม
และการสร้าง Landmarks ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น Burj Khalifa ตึกที่สูงที่สุดในโลกปัจจุบัน หรือ Palm Jumeirah เกาะรูปต้นปาล์มมนุษย์สร้างอันโด่งดัง ทำให้ดูไบกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ
📌 โครงสร้างประชากรและแรงงาน
โครงสร้างของประชากรในประเทศ UAE มีความน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากแรงงานชาวต่างชาติคิดเป็นถึง 9 ใน 10 ของประชากรในประเทศเลยทีเดียว
2
เนื่องด้วยความต้องการแรงงานมาพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ช่วงยุคปี 1970 ตั้งแต่แรงงานฝีมือต่ำจนถึงแรงงานที่จบการศึกษาสูง เพื่อตอบโจทย์ความพยายามในการยกระดับเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น
อีกหนึ่งแรงจูงใจที่สำคัญ ที่ช่วยดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ก็คือ การที่ประเทศ UAE ไม่มีการเก็บรายภาษีรายได้ส่วนบุคคลเลย
ซึ่งนอกจากภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแล้ว UAE ก็ยังมีการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลแค่กับบริษัทน้ำมันและธนาคารต่างประเทศเท่านั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติมหาศาล
1
(เกร็ด: แต่ในหลายอุตสาหกรรมและหลายพื้นที่ การตั้งบริษัทกำหนดให้ชาวต่างชาติก็ยังถือหุ้นได้แค่ 49% และต้องร่วมกับคน UAE 51% อยู่ แต่ก็มีพื้นที่การค้าเสรีอย่าง A ที่อนุญาตให้ถือหุ้นได้เต็มตัว)
📌 การต่อยอดทางด้านสวัสดิการ
นอกจากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ และการดึงชาวต่างชาติเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศแล้ว ประเทศ UAE ก็ยังโดดเด่นในการต่อยอดสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนในประเทศด้วย
ไล่ตั้งแต่สวัสดิการทางด้านสุขภาพ ที่โรงพยาบาลมีมาตรฐานอยู่ในระดับสูง เพราะดำเนินการโดยเอกชนเต็มตัว และประชาชนสัญชาติ UAE ในประเทศรักษาฟรีทั้งหมด จากการสนับสนุนทั้งการทำประกันและค่ารักษาพยาบาลจากทางรัฐ
การศึกษาในประเทศก็ฟรีตั้งแต่อายุ 6 ถึง 18 ปี และประเทศ UAE ก็ยังมีมหาวิทยาลัยที่ดี ที่เปิดกว้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมมากกว่าหลายประเทศในอาหรับมาก ทำให้อัตราสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาของผู้หญิงสูงมากกว่าผู้ชายเสียอีก
นอกจากนี้ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ก็ยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ผ่านโครงการต่างๆ ตั้งแต่ดอกเบี้ยอัตราต่ำ ไปจนถึงได้บ้านฟรีๆ
พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสำหรับให้ชาว UAE พักผ่อนหย่อนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ประชาชนชาว UAE โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ มีมาตรฐานการครองชีพ (standard of living) เป็นอันดับต้นของตะวันออกกลาง ในขณะที่อีกหลายประเทศในดินแดนเดียวกัน มีเมืองที่มาตรฐานการครองชีพรั้งอันดับท้ายๆ ของโลก
มันจะมีคำสาปในวงการเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันบ่อยๆ คือ คำสาปของทรัพยากรธรรมชาติ ที่บอกว่า ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปมักจะตกม้าตาย พัฒนาประเทศไปไม่ถึงไหน เพราะรอแต่พึ่งทรัพยากรที่ตัวเองมี
แต่ UAE ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่น ที่สามารถลบล้างคำสาปนี้ไปได้ ผ่านมุมมองและวิสัยทัศน์อันเฉียบแหลมของผู้นำ ที่สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่มี มาต่อยอดให้ผลิใบ จนยกระดับประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา