19 ม.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ไทยติด TOP 20 ศูนย์กลางเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ชั้นนำในเอเชีย
Findexable บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ระดับโลก และ Mambu ยูนิคอร์นรายใหม่สัญชาติเยอรมันผู้ให้บริการด้าน Banking Software (SaaS) จับมือเปิดตัวรายงานภายใต้หัวข้อ 2022 Asia Pacific Fintech Rankings: Bridging Divides โดยได้จัดอันดับศูนย์กลางเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ระดับเอเชียแปซิฟิก และระดับโลก มีใจความสรุปได้ดังนี้
• ฮ่องกง อันดับที่ 1 (ASIA RANK) และอันดับที่ 9 (GLOBAL RANK)
• สิงคโปร์ อันดับที่ 2 (ASIA RANK) และอันดับที่ 10 (GLOBAL RANK)
• ซิดนีย์ อันดับที่ 3 (ASIA RANK) และอันดับที่ 11 (GLOBAL RANK)
• กัวลาลัมเปอร์ ขึ้นอันดับที่ 15 (ASIA RANK) และอันดับที่ 67 (GLOBAL RANK)
• กรุงเทพมหานครฯ อันดับที่ 18 (ASIA RANK) และอันดับที่ 81 (GLOBAL RANK)
การจัดอันดับข้างต้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ถึงความหลากหลาย ความสามารถในการคิดค้น และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของภูมิภาคเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียแปซิฟิก สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทหลายแห่งจึงนำนวัตกรรมนี้มาปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินในภูมิภาคที่กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเข้าสู่โลกดิจิทัลและลดการใช้เงินสดแบบเดิม
การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการใช้สมาร์ทโฟนของประชาชนในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ในการสร้างความแตกต่าง ลดการกีดกันทางการเงิน เชื่อมต่อผู้ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นเยาว์ที่ไม่มีบัญชีธนาคารให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัล
โดยปัจจุบันพวกเขา (รวมถึงประเทศแถบเอเชีย) เริ่มดำเนินการจดทะเบียนอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัล (Digital Banking License) เพื่อสนับสนุนธนาคารบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและมือถือ (Neo Bank) ตามรายงาน สิงคโปร์และมาเลเซียมีแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ครอบคลุมกฎระเบียบที่อนุญาตให้ธนาคารดิจิทัลขยายบริการถึงลูกค้าได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากรัฐบาล ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ทดลองใช้แล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ธนาคารดิจิทัลช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจัดการทางการเงิน ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตง่ายขึ้น ที่สำคัญมีค่าบริการเข้าถึงได้ นี่สามารถแสดงให้เห็นแล้วว่านวัตกรรม Fintech สามารถเป็นกลไก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริงๆ โดยการที่จะสำเร็จได้นั้น ต้องมีการบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและมี เป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้นวัตกรรมกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากกรอบการกำกับดูแลที่ซับซ้อนและความเหลื่อมล้ำทางการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางหรือ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องออกระเบียบ ประกอบกับผลักดันบริษัท Fintech ให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจซึ่งกันและกัน จะได้ช่วยสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ ปิดช่องโหว่การบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่โอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การครอบครองสมาร์ทโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง
โฆษณา