17 ม.ค. 2022 เวลา 22:41 • ปรัชญา
“คนฉลาดจะรู้จักรักษาใจของตน”
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่ว่าจะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ถ้าต้องตายไปก่อนเวลาที่ควร ก็เป็นเพราะวิบากกรรม ทำบุญมาเพียงเท่านี้ก็อยู่ได้เพียงเท่านี้ จะให้อยู่เกินบุญที่ทำไว้ไม่ได้ เหมือนกับเติมน้ำมันรถครึ่งถัง ก็จะไปได้ไม่ไกลเท่ากับเติมเต็มถัง
คนเราก็เช่นเดียวกัน มีความแตกต่างกัน มีอายุสั้นยาวต่างกัน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนต่างกัน มีอาการ ๓๒ ไม่เท่ากัน เพราะทำบุญกรรมมาต่างกัน ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้มากน้อยเพียงไร ถ้าละได้มากอายุก็ยืนยาวนาน โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนมาก มีอาการ ๓๒ ครบถ้วนบริบูรณ์
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาอยู่เสมอ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราก็ดี กับคนที่เรารักก็ดี จะได้ทำใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คนที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมา ไม่ได้ทำให้เราสบายใจ แต่จะทำให้จิตของเราว้าวุ่นขุ่นมัว กินไม่ได้นอนไม่หลับไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร
จึงต้องดูแลรักษาใจเป็นหลัก คนอื่นเราก็ดูแลไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมมองใจของเรา บางทีเราห่วงคนอื่นมากจนลืมใจของเราไป ห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้ไม่ถูก เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง เป็นอกุศล เป็นความไม่ฉลาด คนที่ฉลาดจะต้องรู้จักรักษาใจของตนด้วย ในขณะที่ดูแลรักษาผู้อื่น ช่วยอะไรได้ก็ช่วยไป ช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม จะมาเศร้าโศกเสียใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
นี่คือปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ลืม ถ้ายังคิดอยากจะอยู่ไปนานๆ ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายอยู่ แสดงว่ายังไม่มีปัญญา ยังไม่ได้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ลองถามตัวเราว่า พร้อมที่จะเจอกับความแก่หรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความตายหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อมแสดงว่ายังสอนใจไม่มากพอ
กำลังใจ ๓๓, กัณฑ์ที่ ๓๑๙
วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขาชีโอน
โฆษณา