18 ม.ค. 2022 เวลา 03:27 • ความคิดเห็น
ถ้างานที่ทนทำ กำลังใจร้ายกับเรา
การลาออก คือการใจดีกับตัวเองที่สุดแล้ว
อย่าปล่อยสุขภาพจิตให้ฝึกความอดทน
แลกกับการสร้างอนาคตของตนเอง
รักตัวเอง จึงลาออก
1) เคยมีเพื่อนมาปรึกษาเรื่องลาออก เราไม่กล้าห้ามเลย เพราะเราจะเอาฐานของสิ่งที่เราเจอไปคิดแทนเขาไม่ได้ แต่ละคนมีปัญหาของตัวเอง และลาออก เป็น choice สุดท้ายจริงๆ (หรือ choice แรกในใจที่คิดไว้อยู่แล้ว) หลังจากสู้รบกับตัวเองมาแสนนานที่ออฟฟิศที่เราอาจจะไม่เป็นสุข เราเชื่อว่าแต่ละคนต้องตกผลึกด้วยตนเอง
2) การลาออกไม่ใช่การหนีปัญหานะ สำหรับเรา มันเป็นการแก้ปัญหา การทนอยู่ในปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ เรารับมือกับมันต่อไม่ไหวคือความทุกข์ของเราเอง เราฉลาดต่างหากที่ไม่ปล่อยให้งานที่เราทนมาทำร้ายชีวิต มาบั่นทอนสุขภาพจิตของตัวเอง การหาทางลาออกจากวังวนนั้น เพื่อออกจากความทุกข์ทรมานต่อสุขภาพจิตของตัวเอง มันถูกต้องของมันแล้ว
3) ในเศรษฐกิจแบบนี้ คงไม่สนับสนุนให้ใครลาออกมานอนเฉยๆ เรามั่นใจมากว่ามันไม่ใช่การคิดสั้นแบบตื้นๆ กว่าจะลาออกคงทบทวน มีแผนรับมือที่เหมาะสมของแต่ละคนให้อยู่รอด
4) สุขภาพจิตสำคัญมากในการกำหนดเป้าหมายชีวิต ทำงานที่ไม่มีความสุข แล้วปลายทางจะมีความสุขได้อย่างไร เราจะสุขกับเงินที่ได้มาด้วยการทำงานที่ทรมานเราจริงๆเหรอ? งานที่เราทำไม่ไหว ไม่ว่าจะเพราะภาระงาน หรือเพราะคน ตัวเราเองจะเป็นคนตอบได้ดีที่สุดว่ายังไหวไหม ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง
5) คนในงาน คือปัจจัยที่เราเลือกเองไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน มักเป็นกุญแจของการลาออก งานส่วนใหญ่ที่ทำให้อยู่เราเลือกเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายไม่ได้ และบั่นทอนสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้โทษว่าใครดีหรือเลวเสมอไป แต่คงเหมือนแฟน 'เข้ากันไม่ได้' ก็ควรต้องเลิก (เพราะในสายตาเพื่อนร่วมงาน เราอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องที่ไม่ดีของเขาก็ได้ เราไม่โทษใครทั้งนั้น เราแคร์ตัวเอง เป็นสำคัญก่อนว่าเราเป็นสุขไหม?)
6) งานที่มีความสุข 100% ไร้ทุกข์ ไม่มีอยู่จริง มันเป็นอุดมคติราวกับงานในฝัน เอาแค่ว่ามันไม่ทำร้ายเราก็พอ และเราอยู่กับมันได้ เราหายใจอยู่ได้อย่างไร้มลพิษ สังคมการทำงานที่ดีจะโอบอุ้มให้เรารอดตาย ให้ไฟของเราในงานยังอยู่ได้ ก้าวเดินไปข้างหน้ากับทีมงานคุณภาพ
7) หลายคนเลือกทนที่เดิม เพราะไม่มั่นใจ กลัวการเริ่มต้นใหม่ กลัวอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะรอดไหม เลยเลือกทนอยู่กับที่เก่า แต่การสัมภาษณ์งานใหม่คงเหมือนการซื้อหวยจริงๆ เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะถูกหวยไหม? แต่ถ้าเราไม่ออกไปเสี่ยง หาโอากสใหม่ๆ สุขภาพจิตของเราใครจะดูแล นอกจากเราที่ดูแลตัวเอง
8 ) ภาวะที่ทนอยู่กับงาน ไม่มีความสุข และเศร้าหมอง จะสร้างความสำเร็จยั่งยืนได้จริงเหรอ? เมื่อตื่นเช้าทำงาน ด้วยความรู้สึกปฏิเสธงานในทุกวัน แสดงว่า เรากำลังมีปัญหา ที่อาจจะมากกว่าแค่ 'กูขี้เกียจ' หมั่นสำรวจตัวเองดูนะ ถ้าเราตื่นมาแล้ว ไม่มีความกระตือรือร้นอยากทำงานเลยเป็นเวลานานๆ ถึงเวลาหาคำตอบใหม่ๆรึยัง?
9) หลายคนเคยบอกว่า "นึกถึงเงิน หรือกลัวจน เดี๋ยวทำงานได้เอง" การเอาสุขภาพจิตมาแลกกับเงิน มันคุ้มหรือไม่ เราเท่านั้นที่เป็นคนตอบ คนอื่นตอบให้เราไม่ได้เลยครับ เงินที่นี่ยังแลกกับความทุกข์ของคุณได้อยู่จริงหรือ? หรือควรเปิดโอกาสให้ตัวเองดูก่อน เพื่อที่จะมีเงินและมีความสุขในแบบที่ต้องการ
10) บริษัทไม่มีเรา เขาก็หาคนอื่นมาทำแทน เขาไม่ได้รักเราอะไรขนาดนั้น เราต่างหากที่ต้องรักตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง สำหรับบริษัท เราก็แค่ฟันเฟืองของเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ทำให้งานของเขามัน run business ต่อไปได้ อะไหล่ตัวนี้ขาดไป เขาแค่ไปหาชิ้นใหม่ แต่ชีวิตเรา มีชีวิตเดียว เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ตามหาชีวิตที่เราอยากมี อยากเป็น ค้นหาคำตอบ และทดสอบท้าทายความก้าวหน้าของเราต่อไป เพื่อสร้างอนาคตที่มีความสุขได้นะ ทิ้งบริษัท เพื่อเลือกรักตัวเอง ไม่ได้ผิดบาปเลยครับ
เราลองยกตัวอย่างใครสักคนที่ควรลาออก เช่น "ประยุทธ์"
เจ้านาย : ประชาชนผู้เสียภาษี เจ้านายของประเทศด่าทอทุกวันว่า "ทำงานไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ขาดวิสัยทัศน์ และภาวะผู้นำ"
เพื่อนร่วมงาน : ไม่ร่วมสร้างความสำเร็จ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่ได้ทำงานเพื่อความสำเร็จ ไม่ส่งเสริมบรรยากาศการทำงานร่วมที่ดี
ผลลัพธ์ : ผลงานตกต่ำ สุขภาพจิตย่ำแย่ ไม่สามารถพัฒนางานให้ดีขึ้นได้ ภายใต้แรงกดดัน และถูกบั่นทอนให้มีอารมณ์ขุ่นหมองทุกวัน
ทางออก ก็คือ "ลาออก" นี่แหละครับตัวอย่างที่ชัดที่สุดของประเทศ สุขภาพจิตไม่ดี จะทำงานให้ดีก็คงไม่ได้ ถ้าเราทำไม่ไหว สร้างความสำเร็จในงานไม่ได้ ก็แค่ไปหางานที่ใช่ งานที่ตรงกับทักษะความรู้ความสามารถของเรานะ...ประยุทธ์
"ทนได้ก็ทนไป ทนไม่ไหว ก็ลาออกนะ!"
ขอให้ทุกคนโชคดี ปีใหม่แล้ว หวังว่าคุณจะมีคำตอบใหม่ๆกับตัวเองนะครับ
#ThinkTalkLoud
#ตุ๊ดส์review
โฆษณา