18 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุนรวม กับค่าธรรมเนียมที่คุณควรรู้
ค่าธรรมเนียม หนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับนักลงทุนสายกองทุนรวม
ปกติแล้ว ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมซักกองหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “การอ่านหนังสือชี้ชวน” (Fund Fact Sheet)
เพื่อดูว่ามีนโยบายการลงทุนอะไร ? เป็นกองทุนรวมประเภทไหน ?
คำถามเหล่านี้เรามักตอบได้ เพราะคงไม่มีใครที่จะหลับตาจิ้มกองทุนรวม ซื้อ ๆ ไป ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แล้วก็สวดมนต์อ้อนวอนให้ราคาปรับตัวขึ้น
ค่าธรรมเนียม จึงอาจถูกมองข้ามไป แต่รู้รึเปล่าว่าค่าธรรมเนียมมีผลต่อการลงทุนมากกว่าที่คิด ไปหาคำตอบกัน
แล้ว ค่าธรรมเนียม มีอะไรบ้าง ?
โดยทั่วไป ค่าธรรมเนียมแบ่งได้กว้าง ๆ 2 ประเภท
1. ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากนักลงทุน
นักลงทุนจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ทันที ทุกครั้งที่มีการ “ซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยน” หน่วยลงทุน เช่น
🔹 ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end Fee) : จะเก็บตอนเราซื้อ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เป็นคนขายหน่วยลงทุนให้เรา
🔹 ค่าธรรมเนียมการซื้อคืน (Back-end Fee) : จะเก็บตอนเราขาย มี บลจ. เป็นคนรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของเรา
🔹 ค่าธรรมเนียมการโอน (Transfer Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราต้องการโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนให้คนอื่น เช่น คนในครอบครัว
🔹 ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (Switching Fee) : จะเก็บเมื่อเราสับเปลี่ยนจากกองทุน A ไปกองทุน B ที่อยู่ใน บลจ. เดียวกัน
2. ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากกองทุนรวม
ส่วนนี้นักลงทุนมักจะไม่ค่อยรู้ตัว เพราะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมในทางอ้อม ซึ่งจะหักออกจากมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่แล้วทุกวัน ตามการอัปเดตมูลค่า NAV ทุกสิ้นวัน เช่น
🔸 ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) : ส่วนนี้คือค่าเหนื่อยของผู้จัดการกองทุน
🔸 ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) : ส่วนนี้จ่ายให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นคนดูแลให้กองทุนบริหารจัดการตามนโยบายที่บอกไว้
แล้ว ค่าธรรมเนียม มีผลต่อการลงทุนยังไง ? 🤔
ลองนึกภาพตาม ถ้าเรามีตัวเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจีนอยู่ 2 กอง ซึ่งมีความเหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือ ค่าธรรมเนียม
สมมุติว่ากองทุนรวม A เก็บค่าธรรมเนียม 1.07% ต่อปี ส่วนกองทุนรวม B เก็บค่าธรรมเนียม 1.65% ต่อปี
หากเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท เท่ากันทั้ง 2 กอง เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี กองทุนรวม A จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1,070 บาท ส่วนกองทุนรวม B จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1,650 บาท
มองผ่าน ๆ อาจยังไม่รู้สึกต่างกันเท่าไหร่ ทีนี้ลองกำหนดให้ระยะเวลาลงทุนติดต่อกัน 10 ปี โดยไม่ซื้อเพิ่มหรือถอนหน่วยลงทุนออกมาเลย
และสมมุติให้กองทุนรวมทั้ง 2 กอง สร้างผลตอบแทนได้เท่ากันปีละ 8% เพราะลงทุนในหุ้นจีนเหมือนกันทุกประการ
ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เงินลงทุนในกองทุนรวม A จะกลายเป็น 195,432 บาท ส่วนกองทุนรวม B จะเป็น 185,087 บาท
📌 เห็นมั้ยครับ ความต่างของค่าธรรมเนียม มีผลต่อผลตอบแทนของเรามากแค่ไหน
ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกกองทุนรวม เราจึงควรดูค่าธรรมเนียมประกอบด้วย ซึ่งมีหลัก 3 ข้อควรรู้ ง่าย ๆ ดังนี้
1. เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมกองทุนรวมที่มีนโยบายเหมือนกัน
ถ้ากองทุนรวม 2 กอง มีนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์เหมือนกัน ให้เลือกกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ในระยะยาวจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า
2. พยายามไม่ซื้อขายกองทุนรวมบ่อย ๆ
อย่าลืมว่าทุกครั้งที่มีการซื้อ-ขาย มักจะมีค่าธรรมเนียมตามมาเสมอ (แม้อาจมีบางกองทุนรวม ที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขายในช่วงแรก)
และค่าธรรมเนียมกองทุนรวมก็มักจะสูงกว่าค่าธรรมเนียมหุ้น ดังนั้นการลงทุนในกองทุนรวมจึงไม่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น
3. ค่าธรรมเนียมเป็นเพียงส่วนประกอบ
ค่าธรรมเนียมที่ถูก ไม่ได้หมายความว่ากองทุนรวมนั้นจะดีเสมอไป ควรดูผลตอบแทนย้อนหลังประกอบด้วย บางกองทุนรวมเก็บค่าธรรมเนียมแพงมาก แต่สร้างผลตอบแทนได้มหาศาลก็มี
  • เรื่องน่ารู้
โดยปกติ บลจ. จะต้องแจ้งนักลงทุนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนการปรับหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา