27 ม.ค. 2022 เวลา 11:09 • การศึกษา
ผมรอที่จะเขียนบทความนี้มานานมากครับ และในที่สุด! วันนี้ก็มาถึง
วันที่ Spider-Man: No Way Home ออกจากโรงซะที จะได้เขียนแบบไม่ต้องกลัวว่าจะสปอยล์กัน 5555
แต่สำหรับใครกำลังอดใจรอดู Spider-Man: No Way Home ในหนังภาคค่ำหรือใน #BigCinema อยู่ แล้วไม่โอคกับการโดย #spoil เนื้อหา ก็สามารถข้ามบทความนี้ไปก่อนได้ครับ หรือจะอ่านแค่ครึ่งนึงก่อนก็ได้ถือว่าช่วยกัน 5555
เหตุผลที่ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับ "5 ขั้นของการสูญเสีย" ขึ้นมา เพราะในหนังเรื่องนี้มีการสูญเสียเกิดขึ้นเต็มไปหมดและมีฉากหลายฉากที่แสดงให้เห็นถึงขั้นต่าง ๆ ของการสูญเสียได้เป็นอย่างดี เราไปดูกันดีกว่าครับว่ามีฉากไหนกันบ้าง
แต่ก่อนอื่นเลยเราไปทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าครับว่า "5 ขั้นของการสูญเสีย" หรือ "Five Stages of Grief" คืออะไร
Five Stages of Grief เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอโดย Elisabeth Kubler-Ross นักจิตวิทยาชาวสวิส-อเมริกัน และ David Kessler นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านความตายและความเศร้าโศก เดิมที่แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อตั้งใจจะใช้อธิบายลำดับความรู้สึกของผู้ป่วยหลังจากทราบว่าตนเองจะต้องตายในไม่ช้า แต่ในปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกนำมาประยุคใช้เพื่ออธิบายถึงการสูญเสียในรูปแบบอื่น ๆ อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัว เพื่อน สัตว์เลี้ยง เสียชื่อเสียง เสียเงินทอง สิ้นสมรรถภาพทางร่างกาย รวมไปถึงการสูญเสียความรักและการเลิกลา ฯลฯ
ขั้นที่หนึ่งคือ #Denial คือขั้นของการปฏิเสธความจริงหลังจากที่เกิดการสูญเสีย การปฏิเสธความจริงถือเป็นกลไกของร่างกายอย่างหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเกิดอาการช็อกที่รุนแรงจนร่างกายเรารับไม่ไหว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธการสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่จะเป็นในลักษณะของการเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งมากกว่า
แต่การปฏิเสธการสูญเสียในขั้นนี้ก็จะอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะสุดท้ายแล้วความจริงก็ย่อมพิสูจน์ตัวมันเอง แล้วความรู้สึกโศกเศร้าจากการสูญเสียก็จะกลับมาโจมตีเราอีกครั้ง
ขั้นต่อมาคือ #Anger เป็นขั้นของความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นกลไกการป้องกันของร่างกายอีกอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราระบายความรู้สึกอัดอั้นจากความสูญเสียและอาการช็อกในขั้นที่แล้วออกมาไม่ให้มันเก็บไว้มากเกินจนเรารับไม่ไหว โดยเรามักจะแสดงออกมาทั้งในรูปแบบของคำพูด สีหน้า ท่าทางหรือการกระทำ ไม่ว่าคนนั้นจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียของเรา เราอาจจะลงไม้ลงมือกับทั้งคน สัตว์ สิ่งของ แม้ในใจจะรู้ว่าเขาหรือสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสูญเสียของเรา แต่ความเจ็บปวดจากความสูญเสียที่อัดอั้นอยู่ทำให้เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมจากอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นได้
ขั้นที่ 3 คือ #Bargaining เป็นขั้นของการต่อรอง ขอร้อง อ้อนวอน เพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงความสูญเสียที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราปฏิเสธความจริงก็แล้ว ระบายอารมณ์ออกมาด้วยความโกรธก็แล้ว แต่ความจริงของการสูญเสียก็ยังคงอยู่ เราจึงท้อใจและเริ่มมองว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น จะเป็นไปได้มั้ยให้เราสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรเราก็ยอม แล้วถ้าย้อนเวลากลับไปได้จริงเราก็คงจะไม่เลือกอย่างนั้น จะตัดสินใจใหม่อีกครั้ง จะไม่ยอมให้เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก
การต่อรองในขั้นนี้มักมาพร้อมกับการตำหนิตนเองหรือการโทษตนเองว่าเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้เราอยากจะชดใช้ความรู้สึกผิดนั้น
ขั้นที่ 4 #Depression เป็นขั้นของความเศร้าโศกเสียใจ สิ้นหวัง ท้อแท้ เพราะสิ่งที่ขอร้องอ้อนวอนไปในขั้นที่แล้วไม่เป็นผล และความจริงเกี่ยวกับการสูญเสียก็ยังคงอยู่แม้เวลาจะผ่านไปซักพักแล้ว หลายคนเริ่มหมดหนทาง สิ้นความหวังหรือไร้เป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ หลายคนร้องไห้เพื่อต้องการระบายความเศร้าโศกที่ตนมีออกมาพลางตอบคำถามที่วนเวียนอยู่ในใจของเราซ้ำไปซ้ำมาว่า
"ฉันจะอยู่ต่อไปยังไง" "จะอยู่ต่อไปทำไม" "อยู่ต่อไปเพื่ออะไร เพื่อใคร" ฯลฯ
บุคคลรอบตัวหรือคนใกล้ชิดจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลช่วยเหลือ คอยให้กำลังใจ และช่วยให้เขารู้ว่าเขายังมีเราอยู่ข้าง ๆ ไม่ต้องถึงขั้นพยายามหาคำพูดเพื่อปลุกใจหรือทำให้เขากลับมาอารมณ์ดีอยากมีชีวิตอยู่ต่อก็ได้ แค่คอยรับฟังเขาอย่างจริงใจไม่ตัดสิน ไม่ต้องไปบอกว่า 'ชีวิตคนอื่นแย่กว่าแกตั้งเยอะเขายังอยู่ได้เลย!' ชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน แค่เรารับฟังเขาอยู่ข้าง ๆ เขาก็จะสามารถรับรู้ได้แล้วว่ายังมีคนที่ห่วงใยและคอยเป็นกำลังใจให้เขา
ขั้นสุดท้ายคือ #Acceptance เป็นขั้นที่เราเริ่มยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการสูญเสียนั้นจะได้รับการแก้ไขจนกลับมาสู่สภาวะปกติ และก็ไม่ได้หมายความว่าความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมาจะถูกลืมเลือนไปหมด จริง ๆ แล้วเรายังไม่ได้หายเศร้า เพียงแต่เราเข้าใจและยอมรับได้แล้วว่าการสูญเสียเป็นความจริงที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เราเรียนรู้และมองเห็นหนทางที่จะก้าวเดินต่อไปในชีวิต คำถามที่เราคร่ำคิดมาตลอดในขั้นก่อน ๆ จะถูกคิดทบทวนจนตกผลึกออกมากลายเป็นสัจธรรมนำชีวิตต่อไป
เช่น "ความจริงที่เกิดขึ้นคือ มันผ่านไปแล้ว เรากลับไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้และควรทำคือใช้ชีวิตต่อไปเพื่อเราและคนที่เรารัก"
แต่ถึงจะบอกว่าเป็น 5 ขั้นของการสูญเสีย ก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเกิดตามลำดับ 5 ขั้นนี้เรียงไปเหมือนกันทุกคนทุกเรื่อง บางคนอาจจะปฎิเสธก่อนแล้วข้ามไปขั้นต่อรองเลยก็ได้ หรือบางคนอาจโกรธก่อนแล้วไปเศร้าต่อ ลำดับขั้นและระยะเวลาในแต่ละขั้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ละเรื่องราว อยู่ที่ว่าเขาคนนั้นมีพื้นเพนิสัยยังไงและให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร
ดังนั้น "ถ้าเรายังยอมรับไม่ได้ในตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เราแค่ต้องการเวลาในการระบายความรู้สึกและเวลาในการเยียวยาจิตใจอักซักพัก"
"ยอมรับได้เร็วไม่ได้แปลว่าเราเก่งกว่าคนอื่น หรือยอมรับได้ช้าก็ไม่ได้แปลว่าเราจะด้อยไปกว่าใคร ถ้ายังยอมรับไม่ได้ก็คือยังไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเอง"
จาก 5 ขั้นที่ผมได้อธิบายไปข้างต้น เพื่อน ๆ พอจะนึกออกกันมั้ยครับว่ามีฉากไหนบ้างในหนังเรื่อง Spider-Man: No Way Home ที่แสดงให้เห็นถึง 5 ขั้นของการสูญเสีย?
มาเริ่มกันที่ขั้นแรกหรือขั้นของการปฏิเสธ จะเห็นได้ชัดจากตอนที่ #AuntMay โดนไกลเดอร์ทิ่มทะลุหลังต่อหน้าต่อตาของ #TomHolland เมื่อเห็นอย่างนั้นนุ้งทอมก็เกิดอาการช็อกและรับไม่ได้กับความจริงตรงหน้าที่ว่าป้าเมย์กำลังจะตาย "ไม่มีอะไร ป้าโอเค ป้าโอเค" และยังคงเรียกป้าเมย์ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้นหลังจากที่ป้าเมย์แน่นิ่งไป เพราะไม่อยากจะเชื่อว่าป้าเมย์ที่เขารักได้ตายลงไปแล้ว
ในขั้นของความโกรธ จะเห็นได้จากตอนที่นุ้งทอมโกรธมาก ๆ และอยากที่จะแก้แค้น #GreenGoblin โดยการเอาไกลเดอร์แทงทะลุตัวของเขาให้เหมือนกับที่เขาทำป้าเมย์ หรือย้อนกลับไปหน่อยในฉากบนดาดฟ้าตึกที่นุ้งทอมพูดว่า
"ฉันอยากจะฆ่าเขา อยากจะฉีกร่างเขาเป็นชิ้น ๆ ฉันยังคงได้ยินเสียงป้าในหัว"
ขั้นต่อรอง จะเห็นมาตั้งแต่ตอนต้นเรื่องเลยที่นุ้งทอมไปขอให้ #DoctorStrange หรือ #BenedictCumberbatch ช่วยย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ให้ตัวตนของเขาถูกเปิดเผย เพราะรู้สึกว่าสูญเสียชีวิตความเป็นส่วนตัวของทั้งตัวเขาเองและคนรอบข้าง หรือจะในฉากที่ป้าเมย์พึ่งตายไปหมาด ๆ นุ้งทอมก็พูดขึ้นมาว่า
"ป้าเมย์ ป้าตื่นมาคุยกับผมก่อน ได้โปรด"
ในขั้นเสียใจ ก็จะเป็นฉากที่นุ้งทอมปลีกตัวออกไปนั่งร้องไห้เสียใจอยู่คนเดียวบนดาดฟ้าตึก หรืออีกฉากนึงซึ่งเป็นฉากที่ผมชอบมากจนอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมา คือฉากที่ #MJ หรือ #Zendaya กำลังตกลงมาจากที่สูงแล้ว #AndrewGarfield ก็กระโดดลงไปรับเธอไว้ได้ทัน แต่มันก็ทำให้เขานึกถึงภาพจำตอนที่เขาช่วย #GwenStacy หรือ #EmmaStone ของเขาไว้ไม่ได้ จนน้ำตาจะไหลออกมา
จะเห็นได้ว่าถึงแม้เราจะยอมรับได้แล้ว กลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะลืมความเศร้าเสียใจที่เคยเกิดขึ้นไปทั้งหมด เมื่อมีเหตุการณ์หรือมีสิ่งมากระตุ้นให้นึกถึงภาพการสูญเสียเหล่านั้นก็อาจจะทำให้เรารู้ศึกเศร้าเสียใจขึ้นมาได้อีกครั้งเช่นกัน
และสุดท้ายในขั้นของการยอมรับ เราจะเห็นได้จากฉากการพบกันครั้งแรกของ
สไปเดอร์แมนทั้ง 3 คน แล้วนุ้งทอมก็พูดถึงการสูญเสียที่พึ่งเกิดขึ้นกับเขา พร้อมกับบอกกับสไปเดอร์แมนอีก 2 คนว่า "ได้โปรดอย่าบอกว่าพวกนายเข้าใจฉัน พวกนายไม่มีทางเข้าใจ" แต่ #TobeyMaguire และ #AndrewGarfield ก็ได้บอกกับทอมว่าพวกเขาเข้าใจและบอกว่าพวกเขาเองก็สูญเสียและเคยผ่านจุดนั้นมาเหมือนกัน ในตอนแรกพวกเขาก็ไม่สามารถที่จะยกโทษให้กับตัวเองที่ได้ ไม่สามารถที่จะยอมรับการสูญเสียเหล่านั้นได้ ความรู้สึกโกรธและความคิดที่อยากจะแก้แค้นก็เกิดขึ้นกับพวกเขาเหมือนกัน พวกเขาก็ใช้เวลาอยู่นานกว่าที่จะยอมรับได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับมาเป็น #Spiderman เพื่อนบ้านที่แสนดีที่คอยช่วยเหลือผู้คนต่อไป
"With great power comes great responsibility"
"พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง"
สุดท้ายนี้ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทุกคนในการทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไป เราจะเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ
"Just take a baby step." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor #psychology #จิตวิทยา #love #grief # #movie #SpidermanNoWayHome #MARVEL #MCU #SONY #Disneyplus | 015/2022 (มนุดปอ Ep.57)
อ้างอิง
- บทความ "The Five Stages of Grief™️" โดย David Kessler | grief.com
- บทความ "Mourning and the 5 Stages of Grief" โดย Sandra Silva Casabianca | psychcentral.com
- บทความ "5 ลำดับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ต่อความสูญเสียในชีวิต" โดย ดร.ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร | drpiyanan.com
- พอดแคส "5 ขั้นตอนทางจิตวิทยาของการอกหัก และถ้าเศร้าหนักเกินเยียวยาไปหาจิตแพทย์ได้ไหม" R U OK EP.13 | thestandard.co
- ภาพยนต์ "Spider-Man: No Way Home"
- หนังสือ "Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา" Carol S. Dweck
โฆษณา