21 ม.ค. 2022 เวลา 14:11 • ปรัชญา
“เข้าถึงสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร”
“ … เราภาวนาเห็นความจริง โลกนี้ไม่มีสาระแก่นสาร
กายนี้ไม่ได้มีสาระแก่นสาร จิตใจนี้ไม่มีสาระแก่นสาร
อย่างเราอยากได้อารมณ์ที่มีความสุขทางใจ ก็ไม่มีสาระแก่นสาร
สุขประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็ไม่สุขแล้ว
2
อย่างบางคนเปียแชร์ สมัยหลวงพ่อรับราชการ เขาชอบเล่นแชร์ หลวงพ่อไม่เล่นหรอกไม่รู้จะเล่นทำไม เขาเล่นแชร์กันแล้วก็พอเปียได้ หน้าใสอยู่หนึ่งวัน ถัดจากนั้นหน้าซีดคือส่งตลอด ไม่ได้เงินแล้วมีแต่เสียเงิน ความสุขนะแวบเดียวแล้วทุกข์อยู่ตั้งนาน เราไม่สนใจสุขอย่างนั้นหาสาระไม่ได้
ความสุขอะไรไม่เท่าความสงบ
ความสงบก็คือพระนิพพานนั่นเอง
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมฺชโช
เราภาวนาของเราทุกวันๆ มีความสุข เดินไปไหนก็มีแต่ความสุข ทำอะไรก็มีความสุข เดินไปทำงานมีความสุข หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ใครมาเข้าใกล้เราก็มีความสุขไปด้วย
ถ้าใจเราร่มเย็น ความร่มเย็นมันก็แผ่ซ่านออกไป ค่อยๆ ฝึกตัวเองก็ได้รับความสุขในปัจจุบัน มีความสุขอยู่ในปัจจุบัน จะตายไปก็มีความสุข ในอนาคตอย่างที่บอกเมื่อกี้ นิมิตไม่ดีเกิดสติเกิดเลย จิตตั้งมั่นขึ้นมาเกิดนิมิตที่ดีขึ้นแทน
ฉะนั้นเราภาวนาทุกวันๆ เรามีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต และยิ่งถ้าเราภาวนาดีได้มรรคผลนิพพาน เราจะมีความสุขอันยิ่งใหญ่ ความสุขอะไรก็ไม่เท่าความสงบ ความสงบก็คือพระนิพพานนั่นเอง
จิตพ้นแรงดึงดูด
นิพพานมีลักษณะอย่างไร
ถ้าตั้งคำถามบางคนว่านิพพานมีลักษณะอย่างไร
นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง มีปราสาทสวยงาม มีพระพุทธเจ้านั่งอยู่ข้างใน นิพพานอย่างนั้นนิพพานปลอม
สิ่งที่เรียกว่านิพพานๆ มันมีสันติลักษณะ มันมีลักษณะสงบ สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากรูปธรรมนามธรรมทั้งหมด เป็นบรมสุข
ค่อยๆ ฝึก แล้วเราจะเข้าใกล้ พระนิพพานไปเรื่อยๆ โลกมันก็พยายามต่อต้าน มันพยายามดึงดูดเราไม่ให้ไปนิพพาน ก็ต้องอดทนสู้กับมัน ค่อยๆ ต่อสู้ สะสมของเราทุกวันๆ
เหมือนเขาปล่อยจรวด ไปดูเวลาเขายิงจรวด ตอนที่ติดเครื่องยนต์ ให้จรวดเขยิบตัว โอ้โห ขึ้นยาก พ่นไฟพ่นควันอะไรออกมาเยอะแยะเลย พอมันขึ้นไปแล้วมันก็วิ่งเร็วขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ พอออกนอกโลกไปแล้ว หมดแรงดึงดูด วิ่งเร็วจี๋เลย
1
การภาวนานี้ก็เหมือนกัน เริ่มต้นนี้อืดมากเลยกว่าจะสงบสักนิดหนึ่ง ก็ยาก ทำอะไรก็ยากไปหมดเลย พอฝึกมากเข้าๆ มันเหมือนจรวดที่ปล่อยไปช่วงหนึ่งแล้ว ลอยสูงขึ้นไปแล้วห่างโลกออกไปแล้ว มันยิ่งเร็วขึ้นๆ จิตนี้ ก็เหมือนกันมันยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งโปร่ง เพราะใจมันไม่ยึดถือ มีความสุข
ความยึดถือก็เป็นแรงดึงดูด ยึดถือโลกมันก็ดึงดูดอยู่กับโลกนี่ล่ะ ยึดถือในกามโลก โลกอย่างที่คนทั่วไปรู้จัก ก็ติดอยู่ตรงนี้ ล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนั้น นึกว่ามีความสุขเสียเต็มประดาแล้ว ไปกินเหล้าเฮฮา มีความสุขเหลือเกิน
คนที่พัฒนาจิตใจแล้วสูงขึ้นมาจากตรงนั้น ก็เห็นว่ามันไม่มีสาระ ก็มีความสุขจากสมาธิแทน ความสุขจากความสงบระดับสมาธิ จนกระทั่งค่อยฝึกตัวเองต่อไปก็เห็นอีก ความสุขจากในสมาธิปัญญาหยั่งรู้ลงไปแล้ว มันก็ยังไม่ยั่งยืนอีกแล้ว ใจมันก็คลายคล้ายๆ ห่างโลกอันที่สอง ห่างโลกอันที่สามออกไป ในที่สุดก็พ้นโลก
คำว่าพ้นโลกก็คือคำว่า โลกุตตระนั่นล่ะ ใจก็มีความสุข มีความสงบมากขึ้นๆ เป็นลำดับไป
พระโสดาบันเทียบกับคนในโลกนี้ เทียบกันไม่ได้เลย คนในโลกน่าสงสารมากเลย
พอเป็นพระสกิทาคามีแล้วย้อนไปดูพระโสดาบัน พระโสดาบันก็น่าสงสารเหมือนกัน
เป็นพระอนาคามีก็เห็นพระสกิทาคามี ก็ยังน่าสงสาร
พอเป็นพระอรหันต์แล้วดูพระอนาคามี พระอนาคามีก็น่าสงสาร ยังเจือทุกข์อยู่
ยังเจือความปรุงแต่งอยู่ ยังไม่รู้ไม่เห็นปล่อยไม่ได้
เราค่อยๆ ฝึกจนกระทั่งวันหนึ่ง จิตเราหลุดพ้น
หลุดพ้นจากอะไร จากโลก จากรูปธรรมนามธรรมทั้งหยาบ ทั้งละเอียด จิตมันพ้น มันมีความสุข มันมีความสงบอยู่ในตัวเอง เป็นความสุขความสงบที่ไม่ต้องไปเที่ยวหาที่ไหน อยู่ตรงไหนก็มีตรงนั้น
เคยอ่านหนังสือเจอบอก “พระอรหันต์อยู่ที่ไหน ที่ตรงนั้นเป็นที่สัปปายะ ที่ตรงนั้นร่มรื่น ถ้าคนมีกิเลสอยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นเดือดร้อนวุ่นวาย เร่าร้อน” อันนี้ในคัมภีร์มหายานเขาก็มี
ในคัมภีร์มหายานเขาพูดถึงพุทธเกษตร พุทธเกษตรโลกของพุทธะ เรียกว่าโลกไปอย่างนั้นล่ะจริงๆ ไม่มีโลกหรอก สมมติให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย เรียกพุทธเกษตรดินแดนของพระพุทธเจ้า บอกว่าสาวกของพระพุทธเจ้าก็บอก
ทำไมพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ พุทธเกษตรของท่านลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เป็นเหว เป็นห้วย เป็นภูเขา ดูไม่ดีเลย เต็มไปด้วยสัตว์ที่แย่ๆ มากมาย ทำไมพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าบางองค์สบาย ราบเรียบ ไม่มีปุ่มปม ไม่มีอะไรวุ่นวาย สบาย บอกสาวกเห็นอย่างนี้ คิดว่าพระพุทธเจ้าของเราบารมีน้อย พุทธเกษตรของท่านไม่งาม นี้พวกพระโพธิสัตว์
ทางมหายานเขานับถือพระโพธิสัตว์ เขาจะดูถูกกระทั่งพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะพูดอะไรโง่ๆ ตลอดเลยในคัมภีร์มหายาน พระโพธิสัตว์บอกว่า โอย นี่เข้าใจผิดแล้ว พุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าเราก็เสมอกับพุทธเกษตรที่อื่นนั่นล่ะ มองไม่เห็นเอง
พุทธเกษตรตัวนั้นคืออะไร คือมหาสุญญตา มหาสุญญตาที่พระพุทธเจ้ากี่พระองค์สัมผัสมันก็อันเดียวกัน เสมอกันหมด ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีดำ ไม่มีขาวหรอก ไม่มีมืด ไม่มีสว่าง ฉะนั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน หรือพระอรหันต์อยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นก็คือพุทธเกษตร ที่ตรงนั้นล่ะสัปปายะ ถ้าพูดภาษาของเรา
ฉะนั้นบางที่สมัยหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่า ท่านเที่ยวแสวงหาติดตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นหลบไปจากจังหวัดอุบลฯ แต่เดิมสอนอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ แล้วท่านภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง บอกว่า ท่านได้พระอนาคามีแล้วไปต่อไม่ได้เพราะภาระเยอะ ลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ท่านเลยหนีออกธุดงค์ไปเลย
พวกลูกศิษย์ภาวนาไปช่วงหนึ่ง ติดขัดขึ้นมาคิดถึงหลวงปู่มั่น เที่ยวแสวงหาเที่ยวตาม เดินตามไปเรื่อยๆ ไปอยู่ป่าอยู่เขา ลำบากอย่างไรก็ตามที่ตรงนั้นเป็นที่ร่มรื่น เป็นที่ๆ ผู้ปฏิบัติเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข ทางร่างกายอาจจะอดๆ อยากๆ ไข้ป่าเยอะ ไม่สบาย แต่ทางจิตใจแล้วมันร่มเย็นเป็นสุข คล้ายๆ มีที่พึ่งที่อาศัย
ฉะนั้นอย่างพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ท่านอยู่ที่ไหน ที่นั่นร่มรื่น ทั้งๆ ที่เป็นแผ่นดินที่แห้งแล้ง กันดาร อดอยากอะไรก็ตามเถอะ แต่เข้าไปแล้วใจมันจะร่มรื่น
เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง ธรรมะอันนี้ไม่ใช่เฉพาะของพระ ไม่ใช่เฉพาะของผู้ใดผู้หนึ่งหรอก พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ขอเพียงเราอย่าหลงโลก แล้วตั้งอกตั้งใจภาวนาทุกวันๆ
พอเราไม่หลงโลก เราภาวนาไปเรื่อยใจก็คลายออกจากโลกเป็นลำดับไป เราจะเข้าถึงความสงบสุข แล้วต่อไปไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็สงบสุขตรงนั้น แล้วใครเข้าใกล้เรา ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนก็สงบสุขด้วย เข้ามาใกล้ก็มีความสุข
ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งเราจะได้รู้จักความสุขที่แท้จริง รู้ความสุขของโลกไม่มีสาระ ความสุขของฌานสมาบัติก็ยังไม่มีสาระที่แท้จริง
ความสุขจากการปล่อยวางรูปนามได้ ปล่อยวางโลกได้ เป็นความสุขที่มีสาระแก่นสาร เรายังไม่ถึงจุดนั้น เราภาวนาทุกวันๆ เราก็มีความสุขในปัจจุบัน ถ้าจะตายเราก็มีความสุข ไปเกิดในที่ๆ ดี ถ้าบุญบารมีเราพอ เราก็บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเฉพาะถึงพระนิพพานในชีวิตนี้ เป็นบรมสุข
ฉะนั้นเส้นทางเดินนี้เต็มไปด้วยความสุข แต่ก็เต็มไปด้วยขวากหนาม คือกิเลสทั้งหลายของเรา พยายามต่อสู้เอา. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 มกราคม 2565
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา