25 ม.ค. 2022 เวลา 07:24 • ปรัชญา
“ความยากอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะเลิกเพ่ง”
“ … พอหลวงพ่อพูดเรื่องดูจิตๆ มากขึ้น คนเรียนเรื่องจิตเยอะขึ้น ตอนนี้ก็มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีเกิดขึ้น
ด้านดีก็คือคนไปเอาธรรมะของครูบาอาจารย์ ธรรมะรุ่นเก่าๆ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ท่านสอนเรื่องจิตเอาไว้เยอะแยะเลย สอนเรื่องนี้เอาไว้เยอะเลย เอามาฟื้นฟูขึ้นมาอีก อันนี้เป็นเรื่องดี
เรื่องที่ไม่ดีก็คือบางคนยังไม่ได้รู้เรื่องจิตจริง ออกเที่ยวสอนเรื่องจิต สอนแล้วมันก็น้อมไปทางเพ่งทั้งนั้นเลย ไปคิดๆ เอา เข้าลักษณะคนตาบอดจูงคนตาบอดนั่นล่ะ พวกเราเรียนอย่าไปวอกแวกๆ เรียนที่นู่นที่นี่ เรียนเข้าที่จิตของเราเองเลย สังเกตที่จิตที่ใจของเราเอง
ไม่ต้องไปฟังใครมาก สำนักนั้นว่าอย่างนี้ สำนักนี้ว่าอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เอาคำว่าดูจิตเป็นคล้ายๆ เป็นสินค้าที่ขายดีมีสินค้าเลียนแบบเพียบเลย เยอะแยะไปหมดเลย อันไหนถูก อันไหนผิด วิญญูชนรู้ด้วยตนเอง วัดเอาว่าเราก้าวหน้าจริงไหม
หลวงพ่อเห็นบางที่เขาดูจิตๆ เขาก็ไปนั่งเพ่งจิตเอา หรือไปนั่งแต่งจิตเอา แต่งจิตให้เป็นอย่างนี้ๆ ใช้ไม่ได้หรอก ที่ไปนั่งแต่ง มันสุดโต่งไปข้างบังคับทั้งนั้น สุดโต่งไปข้างอัตตกิลมถานุโยค ยังไม่เข้าทางสายกลางจริงหรอก
เราสังเกตเอา ตอนนี้เราย่อหย่อนไป หรือเราตึงเครียดเกินไป สังเกตตัวเองเอา แล้วเรารู้ด้วยตัวเองแล้ว ถ้าย่อหย่อนไป เราก็หลงโลก ถ้าตึงเกินไป เราก็ลำบากกายลำบากใจ
แล้วทำอย่างไรจะพอดี พอดีทำไม่ได้ ให้เรารู้ทันตรงที่มันไม่พอดีแล้ว มันจะค่อยๆ พอดีเอง ยิ่งตอนหลงแล้วเรารู้ว่าหลงปุ๊บ พอดีทันทีเลย แต่ตอนเพ่ง รู้ว่าเพ่ง จิตมันเคยชินที่จะเพ่ง กว่ามันจะแก้ความเคยชินอันนี้ได้ ใช้เวลา
อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ อยู่แถวเมืองกาญจน์ อยู่ที่สวนโพธิ์ฯ หลวงพ่อก็สังเกตอย่างหนึ่ง คนที่ไม่เคยภาวนา มันจะเรียนง่ายกว่าคนที่เคยภาวนาเข้าวัดเข้าอะไรมามากๆ
คนไม่เคยภาวนา จิตมันฟุ้งซ่าน พอสอนกรรมฐานให้หน่อยเดียว รู้ว่าฟุ้งเท่านั้น จิตมันก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว ส่วนพวกที่ชอบเข้าวัดถนัดเพ่ง กว่าจะแก้การเพ่งการจ้องได้ใช้เวลา
ฉะนั้นในจุดตั้งต้น คนไม่เคยฝึกจะเร็วกว่าพวกเคยฝึก เพราะพวกที่เคยฝึกเกือบร้อยละร้อยคือนักเพ่ง กระทั่งพวกดูจิตๆ ก็เพ่งจิตแทบทั้งนั้น กว่าจะเลิกก็ใช้เวลา แต่ไม่ต้องเสียใจ คนที่เคยเพ่งมาก่อน พอปรับจิตใจเลิกเพ่งได้ กำลังที่เกิดจากการฝึกเพ่งมาก่อน มันมีกำลัง มันหนุน มันเสริม ทำให้เราดูจิต หรือดูกายได้ต่อเนื่อง
ส่วนพวกที่ไม่เคยฝึก นิสัยสันดานมันไม่ได้อยากภาวนาเท่าไหร่หรอก ก็เลยไม่เคยยอมไปฝึก พวกนี้ถึงจะจุดสตาร์ทง่าย แต่พอลงมือปฏิบัติจริง ไปไม่ค่อยรอดหรอก เพราะขี้เกียจ ทำแล้วก็เลิกๆ ไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นมันมีข้อดีข้อเสียคนละด้านกัน พวกไม่เคยฝึกมาเริ่มฝึกง่าย เพราะจิตใจไม่คุ้นเคยกับการบังคับเพ่งจ้อง แต่พอฝึกแล้วจะให้ภาวนาต่อเนื่อง ทำไม่ค่อยได้หรอก ใจมันจะเตลิดเปิดเปิงง่าย ไม่เคยสนใจ
ในขณะที่พวกนักเพ่งทั้งหลาย พวกนี้ชอบภาวนา ชอบปฏิบัติ ชอบเข้าวัด ชอบเข้าคอร์สอะไรอย่างนี้ จะมาเรียนให้เกิดทางสายกลางยาก บอกแล้ว อย่างถ้าเผลอ รู้ปุ๊บ เข้าทางสายกลางทันที แต่เพ่ง รู้ปุ๊บไม่เข้าหรอก ต้องปรับอีกช่วงหนึ่งเลย
ฉะนั้นจุดสตาร์ทพวกนี้ช้ากว่า แต่ว่าพอจิตเขาเข้าทางสายกลางแล้ว กำลังสมาธิที่ฝึกไว้ มันหนุน มันเสริม แล้วพวกนี้ใจชอบที่จะภาวนา ถึงได้ไปฝึกเพ่งมา เพราะฉะนั้นพวกนี้จะขยันภาวนา จะขยันกว่า สมาธิดีกว่า วิริยะจะดีกว่า ก็จะมาได้เปรียบกันตอนท้ายนี้ล่ะ ความยากมันอยู่ที่ว่าทำอย่างไรมันจะเลิกเพ่ง
เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา
เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วย
หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมฺชโช
บางคนหลวงพ่อก็แก้ให้ได้ บางคนก็ไม่ได้แก้ให้ มีคุณยายท่านหนึ่ง ท่านอายุ 87 ไปหาหลวงพ่อที่สวนโพธิ์ฯ ท่านภาวนาตั้งแต่ยังสาวๆ เป็นครูบาอาจารย์เดียวกับหลวงพ่อ ลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์
แล้วแกก็นั่งเพ่งของแกมา 60 ปีแล้ว แล้วแกมาฟัง ตอนนั้นเป็นเทป ยังไม่มีซีดี ฟังเทป แกได้ฟัง แกรู้ว่าแกเพ่ง อุตส่าห์ไปหาหลวงพ่อที่เมือง กาญจน์ บอกว่าให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ให้หน่อย จิตมันติดเพ่ง แกเก่งถึงขนาดว่าพอนั่งโลกธาตุดับ ทุกอย่างดับหมดเลย ชำนาญมาก ชำนาญกว่าหลวงพ่อเยอะเลย เพราะชั่วโมงบินแกเยอะ
ตอนนั้นหลวงพ่อดูแล้ว แก้ไม่ทันแล้ว คนที่ติดเพ่งมานานๆ อยู่ในโลกของความสงบสงัดภายใน โลกของฌาน ถ้าติดอยู่ตรงนั้นแล้วตอนที่ถอยออกมา ตอนที่แก้ จิตจะฟุ้งซ่านมากกว่าคนปกติ
คล้ายๆ มันไปติดความสงบอยู่แล้ว พอจะแก้ มันคิดดอกเบี้ยเรา มันฟุ้งเยอะกว่าคนธรรมดาอีก ฉะนั้นอย่างพวกเราจะเห็นบางคนเข้าวัด ชอบนั่งสมาธิ แต่มันขี้โมโห ขี้โมโหมากกว่าคนธรรมดาอีก หงุดหงิดเก่ง โมโหเก่ง ทั้งๆ ที่บอกชอบนั่งสมาธิ นั่นล่ะพวกมิจฉาสมาธิ พวกนั่งเพ่ง
1
คุณยายท่านนี้ ท่านเพ่งมา 60 ปี ดูแล้วอายุมากขนาดนี้แล้ว แก้ไม่ทัน ต้องใช้เวลาในการแก้ ถ้าแก้แล้วจิตหลุดออกมา ตอนที่จะจ่ายดอกเบี้ย จะต้องชดใช้ มันจะฟุ้งสุดขีดเลย แล้วแก้ไม่ทัน ตายไปด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านจะไปอบาย
หลวงพ่อแก้ให้แกนิดเดียว บอกต่อไปนี้อย่าให้ร่างกายหายไป นั่งสมาธิจิตรวม แต่เดิมรวมปุ๊บเดียว ร่างกายหายเลย โลกทั้งโลกก็หายหมดเลย เหลือแต่จิตอยู่ดวงเดียวอันนั้นเป็นอรูปพรหม ก็แนะแกบอกว่าอย่าทิ้งกาย ให้รู้สึกกายไว้ รวมลงไปก็ให้มีกาย
แล้วพอพระเมตไตรยมาตรัสรู้ อธิษฐานไว้เลยว่าพระเมตไตรยมาตรัสรู้เมื่อไร ให้รู้ขึ้นมา แล้วรีบมาฟังธรรม ตอนนั้นก็ให้พระเมตไตรยท่านแก้ให้ ตรงนั้นล่ะทัน ฉะนั้นบางทีก็แก้ไม่ไหว แก้แล้วเป็นโทษ
จุดสำคัญคือความสม่ำเสมอ
พวกเรายุคนี้หน้าตาเพ่งไม่เก่งหรอก ส่วนใหญ่พวกขี้เกียจ ทำบ้างไม่ทำบ้าง ส่วนใหญ่เป็นพวกฟุ้งซ่าน พอลงมือทำก็จะไปเพ่ง มันจะเหวี่ยงอย่างนั้น ฟุ้งมาก พอลงมือปฏิบัติจะเพ่งอัตโนมัติเลย ถ้าไม่ฟุ้ง ลงมือปฏิบัติ มันจะไม่เพ่งแรง อันนี้ในตำราไม่เจอ อาจจะมี แต่ไม่เจอ แต่เห็นมาจากพวกเรานี้ล่ะ
ช่วงไหนพวกเราปล่อยใจฟุ้งซ่านมาก พอตอนที่เรามาลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เราจะเพ่งแรง เพราะถ้าเพ่งไม่แรง จิตมันเตลิดเปิดเปิงหนีไปเลย แต่ถ้าเราภาวนาของเราทุกวันๆ สม่ำเสมอ ฝึกมีสติ มีจิตตั้งมั่น สม่ำเสมออยู่ เวลาเราลงมือปฏิบัติ มันจะไม่ต้องเพ่ง ก็ใช้จิตธรรมดาของเรานี้ล่ะ ภาวนาเข้าไปเลย
ถ้าเราวันๆ เราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อย แล้วมาลงมือปฏิบัติค่ำๆ มาลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็เพ่ง เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วยล่ะ หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง หลงแรงกว่าคนธรรมดาอีก น่าสงสาร
1
ฉะนั้นอะไรที่จะดีกับเรา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จุดสำคัญก็คือสม่ำเสมอ ถ้าทุกวันเราทำ แล้วเราเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็เจริญสติอยู่ ทำอะไรเราก็เจริญสติอยู่
จะกินข้าว จะขับถ่าย จะอาบน้ำ จะนอน จะแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรอย่างนี้ มีสติไปเรื่อยๆ มีจิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ปล่อยตามกิเลส ตามอินเทอร์เน็ตไป ตกค่ำเรามานั่งภาวนา ไม่ใช่เรื่องยาก จะภาวนาสบายไปเลย สงบสบาย
หรือบางทีก็ไปเดินปัญญา ตอนค่ำๆ ภาวนา ก่อนนอนอย่างนี้ แต่ถ้ากลางวันเราปล่อยจิตฟุ้งซ่านสุดขีด มานั่งภาวนา ถ้าไม่เพ่งอย่างแรงก็หลับ มันฟุ้งซ่านเต็มที่แล้ว จิตมันจะพักแล้ว ก็หลับ กลัวมันหลับ ไม่อยากให้มันหลับ ก็เพ่งให้แรง มีแต่เรื่องไม่พอดีทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นคำว่าสม่ำเสมอสำคัญมากๆ ปฏิบัติให้มันสม่ำเสมอไป จิตมันจะตั้งมั่นโดยที่ไม่ได้เจตนา ไม่ได้บังคับ เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งคำว่าสม่ำเสมอ ตั้งใจปฏิบัติทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไรภาวนาเมื่อนั้นแล้วการภาวนาจะง่ายขึ้นๆ
ถึงจุดที่เราได้จิตผู้รู้ ที่เข้มแข็งมาแล้ว เข้มแข็งไม่ใช่แข็งทื่อ เข้มแข็งหมายถึงมีจิตผู้รู้อยู่โดยไม่ได้เจตนาจะต้องมี มันมีเอง เราฝึกรู้เท่าทันจิตตัวเองเรื่อยๆๆ สมาธิที่ดีมันก็เกิดง่าย การดูจิตๆ มันได้สมาธิ ส่วนการดูจิตให้เกิดปัญญาเป็นอีกแบบหนึ่ง
การดูจิตเพื่อให้มีสมาธิ หัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วเราจะได้จิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง ได้จิตผู้รู้อย่างรวดเร็ว ส่วนจะเดินปัญญา จะดูจิตหรือดูกายแสดงไตรลักษณ์ ค่อยว่ากันอีกที
ฉะนั้นบางคนบอกไม่ชอบดูจิต ใช้ไม่ได้ พวกนี้ไม่เข้าใจ ตอนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ กระทั่งพระยังโวยวายว่าหลวงพ่อสอนข้ามขั้น จะดูจิตค่อยไว้ดูตอนเป็นพระอนาคามี ฟังครูบาอาจารย์มา ที่แท้การดูจิตดูใจ เรียนรู้จิตตัวเองมันคือจิตตสิกขา บทเรียนของพระพุทธเจ้า จิตตสิกขาทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง
พอเรามีสมาธิถูกต้องแล้ว ก็ถึงขั้นปัญญาสิกขา จะรู้ไตรลักษณ์ของรูป หรือจะรู้ไตรลักษณ์ของนาม ค่อยว่ากันอีกทีแล้วแต่ถนัด เพราะฉะนั้นคนละส่วนกัน
จะชอบคำว่าดูจิตหรือไม่ชอบก็ตาม ต้องเรียนเรื่องจิต มิฉะนั้นเราไม่มีทางได้สมาธิที่ถูกต้องหรอก หรือมี ก็มีโอกาสน้อย …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 มกราคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา