21 ม.ค. 2022 เวลา 10:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การลงทุนนั้น ไม่มีผิด ไม่มีถูก?
อยู่ที่มุมมอง
ตั้งแต่เปิดปีใหม่ 2565 มาเกินครึ่งเดือน มกราคม สิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้จากผลของการที่ประเทศสหรัฐ เริ่มมีทีท่าว่าจะทำการลด QE, การเริ่มจะกลับมาดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจและ การเริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมปีนี้
ซึ่งการพิมพ์เงินมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจโลกจนมากเกินไป แทนที่เงินจะเข้ามาในภาคเศรษฐกิจจริง ในที่นี้ผมหมายถึงเงินที่เข้ามาในภาคธุรกิจจริงๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจขนาดเล็กหรือSME ที่ไม่สามารถขอกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ได้เมื่อก่อนหน้านี้ และอื่นๆเป็นต้น
แต่เงินที่ล้นโลกนั้นกลับเข้ามาเก็งกำไร ในตลาดการลงทุนต่างเช่น หุ้น, ตราสารหนี้ทั่วโลกและ ตลาดคริปโต ซึ่งในมุมมองของผม (อาจจะยังมองไม่รอบด้าน) นั้นมีประโยชน์ไม่มากนัก แต่เมื่อถึงเวลาที่เงินส่วนใหญ่ต้องไหลกลับเมื่อใด ประเทศเหล่านั้นรวมถึงนักลงทุนอาจจะไม่สามารถตั้งตัวรับมือได้ทัน
ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับตลาดหุ้นต่างๆทั่วโลกและตลาดคริปโต ที่พี่ใหญ่อย่าง BTC ราคาตกลงมาเหลือแค่ 1.3 ล้านบาท ซึ่งครั้งหนึ่งเคยขึ้นไปเกิน 2 ล้านบาทต่อเหรียญ นักลงทุนที่ปรับตัวไม่ทันต้องติดดอยไปตามๆกัน แต่ในตลาดหุ้นยังโชคดีนิดหน่อยถ้าหุ้นที่เราถือบริษัทยังเติบโตได้ ถึงเราจะติดดอยเราก็ยังได้เงินปันผลเมื่อบริษัททำธุรกิจแล้วมีกำไร
แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อในบทความตอนนี้คือ การลงทุนนั้น ไม่มีผิด หรือถูกต้อง อย่างสมบูรณ์แบบตายตัว
ช่วงนี้ผมกำลังติดตามการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ข่าวสาร พัฒนาการต่างๆในโลกนี้จากนักวิชาการอิสระท่านหนึ่ง แล้วผมไปอ่านเจอใน Pantip ซึ่งมีหลายคนออกความคิดเห็นไปในทางไม่เห็นด้วยและอื่นๆ แต่สิ่งที่สะดุดตาผมคือ มีคนพูดว่า นักวิชาการท่านนี้พูดบ่อยๆว่ามีโอกาสเกิดวิกฤติตลาดหุ้น แต่สุดท้ายตลาดหุ้นสหรัฐก็ยังพึ่งขึ้นแบบ New High ตลอดที่ผ่านมา ถ้าเชื่อที่ท่านนี้พูดคงพลาดโอกาสการทำกำไรจากการลงทุน
ผมขอบอกก่อนว่า ถึงผมจะติดตามสื่อต่างๆที่นักวิชาการท่านนี้ให้สัมภาษณ์ แต่ผมก็ไม่ได้หลับหูหลับตาเชื่อทุกอย่าง มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกทุกท่านคือ อย่างน้อยที่สุดมันมีประโยชน์อย่างหนึ่งทั้งกับผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคือ ข้อมูล ข่าวสารที่อัพเดทได้ทันตามสถานการณ์ ครับ ถึงเราจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แต่เราก็รับแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้
ตั้งแต่ผมลงทุนในตลาดหุ้นมาเกือบ 9 ปี สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจคือ ถ้าทุกคนเก่งเรื่องการลงทุนเท่ากันหมด สิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างหมู่นักลงทุนเหล่านี้คือ ความรวดเร็วในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ซึ่งปกติบางครั้งข่าวสารพึ่งออกมาแต่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นรับข่าวไปก่อนแล้ว นั่นก็เพราะว่าคนบางกลุ่มได้รับรู้ข่าวสารกันก่อนแล้ว
ที่นี้ย้อนกลับมาเรื่องที่สะดุดตาผมและโยงเข้ากับเรื่องหลักของบทความ
การที่คุณจะคิดว่าตลาดหุ้นก็พุ่งขึ้นตลอดที่ผ่านมาเพราะฉะนั้นเราก็ลงทุนไปเลยเพื่อจะได้ทำกำไรได้ และอีกกลุ่มคือผู้ที่ชะลอการลงทุนเก็บเงินสดบางส่วนรอโอกาสช้อนซื้อหุ้นในวันที่ตลาดหุ้นพังลงมา นั้นทั้งสองความคิดนี้ไม่ผิดและไม่ถูก แต่สิ่งที่ถูกจริงๆคือ จังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละมุมมองที่ต่างกัน
จากมุมมองผู้ที่ต้องการลงทุนในตอนนี้หรือก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นไป ก็ต้องรู้เหตุผลของมันในระดับหนึ่งด้วยว่า ที่ตลาดหุ้นขึ้นเพราะ เงินอัดฉีดที่ล้นจนเข้าไปในตลาดหุ้น, อัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ, หุ้นเทคที่ขึ้นมหาศาลส่วนหนึ่งนอกจากความล้ำสมัยเป็นเทรนด์ต่อไปของโลกก็คือ ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำจากอัตราดอกเบี้ยด้วย เป็นต้น เมื่อเรารู้เหตุผลในการลงทุน เราก็จะรู้ว่าเราควรเข้าลงทุนตอนไหน และทำกำไรออกมาจากตลาดก่อนที่ปาร์ตี้จะจบลงตอนไหน
ส่วนผู้ที่พูดบ่อยๆว่า ตลาดหุ้นแพงเกินไปแล้ว Wait and See ดีกว่า นั้น ก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะพวกเขามองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเหมือนการสร้าง Cash Machine เครื่องผลิตเงินให้กับพวกเขา ซึ่งก็มาจากเงินปันผลนั้นเอง ส่วนเรื่องกำไรจากส่วนต่างราคาก็เป็นผลพลอยได้ที่เพิ่มขึ้นจากกิจการที่โตขึ้นและกำไรจากการดำเนินงานที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะพลาดโอกาสทองช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นไปสูงมากๆก็ตาม เพราะพวกเขามองว่า การที่ใส่เงินเข้าไปในหุ้นที่ราคาแพงจนเกินไป (PE สูงลิ่ว) เมื่อเทียบกับผลตอบแทนส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทที่ทำได้ผ่านเงินปันผลนั้น ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่พวกเขาต้องรับ แต่ถ้าราคาหุ้นตกลงมามากๆ แต่บริษัทยังทำกำไรได้เท่าเดิม ถ้าพวกเขาเข้าซื้อหุ้น เขาก็จะได้จำนวนหุ้นที่มากขึ้นและเงินปันผลที่มากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม นักลงทุนแนว VI อย่าง ดร.นิเวศน์ และนักลงทุนท่านอื่นๆที่เป็นสไตล์ที่ลงทุนแบบรัดกุมเน้นปลอดภัย จึงชอบพูดถึงและเปรียบเทียบ PE ของตลาดหุ้นแต่ละประเทศ และ PE ของหุ้นแต่ละตัว ว่าแพงเกินไปหรือยังนั่นเอง (แพงไม่แพงนอกจากราคาหุ้นแล้วยังอยู่ที่ประเภทของหุ้นอีกด้วย เช่น หุ้น Super Stock PE 30 เท่า อาจจะยังไม่แพง เพราะบริษัทนั้นโตได้อีก แต่อาจจะแพงสำหรับหุ้นตัวอื่นๆ)
สรุป ที่ผมอยากจะบอกคือ ทุกคนมีสไตล์การลงทุนเป็นของตนเอง และจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนของแต่ละแบบก็ไม่เหมือนกัน ไม่พร้อมกัน เมื่อใดที่เราลงทุนได้ถูกจังหวะเวลาตามสไตล์ของเราแล้ว ผลตอบแทนที่ดีย่อมมาแน่นอน และนั่นก็เป็นสิ่งที่ถูก
แต่ถ้าคุณลงทุนผิดเวลา ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ถึงคุณจะเก่งแค่ไหน การลงทุนในครั้งนั้นก็คือ สิ่งที่ผิด ! นั่นเองครับ
ขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่กดติดตามเพจ เป็นกำลังใจให้ผมเขียนบทความเหล่านี้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา