21 ม.ค. 2022 เวลา 21:57 • ปรัชญา
“ศาสนาสอนให้เราเห็นความจริงของกายและใจ”
ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราดูตัวเราตอนที่เราเป็นเด็กกับตอนนี้ เราจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เป็นคนๆเดียวกัน ร่างกายเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ เดี๋ยวก็เก่า ใช้ไปนานๆเข้าก็ขาด นี่คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เจริญเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อม ในที่สุดก็สลายไปหมด
ร่างกายเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นคนแก่ แล้วในที่สุดก็ตายไป นี่คือเรื่องอนิจจัง นอกจากเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแล้ว ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วย แต่เราหลงไปยึดไปติดว่าเป็นตัวตน เมื่อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เราก็เสียใจ เราก็ทุกข์ เพราะไม่อยากจะให้เป็นไปในทางนั้น เราอยากจะให้ร่างกายแข็งแรง สวยงาม สดชื่น อยู่ตลอดเวลา
แต่ร่างกายก็ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา เดี๋ยวอีกหน่อยผมก็ขาว ผมก็ร่วง หนังก็เหี่ยว ไม่มีกำลังวังชาที่จะทำอะไร เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องนอนบนเตียง แล้วในที่สุดก็ไม่หายใจ เวลาเอาไปฝัง ก็สลายกลับไปสู่ดิน น้ำในร่างกายก็ซึมลงไปในดิน ร่างกายนี้เมื่อพิจารณา ก็จะเห็นว่าเป็นธาตุ ๔ นั่นเอง ดิน น้ำ ลม ไฟ มาทางอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แล้วก็เปลี่ยนเป็น อาการ ๓๒ เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น
ศาสนาสอนให้เราเห็นความจริงของกายและใจ ไม่ให้ไปฝืนความจริง ถ้าฝืนแล้วจะทุกข์ คนที่ยังต้องไปเสริมอะไรต่างๆ เช่นไปดึงหนังดึงหน้าให้ตึง ไปย้อมผม เป็นการพยายามฝืนความจริง ไม่ยอมรับความจริงว่าจะเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ตลอด เพราะต้องเปลี่ยนไป แต่เขาไม่ยอม ยังอยากจะสาว ยังอยากจะหล่ออยู่ จึงต้องพยายามหาอะไรต่างๆมารักษาร่างกายไว้ ไม่ให้เสื่อม แต่จะรักษาอย่างไรก็สู้กับความจริงไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องตายไปด้วยกันทุกคน
แต่ถ้าเรายอมรับได้ ใจเราก็จะสบาย ใจเราก็จะเฉยๆ ไม่ทุกข์ เพราะระงับดับตัณหา ต้นเหตุของความทุกข์ได้ กำจัดความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่ให้มีอยู่ในใจได้ ยอมรับความจริงของร่างกาย ใจก็จะไม่มีอุปาทาน “ในอริยสัจ ๔” พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยสรุปว่า ทุกข์เกิดจากอุปาทานการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้เอง
จุลธรรมนำใจ ๒, กัณฑ์ที่ ๒๓๐
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา