23 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
John F. Kennedy ประธานาธิบดีขวัญใจคนอเมริกันตลอดกาล Blockdit Originals by Bnomics
การพิชิตใจประชาชนควรต้องใช้เวลาเท่าใด? คนดังหลายคนอาจจะใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปี หรือบางคนต่อให้ใช้เวลาทั้งชีวิตก็ยังไม่อาจเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนได้
แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีประธานาธิบดีผู้หนึ่งที่ต่อให้จะได้รับโอกาสรับใช้ประชาชนในตำแหน่ง เพียงสั้นๆ แค่ 3 ปีเศษ แต่ก็ยังเป็นขวัญใจของผู้คนตลอดมา ประธานาธิบดีผู้นั้นก็คือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี
1
📌 ช่วงชีวิตก่อนเข้ารับตำแหน่ง
จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) หรือที่หลายคนจะเรียกเขาสั้นๆ ว่า JFK เป็นลูกคนที่สองจากเก้าคนของ โจเซป แพทริค เคนเนดี (Joseph Patrick Kennedy) เศรษฐีและนักการเมืองของพรรคโดเมแครต และคุณแม่ Rose Elizabeth Fitzgerald Kennedy ที่เป็นลูกสาวของอดีตนายกเทศมนตรีบอสตัน
ทั้งพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี และวิธีการเลี้ยงลูกที่เน้นให้เกิดการแข่งขันกันเอง มีส่วนสำคัญ ที่ช่วยขัดเกลาให้ JFK กลายมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเวลาต่อมา
โดยหลังจากที่ JFK เรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในปีค.ศ. 1940 เขาก็ได้เข้าร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งที่แห่งนี้ เขามีโอกาสได้เป็นผู้บังคับบัญชาการ บังคับการเรือลาดตระเวนตอร์ปิโด ในเขตสงครามแปซิฟิก
และก็ได้เผชิญกับเหตุการณ์สำคัญ ที่แสดงความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าออกมาครั้งแรกๆ หลังจากที่เรือลาดตระเวนของพวกเขาถูกโจมตีจนอับปางลง
ทำให้ร้อยโทเคนเนดี (ยศในขณะนั้น) ที่มาติดอยู่บนเกาะกับลูกเรือจำนวนหนึ่ง ได้ทำการสลักข้อความลงบนเปลือกมะพร้าว และฝากให้คนพื้นเมืองสองคน นำไปส่งฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใกล้ที่สุด จนนำมาสู่การช่วยเหลือ และ JFK ก็ได้รับเหรียญรางวัลจากกองทัพเรือ
โดยเปลือกมะพร้าวที่ถูกสลักข้อความนั้น ก็ถูกนำมาเคลือบและถูกใช้เป็นที่ทับกระดาษ ในช่วงที่ JFK ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
1
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นเล็กน้อย ครอบครัวของเคนเนดี มีการเลี้ยงลูกที่เน้นให้เกิดการแข่งขัน และก็ตั้งความคาดหวังกับลูกๆ ไว้อย่างสูง โดยในตอนแรกคุณพ่อของ JFK หมายมั่นปั้นมือว่า จะช่วยส่งเสริมให้ลูกชายคนโตได้เดินตามเส้นทางทางการเมือง
อนิจจัง พี่ชายคนโตในตระกูลถึงแก่กรรมเสียก่อน ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความคาดหวังนี้ถูกส่งต่อมาที่ JFK ที่ในตอนแรก มีความฝันอยากจะทำงานด้านสื่อมวลชน
แต่แม้ทางเดินจะเปลี่ยน JFK ก็ไม่ทำให้ครอบครัวของเขาผิดหวัง เพราะตลอดช่วงชีวิตของเขา เขาไม่เคยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ไล่ตั้งแต่การลงสมัครสภาผู้แทนราษฎร ที่เขาสามารถเอาชนะได้ตั้งแต่อายุ 29 ปี และก็ได้รับเลือกติดต่อกันสามสมัยซ้อน
แต่แค่สภาผู้แทนราษฎร ก็มิอาจหยุดยั้งความทะเยอทะยานของเด็กหนุ่มจากบอสตันคนนี้ได้ เมื่อเขาได้ทำการท้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกปี 1952 กับเจ้าของตำแหน่งเดิมที่ได้รับความนิยมอย่าง Henry Cabot Lodge, Jr. โดยอย่าง “Kennedy teas”
1
ซี่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาก็สามารถเอาชนะไปได้ด้วยส่วนต่างกว่า 70,000 คะแนน
และการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตก็มาถึง เมื่อ JFK ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1960
โดยประเด็นสำคัญในตอนนั้นที่ทาง JFK เสียเปรียบเป็นอย่างมาก ก็คือ เรื่องของการขาดประสบการณ์การต่างประเทศและการทูต ที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในภาวะสงครามเย็น และก็การที่เขานับถือนิกายคาทอลิก ซึ่งสร้างความกังวลว่า จะทำให้เกิดการครอบงำจากทางวาติกันหรือเปล่า
แต่ JFK ก็ดำเนินการหาเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการวางภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดีเสมอ เมื่อต้องออกสู่สาธารณชน และปัจจัยนี้เองเป็นหัวใจ ที่ทำให้ JFK สามารถเอาชนะในการดีเบท กับคู่แข่งที่เป็นอดีตรองประธานาธิบดีในสมัยก่อนอย่าง ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon)
และหมัดเด็ดที่ช่วยให้เคนเนดี เอาชนะในตอนท้ายได้อย่างเฉียดฉิวแค่ 118,550 โหวตเท่านั้น (จากคนโหวตทั้งหมดกว่า 69 ล้านคน) ก็คือ การตัดสินใจที่จะสนับสนุนให้ Coretta Scott King ภรรยาของ Martin Luther King, Jr. ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวสามีของเธอ
เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อของคิงส์ ออกมาสนับสนุน JFK ด้วย จึงตามมาด้วยการโหวตจากประชาชนเชื้อสายอเมริกันแอฟริกันให้กับ JFK อย่างถล่มถลาย
📌 ปัญหาภายนอกประเทศ
ในตอนต้นของการเข้ารับตำแหน่ง ปัญหาสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียด
ยังคุกรุ่นเหมือนถ่านไฟแดงๆ ที่พร้อมจะติดไฟอยู่ตลอดเวลา
โดยความท้าทายแรก ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ เกิดขึ้นที่การบุกอ่าวหมู (Bay of Pigs invasion) ที่ทางสหรัฐฯ ทำการฝึกชาวคิวบาที่อพยพออกมาจากประเทศ ให้กลับเข้าไปสร้างความปั่นปวน เพื่อไว้ให้รัฐบาลที่มีโซเวียดหนุนหลังอยู่ของนายฟิเดล คาสโตร ให้ล้มไป
ซึ่งแม้ JFK จะไม่ได้เห็นด้วยกับปฏิบัติการณ์นี้เต็มร้อย เนื่องจากแผนการถูกเตรียมมาตั้งแต่ยุคสมัยปธน. คนก่อนหน้าแล้ว แต่หลังจากที่ภารกิจล้มเหลว เขาก็ออกมายืดอกรับความผิดแต่เพียงผู้เดียว
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ประกอบกับแนวคิดของตัว JFK เอง ที่ไม่สนับสนุนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ในการพบปะกับประธานาธิบดีรัสเซียในปีค.ศ. 1961 ที่กรุงเวียนนา หลายคนออกมาวิพากษ์ว่า “JFK ดูเป็นผู้นำที่อ่อนแอ”
อย่างไรก็ดี หลังจากวิกฤติขีปนาวุธคิวบา ก็ทำให้สถานการณ์การเจรจาเรื่องขีปนาวุธเปลี่ยนไป
โดยในตอนนั้น เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ได้สำรวจเจอ ฐานยิงขีปนาวุธที่ถูกก่อสร้างที่คิวบา ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศอย่างสูง ซึ่งหลายคนบอกว่า ในช่วงวิกฤติตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่โลกเราเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์มากที่สุด
แต่ด้วยการเจรจากันที่สุดท้ายต่างฝ่ายต่างยอมถอยกันคนละก้าว ทางด้านโซเวียดก็ยอมถอยออกจากคิวบา ทางสหรัฐฯ ก็ยอมที่จะถอยออกจากตุรกี (สหรัฐฯ มีทางยิงขีปนาวุธที่นั่น) และยืนยันที่จะไม่บุกคิวบาอีกต่อไป ทำให้โลกรอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์มาได้
พอจบเหตุการณ์วิกฤติครั้งนี้ เลยทำให้ทางสหรัฐฯ สหภาพโซเวียด รวมถึงสหราชอาณาจักร บรรลุข้อตกลงจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ (Nuclear Test Ban Treaty) ได้ในปีค.ศ. 1963
อีกหนึ่งนโยบายการต่างประเทศ ที่ส่งเสริมตัวตนของ JFK ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น คือ การส่งชาวอเมริกาออกไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ในโครงการที่เรียกว่า “Peace Corps” ซึ่งส่วนหนึ่งที่มีความคิดริเริ่มนี้ขึ้นมา ก็เพราะ JFK เห็นว่า โซเวียดพร้อมที่จะส่งคนไปพัฒนาพันธมิตรคอมมิวนิสต์ของตัวเอง แต่อเมริกาไม่มีเลย
โดยสองประเทศแรกที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ก็คือ Tanganyika (ปัจจุบันคือ Tanzania) และประเทศ Ghana
1
📌 การแก้ไขปัญหาในประเทศก็ยากไม่แตกต่างกัน
ประเด็นทางสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่างมากในช่วงของ JFK เพราะถ้าขาดเสียงของคนกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิในตอนนั้นไป JFK ก็คงไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี คะแนนเสียงในมือของ JFK ก็เป็นเสียงที่ปริ่มน้ำ จะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เสียเสียงที่สนับสนุนส่วนอื่นไปด้วย โดยเฉพาะรัฐทางใต้ ที่ยังมีแนวคิดเรื่องคนแอฟริกันอเมริกันหลากหลาย
สิ่งที่ทาง JFK ทำในช่วงแรกก็คือ การพยายามค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างของคนทำงานในรัฐบาล โดยการสนับสนันคนแอฟริกันอเมริกันเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงมากขึ้น
ซึ่งต้องขอบคุณการเคลื่อนไหวของ Martin Luther King, Jr และหนึ่งในสุนทรพจน์ที่ได้รับการยอมรับว่าใหญ่ยิ่งที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ “I have a dream” ที่อนุสรณ์สถานลินคอล์น (the Lincoln Memorial) ด้วย ที่ทำให้บรรยากาศมันสุกงอมมากขึ้น
จนทำให้ทาง JFK สามารถผลักดันกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้าสู่การพิจารณาได้ในปี 1963 พร้อมทั้งสุนทรพจน์ที่แสดงแนวคิดการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน โดยมีบางส่วนที่ถามไปยังชาวอเมริกาว่า
“อเมริกันชนทุกคนควรจะเข้าถึงสิทธิและโอกาสได้อย่างเท่ากันไหม และท่านจะดูแลเพื่อนอเมริกันชนอย่างที่ท่านอยากได้รับการดูแลหรือเปล่า... ระยะเวลากว่าร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ลินคอล์นปลดเปลื้องภาระทาส แต่ลูก หลาน และทายาทของพวกเขาหาได้มีอิสระอย่างเต็มที่”
(“The heart of the question is — whether all Americans are to be afforded equal rights and equal opportunities. Whether we are going to treat our fellow Americans as we want to be treated… One hundred years of delay have passed since President Lincoln freed the slaves, yet their heirs, their grandsons, are not fully free….”)
John F. Kennedy
อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญที่ JFK ได้ทำสำเร็จแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงกันมากทั้งเรื่องที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ก็คือ บทบาททางด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง JFK ได้กระตุ้นเครื่องยนต์ของประเทศขึ้นมาจากความตกต่ำของเศรษฐกิจในปี 1958 ในสมัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์ (Dwight Eisenhower)
ที่ถึงแม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปแล้ว แต่อัตราการว่างงานของคนอเมริกาก็ยังอยู่ที่ 6.8% และก็ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6% ในช่วงปีค.ศ. 1963
ซึ่งก็เป็นเวลาประจวบเหมาะพอดีหลังจากที่ JFK สามารถสะสางปัญหาขีปนาวุธได้ ทำให้เคนเนดีหันมาจัดการกับแคมเปญทางเศรษฐกิจของตัวเองในชื่อ “getting America moving again”
แต่เพื่อให้เข้าใจนโยบายในปีค.ศ. 1963 ชัดขึ้น ต้องเข้าใจแนวนโยบายในช่วงก่อนหน้าของ JFK ด้วย โดยในยุคก่อนหน้าของประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์ เขาเชื่อในการรักษาการใช้จ่ายภาครัฐแบบสมดุล
ทำให้ในช่วงแรกของ JFK ที่พยายามผลักดันนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ ก็เริ่มทำได้ยากจนความพยายามบางอย่างก็ไม่ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา
1
แต่ทาง JFK ก็รอเวลาของเขา เหมือนกับตอนที่รอเวลาในการเจรจาขีปนาวุธกับโซเวียด เมื่อถึงเวลาที่ประจวบเหมาะ เขาก็นำเสนอนโยบายอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเสนอให้ทำการลดภาษีทั้งรายได้บุคคลธรรมดา (จากสูงสุด 91% เหลือ 70%) และภาษีนิติบุคคลลง (จาก 52% เหลือ 48%)
อย่างไรก็ดี ตัว JFK ไม่ได้มีโอกาสเซ็นกฎหมายสำคัญทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและภาษีด้วยตัวเอง เนื่องจากเขาถูกลอบสังหารก่อนในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1963
แต่ด้วยมรดกและภาพลักษณ์ที่เขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ก็ทำให้อเมริกันชนยังชื่นชอบในตัวของเขาตลอดมา โดยจากโพลของ YouGov ที่พึ่งจัดทำปีก่อน JFK ก็ยังติดมาเป็นอันดับสอง ประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นรองเพียงแค่อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เพียงคนเดียวเท่านั้น
ท้ายที่สุดขอปิดท้ายด้วย อีกหนึ่งวิวาทะอมตะของ JFK ที่กล่าวไว้ในตอนปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งว่า
อย่าได้ถามเลยว่าประเทศทำอะไรให้คุณบ้าง แต่จงถามเถิดว่าคุณทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง
(“Ask not what your country can do for you – ask what you can do for your country.”)
John F. Kennedy
2
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ :
1964 Warren Commission report (Government printing office)
โฆษณา