22 ม.ค. 2022 เวลา 16:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
STOCK INSIGHT : ทำความรู้จัก OpEx ! การหมดอายุของสัญญา Options หุ้นหรือที่คนไทยเรียกว่า DW ที่พึ่งเกิดขึ้นในตลาดสหรัฐฯ โดยมีมูลค่ากว่า 100 ล้านล้านบาท ! ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงตั้งแต่ต้นปีมานี้ !
1
แม้แต่คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็อาจยังไม่เคยได้ยินคำว่า OpEx เลย ! ซึ่งคำนี้ย่อมาจาก Options Expired หมายถึงการหมดอายุของตัวสัญญา Option ซื้อขายหุ้นในตลาดการเงิน และเป็นเหตุการณที่พึ่งเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ !
สำหรับใครที่ยังงงหรือเป็นมือใหม่ในตลาด Options นั้น World Maker ขออธิบายง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจดังต่อไปนี้
1. ตลาด options นั้นจะมีสัญญาซื้อขายอยู่ 2 แบบคือ call options (สิทธิในการซื้อหุ้น) และ Put options (สิทธิในการขายหุ้น)
1
2. ซึ่งนักลงทุนจะเข้าไปเป็นผู้ซื้อ Call หรือ Put option นี้ และเมื่อใดที่นักลงทุนมีการซื้อหรือขาย Options นั้น ในอีกด้านหนึ่งของการค้าคือ Market Maker (ผู้ดูแลสภาพคล่อง) จะต้องเข้าไปทำ Delta-Hedging ในทิศทางตรงกันข้ามกับนักลงทุนเสมอ
3. Delta Hedging หมายถึงการที่ Market Maker ต้องซื้อ/ขายหุ้นของบริษัทใด ๆ ก็ตามที่นักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นลูกค้าของ Brokers เทขายสัญญา Call/Put Options ออกมา เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการขาดทุนจากการสร้างสภาพคล่องนั่นเอง เนื่องจาก Market Maker นั้นต้องเข้าไปซื้อกลับ options ที่นักลงทุนเทขายออกมา จึงต้องป้องกันความเสี่ยงโดยการเปิด Position ตรงกันข้ามกับการซื้อขายของนักลงทุนในตลาด options
1
4. ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก Market Maker ไม่ต้องการขาดทุนจากความเคลื่อนไหวด้านใดด้านหนึ่งของราคา ในขณะที่พวกเขาต้องทำหน้าที่ซื้อหรือขาย call/put options ตาม Demand ของนักลงทุนเพื่อ Match Order ในตลาด
1
5. ดังนั้นเมื่อเกิดการซื้อหรือขาย options พร้อม ๆ กันในวันเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวันหมดอายุ options เนื่องจากนักลงทุนจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิใน Call หรือ Put หรือจะเลือกขายตัว options นั้นกลับมา และโดยส่วนมากนักลงทุนจะเลือกขายทำกำไร จึงทำให้ Market Maker ต้องทำ Delta-Hedging นั่นเอง
2
โดย OpEx ครั้งล่าสุดนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะสัญญา Option ที่หมดอายุไปนั้นมีมูลค่ารวมกันถึงประมาณ 100 ล้านล้านบาทหรือ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ! โดยคิดเป็นการหมดอายุของ options ดัชนีรวม 60 ล้านล้านบาท (ประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์) และอีก 40 ล้านล้านบาท (ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์) คือการหมดอายุของ options หุ้นรายตัวในสหรัฐฯ
ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากการเปิดเผยของ Goldman Sachs โดยบริษัทกล่าวว่ามีสัญญา Options ที่เกิด OpEx เชื่อมโยงกับ S&P 500 เป็นมูลค่ารวมราว ๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 2.4 แสนล้านดอลลาร์เป็น OpEx ที่เชื่อมโยงกับกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก็คือ SPDR S&P 500 ETF Trust และ OpEx ที่เหลือเชื่อมโยงกับ options ดัชนีอื่น ๆ รวมถึงหุ้นรายตัว
2
สาเหตุของการที่ OpEx ในวันศุกร์ที่ผ่านมามีปริมาณมหาศาลเช่นนี้ เกิดจากการที่ Options ของหุ้นในสหรัฐฯ นั้นมักจะมีการออกขายล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี และตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่า FED ทำ QE อัดเงินเข้าระบบสูงมาก ดังนั้นจึงมีนักลงทุนหลายคนที่ใช้ประโยชน์จากเงินส่วนนี้ไปซื้อ Call Options หุ้นไว้เรื่อย ๆ
แน่นอนว่าการหมดอายุของ Options นั้นถือว่ามีมูลค่ามหาศาล แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เราไม่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าการหมดอายุของสัญญา Options กว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์คือปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลง เพราะมีอยู่หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ OpEx ขึ้นแต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ร่วงลง
อย่างไรก็ตาม OpEx มักถูกพูดถึงการแง่ของการความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้น (ทั้งในขาขึ้นและขาลง) ซึ่งหากดูจากภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เกิด OpEx (ในวงกลมสีเทา) ดัชนี S&P 500 มักเคลื่อนไหวโดยมีความผันผวนสูงกว่าปกติ
นักยุทธศาสตร์ของ Goldman นำโดย Vishal Vivek ให้ความเห็นในประเด็นนี้เอาไว้ในวันศุกร์ว่า
“การหมดอายุของวันนี้อาจมีความสำคัญสำหรับหุ้นที่มี Open Interest* อยู่ในสถานะ at-the-money (ATM) options** การทำ Delta Hedging ต่อสัญญา options ขนาดใหญ่ของ Market Maker จะอยู่ในภาวะ Active ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความผันผวนในหุ้นบางตัว และในขณะเดียวกันก็ทำให้ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทวีความรุนแรงขึ้นในที่อื่น ๆ”
1
(Today’s expiry could be important for stocks with large open interest in at-the-money (ATM) options, Market makers’ delta-hedging large options portfolios will be active. This flow is likely to dampen volatility in some names while exacerbating stock price moves in others.)
* Open Interest : ในที่นี้หมายถึง Position หรือตำแหน่งการซื้อขายที่เปิดอยู่ในตลาด options
** at-the-money (ATM) options : หมายถึง เมื่อราคาตลาด (market Price) ของสินค้าอ้างอิง (หุ้น) เท่ากับหรือใกล้เคียงกับราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ของ options ซึ่งผลของสถานะ At-the-money ก็คือ ไม่ว่าผู้ซื้อ Options จะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ ก็จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้เท่ากับ 0 โดยในกรณีนี้ถือเป็นความเสี่ยง เนื่องจากหากเกิดการเทขาย Options ก็จะทำให้ Market Maker ต้องเข้าไปทำ delta hedging ต่อนั่นเอง
ทั้งนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลาด Options หุ้นสหรัฐฯ นั้นมีขนาดใหญ่มาก และยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา และนั่นหมายถึงปริมาณเงินเก็งกำไร (รวมถึงเงินป้องกันความเสี่ยง) ที่เติบโตไปพร้อมกับราคาหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
และด้วยการที่ตลาด Options มักซื้อขายโดยใช้ Leverage สูง มันจึงทำให้การหมดอายุของ Options นั้นส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นได้ จนตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าตลาด Options กำลังเป็นตัวกำหนดราคาหุ้น แทนที่ตลาดหุ้นจะเป็นตัวกำหนดราคา Options เสียมากกว่า
Brent Kochuba ผู้ก่อตั้งบริษัท SpotGamma ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิเคราะห์ทางการเงิน ได้ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ว่า
“การมีอยู่ของตำแหน่ง Call Options ในหุ้นรายตัวที่เป็นสถานะ in-the-money*** นั้นมีมูลค่าสูงมาก ซึ่งทำให้เกิดค่า Delta**** เชิงบวกค่อนข้างมาก และนั่นเป็นมูลค่าทางทฤษฎีของหุ้นที่ Market Maker จะต้องป้องกันความเสี่ยงจากทิศทางการถือครอง(ของนักลงทุน)ที่เป็นผลมาจากกิจกรรมทั้งหมดในตลาด Options และเนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้(Call options)ได้ถูกปิดลง มันจึงทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเมื่อเร็ว ๆ นี้”
(the existence of many large in-the-money single-stock call positions had led to a large positive delta skew -- the theoretical value of stock required for market makers to hedge the directional exposure resulting from all options activity. As most of these positions closed, that has contributed to recent market volatility.)
*** in-the-money : หมายถึงสถานะที่คนถือ Options อยู่มีกำไรจากส่วนต่างของ Market Price และ Strike Price ซึ่งในกรณีล่าสุดนี้ เกิดจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ถือ Call Options ล้วนกำลังได้กำไรหรืออยู่ในสถานะ in-the-money นั่นเอง
**** Delta : คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของราคา Option ต่อราคาสินค้าอ้างอิง ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Call Option ของหุ้น A มีค่า Delta ที่ 0.5 แปลว่า หากราคาของ หุ้น A ขึ้นไป 1 จุด ราคาของ Call Option หุ้น A จะเพิ่มขึ้น 0.5 จุด ซึ่งค่า Delta นี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามช่วงเวลา และขึ้นกับสถานะ/ปริมาณของ Option ในขณะนั้น โดย Put Option มีค่า Delta อยู่ระหว่าง -1 ถึง 0 (เนื่องจากเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาหุ้นอ้างอิง)
1
Kochuba กล่าวเสริมว่า
“Call options ถูกปิด(position)ไป ขณะที่ put options มีการซื้อ(ของนักลงทุน) และราคาหุ้นได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว และจากผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนี้ เราคิดว่าการเทขายหุ้นเดี่ยวบางส่วนอาจลดลง ในขณะที่เราเข้าสู่การประชุมของ FOMC ในวันพุธ(ที่จะถึงนี้)”
(Call have been closed, puts have been purchased and stock prices have dropped precipitously, As a result of this shift, we think that some of the selling in single stocks may now subside as we head into Wednesday’s FOMC.)
การที่ put options มากขึ้น แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มเปลี่ยนจากการถือ call options มาสู่การถือ put options แล้ว ซึ่งเป็นการเดิมพันว่าราคาหุ้นจะร่วงลง ดังนั้นหมายความว่า market maker จะไม่ต้องไปไล่ delta hedging โดยการ "เทขายหุ้น" ในตลาด spot มากเท่าเดิม แต่ในขณะเดียวกัน market maker อาจต้องกลับไปไล่ delta hedging โดยการ "ซื้อหุ้น" ในตลาด spot แทนหากนักลงทุนตัดสินใจเทขายสัญญา put options ออกมาต่อจากนี้
แต่ไม่ว่าความเคลื่อนไหวเรื่อง OpEx ที่เรากล่าวมาทั้งหมดจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงเผชิญความเสี่ยงของขาลงอยู่อีกมาก ดังนั้น แม้ว่า OpEx ที่เกิดขึ้นในวันศุกร์จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราอาจได้เผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องนโยบายของ FED โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยและการทำ Quantitative Tightening หรือ QT
1
นับตั้งแต่เริ่มปี 2022 มานี้ พบว่าดัชนีความผันผวนของ Cboe ซึ่งรู้จักกันในชื่อ VIX Index ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10 จุด เป็น 27 จุด ซึ่งบ่งชี้ความความผันผวนของราคาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนกำลังปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวทางนโยบายของ FED
โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มเทขายหุ้นที่มีราคาแพง (ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นเทคโนโลยี) และหุ้นที่ต้องพึ่งความคาดหวังจากผลกำไรในอนาคต (Growth Stock)
ซึ่งแน่นอนว่าการโยกย้ายเงินของนักลงทุนนี้จะถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้นต่าง ๆ
Chris Murphy หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดอนุพันธ์จาก Susquehanna International Groupให้ความเห็นเอาไว้ว่า
“การหมดอายุของ Options มีส่วนทำให้เกิดการเทขายหรือไม่ ? คำตอบคือใช่. แต่มันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักหรือไม่ ? คำตอบคือไม่ เนื่องจาก FED และการลดภาระหนี้(การกระชับโนบายทางการเงิน)ต่างหากที่เป็นสาเหตุ(หลัก)ของการเทขาย(หุ้น)”
(Is options expiration a contributor to the selloff? Yes. Is it the prime driver? No, The Fed and deleveraging is the reason for the selloff.)
และสำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลกในปี 2022 นี้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตจนร่วงลงอย่างรุนแรง หรือจะเกิดการฟื้นตัวจนทำ All Time High ใหม่ แต่นักลงทุนก็มั่นใจได้เลยว่า World Maker จะนำข้อมูลมาอัปเดตให้ทราบกันตลอดปีแน่นอนครับ
ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันข่าวสารที่แท้จริงไปกับ World Maker
🙏 ขอบคุณทุกท่าน 🙏 ที่ติดตาม World Maker ฝากกด Like และ Share เพื่อเป็นกำลังใจและให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 😊
References :
โฆษณา