24 ม.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะทำให้นายจ้างไม่เลิกจ้างแรงงาน
คำบอกเล่าเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นพื้นฐาน เป็นดั่งนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมาในวงการเศรษฐศาสตร์อย่างยาวนาน...
โดยนิทานเรื่องนี้มีเนื้อหาสำคัญ เล่ากันว่า "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วจะทำให้การจ้างงานตกต่ำลงแน่นอน"
แต่ก็มีบางคนในวงการ เริ่มแสดงความเห็นว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้คนตกงาน และสองคนสำคัญที่สุด ที่แสดงหลักฐานเรื่องนี้ออกมาก็คือ David Card และ Alan Krueger ที่ทำให้เห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้ทำให้นายจ้างเลิกจ้างงานเสมอไป
(เกร็ดเล็กน้อย : คุณ David Card พึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์อีกสองท่าน แต่เป็นที่น่าเศร้าใจ ที่คุณ Krueger ไม่มีโอกาสได้รับรางวัลด้วย เนื่องจากท่านถึงแก่กรรมไปก่อนในปีค.ศ. 2019)
📌 หลักฐานจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
หลักฐานที่เรากำลังพูดถึง เป็นการศึกษาที่ทำกันในเมือง นิวเจอร์ซี ประเทศอเมริกา ที่ในตอนนั้น ในปีค.ศ. 1992 มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพอดี จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 ท่าน จึงเขาไปทำการเก็บข้อมูล
โดยพวกเขาเลือกที่จะใช้ข้อมูลจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่มีลูกจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก
ผลการศึกษาสำคัญในตอนนั้น สรุปว่า "การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้ทำให้การจ้างงานในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ"
หรือก็หมายถึงว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ "อาจจะ" ไม่ส่งผลต่อการจ้างงานก็ได้ ขัดกับความเชื่อเดิมที่ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องส่งผลต่อการจ้างงาน "เสมอ"
ประเด็นสำคัญอีกอย่าง ที่ทำให้การศึกษานี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก ก็คือ วิธีการศึกษา ที่ใช้การเปรียบเทียบข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง ที่เรียกว่า "natural experiment"
📌 Natural experiment คืออะไร และมันดีอย่างไร?
อยากให้ทุกคนลองจินตนาการว่า ถ้าเราจะวัดผลของการใช้นโยบายอะไรสักอย่างหนึ่งว่า ส่งผลต่อรายได้ของคนเท่าไร เราจะทำอย่างไรครับ
คิดกันง่ายๆ ก็ใช้นโยบายนั้นกับสักหมู่บ้าน แล้วก็รอดูสัก 1 เดือน หรือ 1 ปีสิ แล้วก็มาดูว่า รายได้ของคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นไหม
วิธีแบบนี้ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ถูกเสียหมด เพราะว่าอะไรน่ะเหรอครับ? คำตอบคือ การที่คนรายได้เปลี่ยนไป อาจจะไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายของเราอย่างเดียวก็ได้
ลองเปรียบเทียบกับการทำอาหาร สมมติผมบอกว่า ต้มยำกุ้งจะอร่อยขึ้นถ้าใส่นมสด
วิธการที่ผมจะพิสูจน์ให้คุณเชื่อ ก็คือ การทำต้มยำกุ้งสองหม้อ สูตรเหมือนกันทุกอย่าง แต่หม้อหนึ่งใส่นมสดเพิ่มไป แล้วก็ให้คุณชิม ถ้าหม้อที่ใส่นมอร่อยกว่า ก็ตัดสินได้ว่า ต้มยำกุ้งใส่อร่อยกว่า เพราะว่า ส่วนประกอบและวิธีทำที่เหลือเหมือนกันหมด
แต่ถ้าเปรียบหมู่บ้านของเราเป็นหม้อต้มยำ และการใช้นโยบายเป็นนมสด แล้วบอกว่า อีกหนึ่งปีเราจะลองมาชิมรสชาติซึ่งก็คือ วัดรายได้นะ
1
วิธีนี้มีปัญหา เพราะว่า ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไป อาจจะมีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นในหมู่บ้านด้วย เช่น มีธุรกิจใหม่มาตั้ง เกิดพายุถล่มหมูบ้าน หรือ เกิดกองทุนกู้ยืม เหตุการณ์เหล่านี้ก็เหมือนเครื่องปรุงอื่นที่ถูกเติมลงไปในหม้อด้วย
ดังนั้น ตอนที่เราชิมรสชาติตอนท้าย ความอร่อยของมันก็อาจจะมาจากเครื่องปรุงชนิดอื่นก็ได้ บอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นความอร่อยจากนมสดเท่าไร
แนวคิดของ natural experiment ก็มีมาเพื่อลดปัญหาตรงนี้ โดยการหา ตัวอย่างที่เหมาะสมในโลกแห่งความเป็นจริง มาเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้นโยบายไป
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราย้อนกลับมาที่ตัวอย่างจากงานศึกษาค่าแรงขั้นต่ำข้างต้น
ในงานศึกษานี้ นักวิจัยทั้งสองท่าน ก็ไม่ได้วัดผลจากนิวเจอร์ซีย์ล้วนๆ ไปเลย แต่ได้ทำการเปรียบเทียบกับประชากรในพื้นที่รัฐข้างๆ กัน อย่างเพนซิลเวเนียด้วย
ด้วยพื้นที่ติดกัน ประชาชนและวัฒนธรรมที่แทบจะเหมือนกัน สภาวะในตลาดแรงงานก็คล้ายกันมาก ทำให้เหตุการณ์เกือบทั้งหมดที่บริเวณหนึ่งเจอ อีกรัฐก็เจอเหมือนกัน
แต่นโยบายที่ต่างกันอย่างเดียวก็คือ รัฐนิวเจอร์ซีย์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เพนซิลเวเนียไม่ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำด้วย ทำให้ส่วนต่างการจ้างงานของสองที่นี้ในตอนท้าย จึงเหมือนเป็นผลจากการขึ้นค่าแรงล้วนๆ จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ส่งผลให้การจ้างงานในร้านฟาสต์ฟู้ดของนิวเจอร์ซีย์ลดลง
📌 แต่เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะสรุปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ส่งผลต่อการจ้างงาน แต่ต้องระวังให้ดีนะครับ จริงๆ มันสรุปได้แค่ "อาจจะ" ไม่ส่งผลต่อการจ้างงานเท่านั้น
โดยมีการตั้งข้อสังเกตกันเหมือนกันว่า ที่ทางร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่ต้องเลิกจ้างคนงาน ก็เพราะ ยังสามารถคงอำนาจการต่อรองกับลูกค้าได้ และก็ขึ้นราคาอาหารในร้านแทน
1
ซึ่งในงานศึกษา ก็ระบุผลส่วนนี้ไว้เช่นกันว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น มีผลทำให้ราคาอาหารในร้านแพงขึ้นด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อตามมาได้เช่นกัน
แต่ถ้ามันไปเกิดกับธุรกิจอื่น ที่ไม่สามารถปรับตัวแบบนี้ได้ หรือมีการพึ่งพาแรงงานเยอะ การเลิกจ้างงานก็อาจจะยังเป็นทางเลือกที่ต้องใช้อยู่ดีก็ได้
📌 ค่าแรงขั้นต่ำกับบริบทของไทยตอนนี้เป็นอย่างไร?
ในส่วนนี้ ขออนุญาตอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ให้สัมภาษณ์เหมือนต้นปีที่ผ่านมานี้ โดยมีส่วนที่ท่านได้ให้ทัศนะ เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำในไทยได้อย่างน่าสนใจ
โดยท่านได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้น แต่รายได้ไม่ค่อยปรับตัวขึ้นตาม แต่พอพูดถึงเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ท่านก็อยากแสดงความกังวลเช่นกันว่า เวลานี้อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากภาวะตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแอ
2
โดยตัวเลขการว่างงานกว่า 7 แสนคน และยังมีตัวเลขการเสมือนว่างงานอีกกว่า 2 ล้านคน ทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลให้คนทั้งตลาดแรงงานได้ประโยชน์จริงๆ และอาจจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ มาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ซบเซามานาน
ดังนั้นท่านจึงยังมองว่า ต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างอีกครั้งหนึ่ง
#เรื่องเล่า #ค่าแรง #การจ้างงาน #เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
#Bnomics #Economic_Outside_the_Box #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา