24 ม.ค. 2022 เวลา 10:35 • สุขภาพ
นอนกลิ้งไปมาบนเตียง คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้วนในหัว กว่าจะนอนได้ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง นี่เราเป็น “โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia” ใช่ไหมนะ? จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตปี 2563 พบว่า ประชากรไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับมากถึง 19 ล้านคน เราจะเป็นหนึ่งในนั้นรึเปล่า? แล้วนอนไม่หลับถึงขั้นไหนล่ะ ถึงเรียกว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ?
โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia
คือความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนที่ทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หลับยาก หรือหลับไม่สนิท โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งปกติแล้วโรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะการนอนไม่หลับได้ ดังนี้
แบ่งตามลักษณะการหลับ
1.Initial insomnia คือ ภาวะที่มีปัญหานอนหลับยาก ใช้เวลานานกว่าจะหลับ อาจเกี่ยวข้องกับการมีความวิตกกังวลมากเกินไป
2.Maintenance insomnia คือ ภาวะที่ไม่สามารถนอนหลับได้ยาว มีการตื่นกลางดึกบ่อย ภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางร่างกาย เช่น ภาวะปัสสาวะกลางคืนบ่อยจากต่อมลูกหมากโต ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
3.Terminal insomnia คือ ภาวะที่ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้โรคนอนไม่หลับยังสามารถแบ่งตามระยะเวลาการเกิดโรคได้อีก คือ
1.Adjustment insomnia (โรคนอนไม่หลับจากการปรับตัว) ซึ่งผู้ป่วยมักเป็นฉับพลันตามหลังสถานการณ์ เช่น ความเครียด การเจ็บป่วย ปัญหาวิตกกังวล สถานที่นอนหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อปัจจัยดังกล่าวหายไป อาการนอนไม่หลับก็มักกลับมาเป็นปกติ
2.Chronic insomnia (โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง) ผู้ป่วยจะมีภาวะนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน
แล้วอาการแบบไหนล่ะ ที่อาจทำให้เราเข้าข่าย โรคนอนไม่หลับ?
เราจะสงสัยว่าอาการผิดปกติของเรารุนแรงถึงขั้นเป็นโรคนอนไม่หลับ เมื่อการนอนไม่หลับนี้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือการทำงานร่วมด้วย เช่น
- รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
- ง่วงนอนเวลากลางวัน
- สมาธิแย่ลง
- ความจำแย่ลง
- หงุดหงิดง่าย
- ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการเรียนเสียไป
- ส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว
แล้วปัจจัยอะไรบ้าง ที่เราให้เราเป็นโรคนอนไม่หลับ?
ปัญหาความเครียด
- ภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่น อาการปวด หายใจเหนื่อย กรดไหลย้อน ภาวะวัยทองหมดประจำเดือน เป็นต้น
- ภาวะทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล
- การใช้ยาหรือสารบางอย่าง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดน้ำหนัก ยาขยายหลอดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงหรือแสงที่มารบกวนการนอน อุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
เราจะมีวิธีรักษาอาการเหล่านี้ ยังไงบ้าง?
การรักษาแบบไม่ใช้ยา
โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน และการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสิ่งที่บริโภค
- เข้านอนตรงเวลาและตื่นตรงเวลา โดยควรเป็นเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 2 ชั่วโมง
- ไม่ควรดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน
- ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้หลับ เพราะถึงแม้ว่ามันจะช่วยให้หลับได้ แต่การนอนนั้นจะไม่มีคุณภาพ
- สร้างบรรยากาศห้องนอนที่เหมาะสม ไม่มีแสงสว่างหรือเสียงดังรบกวน
- ไม่ควรทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆบนเตียงนอน เช่น เล่นเกม ทำงาน หรือทานอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายสับสนในสถานที่พักผ่อน
- ก่อนเวลานอนซัก 1 ชั่วโมงควรทำกิจกรรมเบาๆที่ผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลงสบายๆ อ่านหนังสือ และไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนนอน เช่น เล่นอินเตอร์เนต เล่นเกมส์ ดูภาพยนตร์ที่มีความตื่นเต้น
- สามารถนอนงีบได้ในเวลากลางวัน โดยงีบไม่เกิน 20 นาที และไม่ควรงีบหลับหลังบ่ายสามโมง
- ระหว่างนอนหลับไม่ควรดูนาฬิกาเนื่องจากจะทำให้เกิดความกังวล
การรักษาแบบใช้ยา
​​1. Benzodiazepine เป็นกลุ่มยาที่นิยมใช้ แบ่งคร่าวๆเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น และออกฤทธิ์ยาว สำหรับกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น ได้แก่ Lorazepam, Alprazolam, Midazolam เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่นอนหลับยากในช่วงแรก (initial insomnia) แต่การใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเกินสองสัปดาห์ จะมีโอกาสเกิดการติดยาและดื้อยาได้ และอาจเกิดอาการขาดยาทำให้อาการนอนไม่หลับแย่ลงเมื่อหยุดยาได้ จึงต้องระวังการใช้อย่างมาก
สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ ได้แก่ อาจมีอาการง่วงต่อเนื่องในช่วงกลางวัน กระบวนการคิดและตัดสินใจช้าลง ทรงตัวแย่ลง เดินเซ เป็นต้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจต้องลดขนาดยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงมากขึ้น
2. ยาต้านซึมเศร้า เช่น Trazodone, Mirtazapine ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์หลักในเรื่องของการปรับอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลไกการออกฤทธ์ที่ช่วยเรื่องการนอนหลับได้ด้วย
4. ยากลุ่ม Melatonin ซึ่งจริงๆเป็นสารที่มีอยู่ในร่างกายเราอยู่แล้ว มีบทบาทช่วยให้เกิดการนอนหลับ การทานยาที่มี Melatonin เสริมเข้าไปก็จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นได้
**อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ**
นอนไม่หลับขนาดไหน ควรไปพบแพทย์?
นอนหลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ สมาธิ ความจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาเหตุผล และวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อมีอาการป่วยแล้ว ไม่ว่าคุณหรือคนใกล้ตัว เราอยากแนะนำให้กด Agnos วิเคราะห์อาการป่วยด้วยตัวเองในเบื้องต้นซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆผ่านมือถือของคุณ นอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นคุณสามารถแชทปรึกษาแพทย์ของ Agnos ได้หลังทำการวิเคราะห์หากยังมีความกังวล
แชร์แอปดีๆแบบนี้ให้คนใกล้ตัวของคุณ
โฆษณา