27 ม.ค. 2022 เวลา 09:49 • ประวัติศาสตร์
[ตอนที่ 56] จาการ์ตา...เมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับชื่อเมืองที่มาจากภาษามลายู ภาษาสันสกฤต และภาษาดัตช์
ทิวทัศน์บริเวณจัตุรัสเมอร์เดกา (Merdeka square) กลางกรุงจาการ์ตาโดยอนุสรณ์สถานแห่งชาติอินโดนีเซียตั้งอยู่กลางจัตุรัส(บริเวณทางขวาของภาพ) [Credit ภาพ : Gunawan Kartapranata]
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมลงบทความเกี่ยวกับเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมของชื่อ “นูซันตารา” ที่จะเป็นชื่อเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียไปแล้วที่นี่ https://www.blockdit.com/posts/61e93ed15f03a34b779b467c
สำหรับบทความตอนนี้จะเป็นเรื่องราวของ “กรุงจาการ์ตา” เมืองหลวงของอินโดนีเซียในปัจจุบัน (ที่อาจกลายเป็นเมืองหลวงเก่าในอนาคต) ในแง่มุมเกี่ยวกับชื่อเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมความเป็นมาของเมืองแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
(ดนตรีที่แนะนำให้เปิดฟังคลอระหว่างอ่านบทความ)
เพลง Tanah Airku (แปลว่า "แผ่นดินผืนน้ำของเรา") เพลงแนวชาตินิยมอินโดนีเซียที่ดัดแปลงกับดนตรี EDM และวงกาเมอลัน (วงดนตรีพื้นเมืองของเกาะชวา-บาหลี) พร้อมเสียงจากคำประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ณ กรุงจาการ์ตาในปี ค.ศ.1945
ดนตรีโดย Alffy Rev, ร้องประกอบโดย Brisia jodie & Gasita Karawitan
บริเวณที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียและเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากจำนวนประชากร) ในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนชายฝั่งและชุมชนเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงมีชื่อของพื้นที่แถบจาการ์ตาจากหลากหลายภาษาไปตามประวัติศาสตร์ ได้แก่...
- ซุนดาเกอลาปา (Sunda Kelapa) : ค.ศ. 397-1527
- จายาการ์ตา (Jayakarta) : ค.ศ.1527-1619
- บาตาเวีย (Batavia) : ค.ศ.1619-1942
- จาการ์ตา : ค.ศ.1942-1972 (สะกดเป็น Djakarta) และ ค.ศ.1972-ปัจจุบัน (สะกดเป็น Jakarta)
1) ซุนดาเกอลาปา (อักษรซุนดา: ᮞᮥᮔ᮪ᮓ ᮊᮜᮕ / อักษรโรมัน: Sunda Kelapa)
ชื่อ “ซุนดาเกอลาปา” แปลว่า “มะพร้าวแห่งซุนดา” มาจากคำ 2 คำ ได้แก่...
- ชื่อดินแดนทางตะวันตกของเกาะชวา “ซุนดา”
ชื่อ "ซุนดา" อาจมาจากชื่อแบบอื่นของพระวิษณุ (सुन्द (sunda)), คำภาษาสันสกฤต सुन्दर (sundara) แปลว่า "สวยงาม" หรือคำภาษาสันสกฤต शुद्ध (śuddhá) แปลว่า "บริสุทธิ์ สะอาด" ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ผู้คนจากดินแดนอื่นใช้เรียกพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะชวาตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10
- คำภาษามลายูที่ใช้ร่วมกันทั้งในมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-บรูไน “เกอลาปา” (แปลว่า “มะพร้าว)
ชื่อ “ซุนดาเกอลาปา” ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นชื่อท่าเรือเก่าแก่บริเวณปากแม่น้ำจีลีวุง (Ciliwung) ที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงจาการ์ตาในปัจจุบันไปออกชายฝั่งทางเหนือ กลายเป็นท่าเรือที่ใช้สำหรับเรือใบแบบพื้นเมืองเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างเกาะชวากับเกาะอื่น ๆ เท่านั้น
ภาพถ่ายแสดงท่าเรือซุนดาเกอลาปา บริเวณปากแม่น้ำจีลีวุงที่ออกสู่ชายฝั่งทางเหนือของกรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน [ที่มาของภาพ: Globuzzer]
เรือใบแบบพื้นเมืองเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างเกาะที่จอดเทียบท่าเรือซุนดาเกอลาปา [ที่มาของภาพ: factsofindonesia.com ]
แต่ในสมัยก่อน ท่าเรือซุนดาเกอลาปาเป็นท่าเรือสำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-16 ของอาณาจักรซุนดา (Sunda kingdom) อาณาจักรฮินดูทางฝั่งตะวันตกของเกาะชวา เนื่องจากเป็นท่าเรือปากแม่น้ำจีลีวุงที่ไหลผ่านเมืองหลวงของอาณาจักรซุนดา จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์และการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของอาณาจักรซุนดา รวมถึงเป็นแหล่งการส่งออกพริกไทย เครื่องเทศหลักที่ปลูกและส่งออกจากอาณาจักรซุนดาสู่ต่างประเทศ อย่างจีน อินเดีย และชาติตะวันตกในยุโรป (โดยเฉพาะโปรตุเกส)
แผนที่เกาะชวาแสดงอาณาจักรซุนดา (Sunda - พื้นที่สีส้มในแผนที่) ที่แสดงเมืองปากูวันปาจาจารัน (Pakuan Pajajaran - วงกลมสีแดงในแผนที่) เมืองหลวงของอาณาจักรแห่งนี้พร้อมแม่น้ำจีลีวุง (Ciliwung) ที่ไหลผ่านเมืองหลวงไปออกทะเลชวาที่ท่าเรือซุนดาเกอลาปา (Sunda Kelapa) [Credit แผนที่: Gunawan Kartapranata]
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 รัฐสุลต่านเดอมัก (Demak Sultanate) อาณาจักรมุสลิมทางเหนือของเกาะชวาแผ่ขยายอำนาจผ่านการสู้รบ เกิดการปะทะกันกับอาณาจักรฮินดูแห่งอื่นบนเกาะชวา (อาณาจักรมัชปาหิตและอาณาจักรซุนดา)
แผนที่เกาะชวาแสดงรัฐสุลต่านเดอมัก (พื้นที่สีส้มในแผนที่) ที่แสดงเมืองเดอมัก (Demak - วงกลมสีแดงในแผนที่) เมืองหลวงของอาณาจักรแห่งนี้พร้อมเมืองต่าง ๆ ที่รัฐสุลต่านเดอมักกับพันธมิตรบุกพิชิตได้ (เมืองเหล่านี้จะแสดงวงเล็บพร้อมปี ค.ศ. ที่ถูกพิชิตต่อท้าย) รวมถึงท่าเรือซุนดาเกอลาปาที่ถูกพิชิตในปี ค.ศ.1527 [Credit แผนที่: Gunawan Kartapranata]
ขณะที่ในปี ค.ศ.1511 โปรตุเกสพิชิตรัฐสุลต่านมะละกา (Malacca Sultanate) อาณาจักรมุสลิมบนคาบสมุทรมลายูสำเร็จ ยึดเมืองมะละกาเป็นอาณานิคมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหาแหล่งเครื่องเทศสำหรับการค้า เมื่อเรือโปรตุเกสมาถึงท่าเรือซุนดาเกอลาปาในปี ค.ศ.1513 นักสำรวจชาวโปรตุเกสเล็งเห็นความสำคัญของท่าเรือแห่งนี้เพื่อเข้าถึงแหล่งเครื่องเทศในเกาะชวา
1
แผนที่โลกแสดงเส้นทางเดินเรือรอบโลกของสเปน (เส้นสีขาว) และโปรตุเกส (เส้นสีน้ำเงิน) โดยเส้นทางเดินเรือของโปรตุเกสมีเมืองมะละกา (Malacca) บนคาบสมุทรมลายูเป็นเมืองท่าสำคัญ
ด้วยผลประโยชน์ที่ลงตัวกันระหว่างอาณาจักรซุนดากับโปรตุเกส ทั้งสองฝ่ายจึงบรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางการค้าและการทหารในปี ค.ศ.1522 โดยอาณาจักรซุนดาให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายพริกไทยได้อย่างเสรี แต่โปรตุเกสต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารเพื่อต่อต้านรัฐสุลต่านเดอมัก
2) จายาการ์ตา (ค.ศ.1527-1619)
ในแง่มุมทางฝั่งรัฐสุลต่านเดอมัก ความเป็นพันธมิตรระหว่างอาณาจักรซุนดา-โปรตุเกสเป็นปัจจัยอันตราย เดอมักจึงเข้ามาโจมตีพื้นที่ชายฝั่งแถบท่าเรือซุนดาเกอลาปาเพื่อตัดการติดต่อระหว่างโปรตุเกสกับอาณาจักรซุนดา จนกองกำลังโปรตุเกสพ่ายแพ้ในปี ค.ศ.1527
รัฐสุลต่านเดอมักเปลี่ยนชื่อพื้นที่แถบนี้เป็น “จายาการ์ตา” ที่มาจากรากคำภาษาสันสกฤต ได้แก่
- “จายา” : รากศัพท์มาจากคำ जय (jayá) หรือ “ชัย” ที่ภาษาไทยรับมา
- “การ์ตา” : แปลว่า “ทำแล้ว บรรลุ สำเร็จ” รากศัพท์มาจากคำ कर्ता (kartā́) หรือ “กฤต” ที่ภาษาไทยรับมา
ชื่อ “จายาการ์ตา” จึงแปลว่า “ชัยชนะเบ็ดเสร็จ/บรรลุชัยชนะ” หรือกล่าวได้ว่าถ้าแผลงชื่อ “จายาการ์ตา” เป็นชื่อแบบไทยที่ได้รับอิทธิพลภาษาสันสกฤต ก็สามารถแผลงเป็น “ชัยกฤต” ได้
แผนที่เกาะสุมาตรา-ชวาแสดงรัฐสุลต่านบันเติน (พื้นที่สีส้มในแผนที่) ที่แสดงเมืองบันเติน (Banten - วงกลมสีแดงในแผนที่) เมืองหลวงของอาณาจักรแห่งนี้ โดยอิทธิพลของรัฐสุลต่านบันเตินครอบคลุมสองฝั่งช่องแคบซุนดา ทั้งทางใต้ของเกาะสุมาตราและทางตะวันตกของเกาะชวา รวมถึงเมืองท่าจายาการ์ตา (ในแผนที่นี้แสดงชื่อเป็น Kelapa) [Credit แผนที่: Gunawan Kartapranata]
หลังจากการพิชิตของรัฐสุลต่านเดอมักจากพันธมิตรซุนดา-โปรตุเกส เมืองท่าจายาการ์ตาได้เปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้รัฐสุลต่านบันเติน (Banten Sultanate) อาณาจักรมุสลิมที่มีอำนาจครอบครองพื้นที่แถบช่องแคบซุนดา (ช่องแคบระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวา) และยังคงเป็นท่าเรือเพื่อส่งออกเครื่องเทศสู่ต่างประเทศเหมือนเดิม โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ (ที่กองเรือดัตช์มาถึงเมืองท่าแห่งนี้ในปี ค.ศ.1596 และตั้งสถานีค้าขายของตนที่จายาการ์ตาในปี ค.ศ.1610)
ภาพวาดแสดงเมืองท่าจายาการ์ตาในช่วง ค.ศ.1605-1608
3) บาตาเวีย (ค.ศ.1619-1942)
เมื่อเนเธอร์แลนด์ค้าขายเครื่องเทศกับรัฐสุลต่านบันเตินในช่วงเดียวกับที่อังกฤษล่องเรือเข้ามาค้าขายกับอาณาจักรแห่งนี้ การแข่งขันทางการค้าและการเข้าถึงแหล่งเครื่องเทศก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสุลต่านบันเตินกับเนเธอร์แลนด์เรื่องการค้าขายพริกไทย
บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East Indies Company : VOC) ส่งกองกำลังมายึดครองเมืองท่าจายาการ์ตาจากรัฐสุลต่านบันเติน แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองท่าแห่งนี้เป็น “บาตาเวีย” และเพี้ยนเป็น “ปัตตาเวีย” ที่ปรากฏตามเนื้อหาประวัติศาสตร์ของฝั่งไทย
ภาพวาดเมืองท่าบาตาเวียในช่วง ค.ศ.1780
ชื่อ “บาตาเวีย” มาจากชื่อภาษาละตินของดินแดนเต็มไปด้วยเกาะกลางแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์บริเวณใกล้ปากแม่น้ำไรน์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน และชื่อของกลุ่มชนบาตาวี (Batavi) กลุ่มชนเยอรมานิกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่แถบนี้
ชื่อ “บาตาเวีย” ยังเป็นชื่อในภาษาละตินใหม่ (New Latin) - ภาษาละตินที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในวงการวิชาการ วิทยาศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 18 ใช้เป็นชื่อทางเลือกอีกชื่อของเนเธอร์แลนด์ อย่างเนเธอร์แลนด์ช่วง ค.ศ.1795-1806 ในนาม “สาธารณรัฐบาตาเวีย” (ภาษาอังกฤษ: Batavian Republic / ภาษาดัตช์: Bataafse Republiek)
แผนที่ "Batavia or United Dutch States" โดย Clement Cruttwell นักทำแผนที่ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ.1799
เมื่อเนเธอร์แลนด์เข้ามาปกครองให้เมืองท่าบาตาเวียและยกฐานะให้เป็นเมืองหลวงแห่ง “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์” (Dutch East Indies) อาณานิคมสำคัญของเนเธอร์แลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสวายงามของเมืองจากหมู่อาคารที่สร้างตามสถาปัตยกรรมตะวันตก ผังเมืองที่ดูเป็นระเบียบจากคูคลองและถนน ทำให้เมืองท่าบาตาเวียมีสมญานามว่า “ราชินีแห่งตะวันออก” (ภาษาดัตช์: Koningin van het Oosten) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17
แผนที่เมืองท่าบาตาเวียของเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1667 แสดงให้เห็นถึงผังเมืองที่มีโครงข่ายของถนนและคูคลองที่ตัดกันเป็นระเบียบ
ภาพวาดทิวทัศน์สองฝั่งคลอง Tijgersgracht ในเมืองบาตาเวียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17
อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กรุงจาการ์ตา ที่เคยเป็นศาลากลางเมืองบาตาเวีย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 [Credit ภาพ: © CEphoto, Uwe Aranas]
ภาพวาดหอดูดาวส่วนตัวของ Johan Maurits Mohr บาทหลวงชาวดัตช์-เยอรมันที่สร้างในเมืองบาตาเวียเมื่อปี ค.ศ.1765 ก่อนที่จะเสียหายจากแผ่นดินไหว ค.ศ.1780 และรื้อลงไปในปี ค.ศ.1812
4) จาการ์ตา (ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 จนถึงปัจจุบัน)
เมื่อญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์” ในช่วง ค.ศ.1942-1945 มีการนำชื่อ “จายาการ์ตา” กลับมาใช้ แต่กร่อนเสียงเหลือเป็น “จาการ์ตา” ดังชื่อของจาการ์ตาตามการแบ่งเขตการปกครองของญี่ปุ่นว่า ジャカルタ特別市 “จาการุตาโตกุเบ็ตสึชิ” (แปลว่า “นครพิเศษจาการ์ตา”) ขณะที่แผนที่ของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งยังใช้ชื่อบาตาเวีย (バタヴィア “บาตาวิยะ” หรือ バタビア “บาตาบิอะ”)
แผนที่เมืองท่าบาตาเวียที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เกาะชวา ซึ่งญี่ปุ่นจัดทำในช่วงสงครามโลกที่ 2 จะเห็นว่าญี่ปุ่นใช้ชื่อเรียกในแผนที่ฉบับนี้ว่าเมืองบาตาเวีย (バタヴィア市 “บาตาวิยาชิ”)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงหลังสงครามโลก การสู้รบเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ ชาติเจ้าอาณานิคมที่กลับเข้ามาปกครอง และช่วงที่อินโดนีเซียเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1949 แนวคิดเรื่องชาตินิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ชื่อ “บาตาเวีย” ลดความนิยมลงและชื่อ “จาการ์ตา” ได้รับความนิยมในการเรียกชื่อเมืองมากขึ้นของคนท้องถิ่น ชื่อกรุงจาการ์ตาสะกดเป็น Djakarta ตามอักขรวิธีการเขียนที่คนอินโดนีเซียรับมาจากอักขรวิธีภาษาดัตช์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นไปใช้ Jakarta ตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ถึงปัจจุบัน
ภาพถ่ายกระดาษที่ใช้พิมพ์คำประกาศเอกราชของอินโดนีเซียแผ่นจริงในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 จะเห็นว่าชื่อกรุงจาการ์ตา (บริเวณกลางหน้ากระดาษ) ยังสะกดแบบเก่าว่า Djakarta
สำหรับชื่อกรุงจาการ์ตาแบบแสดงสถานการณ์ปกครองส่วนท้องถิ่น คือ Daerah Khusus Ibukota Jakarta “ดาเอระฮ์ คูซุส อีบูโกตา จาการ์ตา” แปลว่า พื้นที่นครหลวงพิเศษจาการ์ตา (Special Capital Region of Jakarta)
จะเห็นได้ว่ากรุงจาการ์ตา เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดในปัจจุบันของอินโดนีเซีย ประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีชื่อเมืองแบบต่าง ๆ ที่มาจากภาษาท้องถิ่น (ภาษามลายู) อิทธิพลจากภาษาสันสกฤต ไปจนถึงชื่อในภาษาดัตช์จากเนเธอร์แลนด์ อดีตชาติเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซีย โดยชื่อเมืองที่ใช้ขึ้นกับวิวัฒนาการของเมืองและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละช่วงเวลาครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา