2 พ.ค. 2022 เวลา 14:09 • การศึกษา
[ตอนที่ 63] คำศัพท์ที่แปลว่า "เขื่อน" ในภาษาต่าง ๆ แถบกลุ่มประเทศ ASEAN
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ก็มีระบบชลประทานสำหรับชุมชนเมืองมาช้านานแล้ว อย่างเช่น...
- ทำนบกั้นน้ำเพื่อบังคับทิศทางธารน้ำให้ไหลสู่เมือง แบบ "สรีดภงส์" ของเมืองสุโขทัย
- ระบบคูน้ำคันดิน
- อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อย่าง "บาราย" ในแถบนครวัด-นครธม สมัยจักรวรรดิขอม
- เครือข่ายคูคลอง อย่างในนครวิลวะติกตา (Wilwatikta) นครหลวงแห่งอาณาจักรมัชปาหิต (แถบประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) หรือกรุงศรีอยุธยา
"บารายตะวันตก" (West Baray) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งบริเวณนครยโศธรปุระ ราชธานีแห่งจักรวรรดิขอม (บริเวณนครวัด-นครธมของกัมพูชาในปัจจุบัน) [Creditภาพ : The Phnom Penh Post]
แต่ในปัจจุบัน เมื่อนึกถึงโครงสร้างสำหรับการทำชลประทานขนาดใหญ่แล้ว จะหนีไม่พ้น "เขื่อน" ซึ่งดินแดนต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีคำที่สื่อถึง "เขื่อน" ตามแต่ละภาษา เรามาดูกันว่าคำว่า "เขื่อน" ในแต่ละภาษาคือคำใดบ้าง
1. ภาษาพม่า : ရေကာတာ "เยกาตา" แปลตรงตัวว่า "ทำนบกั้นน้ำ"
- ရေ "เย" = น้ำ
- ကာ "กา" = ป้องกัน ขวาง กั้น
- တာ "ตา" = เขื่อน คันดิน ทำนบ
2. ภาษาลาว : ເຂື່ອນ
**คำว่า "เขื่อน" ในภาษาไทยกับ "ເຂື່ອນ" ในภาษาลาว น่าจะมีรากร่วมกันจากภาษาตระกูลภาษาขร้า-ไท
3. ภาษาเขมร : ទំនប់ "ตุมน็อบ"
มาจากคำว่า ទប់ "ต็อบ" ที่แปลว่า "ขวาง กั้น" น่าจะเป็นที่มาของคำ "ทำนบ" ในภาษาไทย
4. ภาษาเวียดนาม : Đập "เดิ่บ"
มาจากภาษาโปรโตมอญ-เขมร ที่มีรากร่วมกับคำภาษาเขมร ទប់ "ต็อบ" ที่แปลว่า "ขวาง กั้น" แต่ใช้อักษรจื๋อโนม (อักษรจีนที่แบบที่เวียดนามรับมา) ว่า 𡏽
5. ภาษามลายูฝั่งมาเลเซีย / ภาษามาเลเซีย : Empangan "เอิมปางัน"
มาจากคำ Empang "เอิมปัง" แปลว่า "ขวางด้วยสิ่งก่อสร้างคล้ายกำแพง" และ -an ซึ่งเป็น suffix ต่อท้ายคำกริยา เพื่อแปลงคำให้เป็นคำนามพวกเครื่องมือ สถานที่ หรือวัตถุ
1
6. ภาษามลายูฝั่งอินโดนีเซีย / ภาษาอินโดนีเซีย : Bendungan "เบินดูงัน"
มาจากคำภาษาอินโดนีเซีย bendung "เบินดุง" แปลว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อปรับการไหลของน้ำที่ท้ายเขื่อน ส่วน -an ก็ยังคงเป็น suffix เน้นความหมายให้เป็นคำนามพวกเครื่องมือ สถานที่ หรือวัตถุ
7. ภาษาตากาล็อก : Prinsa "ปรินซา"
สันนิษฐานว่าอาจมาจากคำ presa "เปรซา" ที่แปลว่า "เขื่อน" ในภาษาสเปน ที่ภาษาสเปนรับมาจากคำ prensa ในภาษาละตินมาอีกที
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทางวัฒนธรรมของคำว่า "เขื่อน" ทั้งใน 7 ภาษา ก็ไม่ได้มีตำนานหรือเรื่องเล่าว่าควรไปชมตอนกลางคืนแล้วเขื่อนจะสวยเป็นพิเศษ หรือจะเกิดเรื่องราวในบทอัศจรรย์ตามวรรณคดี ประหนึ่งคันเขื่อนไหวสะเทือน ผืนน้ำคลั่งสนั่นแต่อย่างใดครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา