27 ม.ค. 2022 เวลา 06:00 • อาหาร
Gastrodiplomacy อาหารไทย ซอฟต์พาวเวอร์พร้อมเสิร์ฟ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ตอนนี้เชฟปูซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสาระนอกจาน ได้เดินทางไปที่ประเทศจีนเพื่อรับหน้าที่ใหม่ ในการเป็น Executive Chef ของร้านอาหารไทยระดับ Bib Gourmand ของมิชลินไกด์ในปักกิ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในหลายๆภาคส่วน ที่ทำให้ทุกวันนี้คนทั่วโลกต่างชื่นชมและตื่นเต้นกับอาหารไทย ซึ่งกลายเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่นานาชาติ วันนี้ก็เลยอยากมาคุยเรื่อง Gastrodiplomacy กันหน่อย
ก่อนอื่นเลย “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ อำนาจอ่อน คืออะไร? ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซอฟต์พาวเวอร์ คือ ความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม เป็นแรงกำลังในการจูงใจให้ต่างประเทศมาร่วมมือ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มากกว่าการใช้กำลังทางทหารเข้าบังคับเอาดื้อๆ โดยมี 3 หัวข้อใหญ่ คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายการต่างประเทศ ตัวอย่างชัดๆ เช่น เกาหลีที่มี K-pop เป็นหัวหอกนำหน้า สหรัฐอเมริกาเผยแพร่ค่านิยมประชาธิปไตยในช่วงสงครามเย็น และเยอรมันที่ครองอันดับหนึ่งเรื่องซอฟต์พาวเวอร์จาก Brandfinance ปีที่แล้ว เข้าใจค่อยๆ สร้างภาพลักษณ์ผู้นำต่อประชาคมนานาชาติ
พูดได้ว่า Gastrodiplomacy ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้าข่ายเรื่องวัฒนธรรมเต็มๆ คำๆนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ในปี ค.ศ. 2002 เพื่อวิเคราะห์ความพยายามของรัฐบาลไทยในการรณรงค์อาหารไทยให้ไปทั่วโลก นั่นคือนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งถือว่าโครงการนี้เป็นต้นแบบของ Gastrodiplomacy เลยก็ได้ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการด้านวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อหักล้างภาพลักษณ์ด้านลบหลายอย่างของไทย โดยโครงการนี้รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก มีการออกใบรับรองคุณภาพให้กับร้านอาหารไทยในต่างแดน ใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆจากเมืองไทย จ้างและฝึกเชฟไทย มีดีลการออกวีซ่าให้เชฟไทยไปทำงานต่างประเทศ ได้ทั้งเปิดโลกให้กับเชฟ และเผยแพร่อาหารไทย
ร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มจาก 5,500 ร้านในตอนที่เริ่มโครงการปี ค.ศ. 2001 และมาเป็น 13,000 ร้านในปี ค.ศ. 2008 โดยช่วงหลังๆการรณรงค์นี้ขยายไปประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ หรือยุโรปตะวันตก เช่น บราซิล ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโปแลนด์ นี่ทำให้ความสนใจที่จะมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจ และความตื่นตัวด้านอาหารให้กับคนไทยอีกด้วย ความสำเร็จนี้ทำให้ประเทศอื่นหันมาเริ่มทำ Gastrodiplomacy ตามๆกันมาด้วย เช่น เกาหลีในปี ค.ศ. 2009 ไต้หวันและมาเลเซียในปี ค.ศ. 2010 เปรูในปี ค.ศ. 2011 เป็นต้น แต่ผลลัพธ์ก็ต่างกันไป เพราะนอกเหนือจากภาครัฐแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ธุรกิจ และประชาชนด้วย การรณรงค์ถึงจะเป็นไปตามเป้า
เชฟปูที่อยู่เมืองจีนตอนนี้ ก็คงต้องทำหน้าที่หนักในการเป็นทูตทางวัฒนธรรม ส่งเสริมอาหารไทยในแดนมังกร แต่เพราะเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ไม่เฉพาะด้านอาหาร ด้านอื่นๆ เช่น ศิลปะการออกแบบ กีฬาเช่นมวยไทย ก็สามารถเอาไปพัฒนาและเผยแพร่ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ไม่รู้จบ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Credit-ที่มา]…
[Credit-ภาพประกอบ]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #gastrodiplomacy #softpower #thailand #thai #food #thaifood
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา