28 ม.ค. 2022 เวลา 14:19 • ธุรกิจ
เราจะสร้างรายได้ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ได้อย่างไร? ถ้าเราไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เราจะเริ่มต้นยังไงดี? วันนี้จะชวนพวกเรามาสร้างสรรค์และต่อยอดไอเดียเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่เราทำกันค่ะ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้คำนิยาม Creative Economy ไว้ว่า “เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”
  • อะไรบ้างที่รวมอยู่ใน 15 สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency)?
1. งานฝีมือและหัตถกรรม 2. ดนตรี 3. ศิลปะการแสดง 4. ทัศนศิลป์ 5. ภาพยนตร์ 6. การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7. การพิมพ์ 8. ซอฟต์แวร์ 9. การโฆษณา 10. การออกแบบ 11. การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12. แฟชั่น 13. อาหารไทย 14. การแพทย์แผนไทย 15. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
  • ทำไมเราจึงพูดถึงกันมากในตอนนี้ เรื่อง Creative Economy?
การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เฉพาะในแวดวง 15 สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์
ความเข้าใจในเรื่อง Creative Economy และนำมาประยุกต์ใช้ จะสร้างประโยชน์อย่างมากมายให้กับพวกเรา จากทวีคูณเป็นหลายเท่าตัวในการขับเคลื่อนยอดขายและรายได้ เปรียบเทียบกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว
เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการใหม่เป็นของเราเอง แต่เราสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และเลือกนำมาใช้ต่อยอดกับการทำงานในธุรกิจของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการร่วมลงทุน การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ
  • Creative Economy ที่เสริมความโดดเด่นของสินค้าจากความคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยให้เราสามารถผลิตสินค้าออกขายในตลาดได้เร็วขึ้น บนต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงด้วย
1. สินค้าออกตัวสู่ตลาดได้เร็วขึ้นมาก
ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D ในการออกแบบสินค้าต้นแบบ สินค้าที่เราวาดแบบไว้จะขึ้นรูปให้เราเห็น จับต้องได้ ทดสอบอรรถรสการใช้งานจริงได้ ลดเวลาลองผิดลองถูก สามารถปรับปรุงสินค้าต้นแบบได้อย่างรวดเร็วก่อนออกสู่ตลาด
2. ต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ลดลงอย่างมาก
การที่เราสามารถลดการลองผิดลองถูกในการผลิตสินค้า และมีกระบวนการผลิตที่กระชับรวดเร็วขึ้น จะทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้อย่างมาก สินค้ามีมาตรฐานจากความแม่นยำในการผลิตให้ถูกต้องตามแบบสินค้าที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา
3. ดอกเบี้ยที่ลดลง จากการชำระหนี้ได้เร็วขึ้น
หากเรามีต้นทุนทางการเงินจากเงินกู้มาลงทุนในธุรกิจ เวลาที่ลดลงในการออกแบบสินค้า การผลิตสินค้าต้นแบบ และกระบวนการผลิต จะทำให้เกิดกระแสเงินสด (cashflows) เร็วขึ้น สามารถนำมาชำระคืนหนี้เพื่อลดดอกเบี้ยได้ และประวัติการชำระเงินที่ดีจะช่วยให้เราได้รับเงินกู้ต่อยอดธุรกิจในอนาคตด้วย
4. ผลิตสินค้าจำนวนน้อยตามออเดอร์ได้ ลดสินค้าในสต๊อก
จากตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3D จะช่วยให้เราสามารถผลิตสินค้าจำนวนน้อยได้ในช่วงลองตลาด หรือผลิตตามออเดอร์ โดยไม่เกิดสต๊อกสินค้าที่ผลิตรอขายมากเกินไป ทำให้ลดความจำเป็นของเงินทุนที่ใช้ซื้อวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิต กระแสเงินสดหมุนเวียนในกิจการ (cashflows) ก็จะมากขึ้น ธุรกิจก็คล่องตัวขึ้น
  • จำเป็นไหมที่จะต้องนำแนวคิด Creative Economy มาใช้ในกระบวนการทำงานทั้งหมด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบก้าวกระโดด และต้องลงทุนในเทคโนโลยีมากไหม?
การนำแนวคิด Creative Economy มาใช้ในธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ในกระบวนการทำงานทั้งหมด เราสามารถสร้างสรรค์ผลงานและสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในบางขั้นตอน ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้า การทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ การผลิตจำนวนน้อยในช่วงแรกเพื่อทดลองตลาด การผลิตในกระบวนการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ กระบวนการขาย การให้บริการ และอื่นๆ
และเราก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีหากมีผู้ให้บริการเทคโนโลยีนั้นในตลาด ตัวอย่างเช่น เครื่องพิมพ์ 3D ที่มีผู้ให้บริการหลายแห่งให้เราใช้งาน
อยากแนะนำให้พวกเราเรียนรู้ให้เข้าใจและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ในยุค Creative Economy ที่เรากำลังผันเข้าสู่อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้และผลกำไร ต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเรา
แล้วติดตามกันต่อในตอนต่อๆ ไปกับ Manage Your Money ค่ะ
Reference :
Creative Economy พาเศรษฐกิจไทยก้าวไกลสู่สากล – สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เข้าถึงได้จาก https://www.nxpo.or.th/th/9440/
โฆษณา