30 ม.ค. 2022 เวลา 02:09 • ธุรกิจ
รายได้ดีแต่ทำไมเงินสดขาดมือ? มาหาคำตอบจากกรณีศึกษา “ขายอย่างไรให้เงินสดไม่ขาดมือ” ไปด้วยกันค่ะ
กรณีศึกษา “ขายอย่างไรให้เงินสดไม่ขาดมือ” :
เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 1 ม.ค. 2565
  • ธุรกิจขายชุดผ้าปูที่นอน ราคาชุดละ 1,000 บาท วางขายทั้ง online และ offline
  • สินค้าที่ขายทาง online จะได้รับเงินทันทีเมื่อขาย
  • สินค้าที่ขายทางร้านค้าฝากขาย จะได้รับเงินหลังจากขายแล้ว 7 วัน
  • ทำธุรกิจคนเดียว ไม่มีสำนักงาน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายจ้างพนักงาน และค่าเช่าสำนักงาน
  • จ่ายค่าเช่าโกดังเก็บของเดือนละ 2,000 บาท เนื่องจากไม่สามารถเก็บที่บ้านได้
  • ไม่นำค่าใช้จ่ายอื่นๆ มารวม (เช่น ค่าน้ำไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต) เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในบ้านแม้จะไม่ทำธุรกิจ (คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากการทำธุรกิจ)
  • ลูกค้าชำระค่าขนส่งตามระยะทาง ตามที่จ่ายจริง (ไม่มีผลกระทบกับรายรับรายจ่ายเรา)
  • ปกติจะมีสต๊อกชุดผ้าปูที่นอนเก็บไว้รอขาย 10 ชุด ต้นทุนชุดละ 700 บาท (รวมขนส่ง) เพื่อให้มีสินค้าส่งทันทีตามคำสั่งซื้อ และได้รับส่วนลดชุดผ้าปูที่นอนที่ซื้อมาขาย
  • แหล่งที่เราซื้อผ้าปูที่นอนมา มีเงื่อนไขให้เราชำระเงินทันทีที่สั่งของ เพราะเราเป็นลูกค้าใหม่รายย่อยที่ไม่มีวงเงินซื้อขายระหว่างกัน
  • รายจ่ายทุกรายการ เราเลือกชำระด้วยบัตรเครดิต เพื่อยืดระยะเวลาชำระเงิน และสะสมแต้มในบัตร
เดือนมกราคม 2565
1 ม.ค. ซื้อผ้าปูที่นอน 10 ชุด 7,000 บาท (บัตรเครดิต)
จ่ายค่าเช่าโกดังของเดือน ม.ค. 2,000 บาท
(บัตรเครดิต)
5 ม.ค. ขายผ้าปูที่นอน 3 ชุด online 3,000 บาท (เงินสด)
15 ม.ค. ขายผ้าปูที่นอน 4 ชุด online 4,000 บาท (เงินสด)
ซื้อผ้าปูที่นอน 10 ชุด 7,000 บาท (บัตรเครดิต)
19 ม.ค. ขายผ้าปูที่นอน 5 ชุด ผ่านร้านค้า 5,000 บาท
(รอรับเงินสดอีก 7 วัน)
25 ม.ค. ชำระบัตรเครดิตตามครบกำหนด 9,000 บาท
(เงินสด)
ยังไม่มียอดเรียกเก็บรายการ 15 ม.ค.
เพราะใช้บัตรหลังวันตัดยอด จะเรียกเก็บเดือนก.พ
26 ม.ค. รับเงินที่ขาย 19 ม.ค.จากร้านค้า 5,000 บาท
(เงินสด)
28 ม.ค. ขายผ้าปูที่นอน 5 ชุด online 5,000 บาท (เงินสด)
มีสต๊อกผ้าปูที่นอนเหลือ ณ สิ้นเดือนม.ค. 3 ชุด
เดือนกุมภาพันธ์ 2565
1 ก.พ. ซื้อผ้าปูที่นอน 10 ชุด 7,000 บาท (บัตรเครดิต)
และรายการทางธุรกิจก็ดำเนินต่อไปในแต่ละวัน
สรุปรายได้และค่าใช้จ่ายในเดือนม.ค.
รายได้ 3,000+4,000+5,000+5,000 = 17,000 บาท
ค่าใช้จ่าย 7,000+2,000+7,000 = 16,000 บาท
กำไร 17,000-16,000 = 1,000 บาท
สรุปเงินสดรับและจ่ายในเดือนม.ค.
เงินสดรับ 3,000+4,000+5,000+5,000 = 17,000 บาท
เงินสดจ่าย 7,000+2,000= 9,000 บาท
เดือน ม.ค. มีเงินสดรับ มากกว่า เงินสดจ่าย 8,000 บาท
แต่เมื่อดูลำดับวันที่รับและจ่ายเงิน จะพบว่า…
เงินสดรับ 1-25 ม.ค. 3,000+4,000 = 7,000 บาท
เงินสดจ่าย 25 ม.ค. 9,000 บาท
เงินสดรับ น้อยกว่า เงินสดจ่าย 2,000 บาท
นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถชำระหนี้บัตรเครดิตได้ทั้งจำนวนจากการขายผ้าปูที่นอน
หากเราไม่มีเงินสดในมืออยู่ก่อนหน้านี้ เราจะชำระบัตรเครดิตได้เพียง 7,000 บาท ยังมีหนี้คงค้าง 2,000 บาท และเกิดดอกเบี้ยจากการไม่ได้ชำระเต็มจำนวน
“ขายดีแต่ขาดเงินสด” แก้ไขได้
อยากแนะนำให้ลองเขียนรายการรับจ่ายในแต่ละวัน เพื่อให้ทราบและเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ขาดเงินสดมาใช้หมุนเวียนในระหว่างเดือน และสามารถปรับรูปแบบการขาย การชำระเงิน และการสั่งซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้ ให้เงินสดรับและเงินสดจ่ายมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น จนเหลือเป็นหนี้คงค้างให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
จากกรณีศึกษานี้…
นอกจากจะเน้นการขายที่ได้รับเงินสดขึ้นเร็วแล้ว เราอาจจะต้องมาดูเปรียบเทียบว่า “ส่วนลดผ้าปูที่นอนจากการซื้อครั้งละ 10 ชุด” กับ “ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากหนี้บัตรเครดิต” คุ้มค่าหรือไม่ หากลดสต๊อกลง ลดจำนวนที่สั่งซื้อในแต่ละครั้งลง ก็จะลดรายจ่าย ลดเงินสดจ่าย และลดหนี้คงค้างบัตรเครดิต
วันที่สั่งซื้อผ้าปูที่นอนก็สำคัญ เพราะหากสั่งซื้อเลยวันที่ตัดยอดในบัตรเครดิต ก็จะยังไม่ต้องชำระหนี้ในวันที่ครบกำหนดชำระเงินในเดือนนั้นๆ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราที่เพิ่งเริ่มธุรกิจของตัวเอง จะได้มียอดขายที่เติบโตควบคู่ไปกับการบริหารเงินสดที่ดี ไม่มีภาระหนี้กวนใจ มีเวลาไปสร้างสรรค์ธุรกิจได้เต็มที่ค่ะ
อย่าลืมกด ติดตาม (Follow) เพื่อให้เราได้คุยกันต่อเนื่องในตอนต่อๆ ไปกับ Manage Your Money นะคะ
โฆษณา