3 ก.พ. 2022 เวลา 14:00 • ธุรกิจ
จะจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ให้ได้กำไรเพิ่มด้วยได้ไหม?
ช่วงนี้หันไปทางไหนก็มีโปรโมชั่นกันเกือบทุกร้าน เรียกว่า ท้าทายการขายอย่างมากถ้าไม่มีโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย คำถามคือ “จัดอย่างไรให้ปัง และยังได้กำไรเพิ่ม?” วันนี้เราจะมาชวนกันคิดต่อยอดจากไอเดียดีๆ ทางการตลาด โดยเสริมทักษะทางการเงินเข้าไป เพื่อให้ได้ทั้งยอดขายพุ่งทะยาน และกำไรที่เติบโตค่ะ
1
เป้าหมายหลักๆ ของการจัดโปรโมชั่น ที่เราคุ้นชิน
1. เพิ่มยอดขาย ด้วยการสร้างรู้สึก “ความคุ้มค่า หรือสุดคุ้ม”
2. ระบายสินค้าในสต๊อก ที่อาจมีความนิยมลดลง มีคู่แข่งมากขึ้น มีแรงกดดันด้านราคา เหลือจำนวนน้อยไม่ครบรุ่น หรือใกล้หมดอายุ
3. รักษาฐานลูกค้าที่อาจหันไปหาคู่แข่งที่จัดโปรโมชั่น
4. เพิ่มกำไรจากการขายสินค้า
พวกเราหลายคนอาจจะกำลังสงสัยกับเป้าหมายข้อ 4 ว่า “จัดโปรโมชั่นให้ช่วยเพิ่มกำไรด้วยได้อย่างไร” มาดูกันค่ะ
ทำไมการจัดโปรโมชั่น จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มกำไร?
กำไรขั้นต้น = ราคาขาย - ต้นทุนขาย
เราเรียกกำไรนี้ว่า “กำไรขั้นต้น” เพราะเป็นกำไรก่อนนำค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น มาคำนวนด้วย ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็จะเป็น “กำไรสุทธิ” ของกิจการ
1
ตัวอย่าง :
“Pro Combo: ชุดสุดคุ้มกาแฟกับครัวซอง”
ราคาพิเศษ 280 บาท จากราคาปกติ 340 บาท
เริ่มจาก โครงสร้างราคาและต้นทุนอย่างง่าย
ราคาขายกาแฟ 200 บาท
ต้นทุนขายกาแฟ 80 บาท
ราคาขายครัวซอง 140 บาท
ต้นทุนขายครัวซอง 40 บาท
การคำนวนกำไรขั้นต้นจากโปรโมชั่น “Pro combo: ชุดสุดคุ้มกาแฟกับครัวซอง”
กรณีไม่จัดโปรโมชั่น 200 - 80 = 120 บาท
(ขายเฉพาะกาแฟ)
กรณีจัดโปรโมชั่น 280 - 80 - 40 = 160 บาท
(ขาย “ชุดสุดคุ้ม”)
จะเห็นว่า กำไรจากการจัดโปรโมชั่น มากกว่าอยู่ 40 บาท และทวีคูณตามจำนวนที่ขายได้
เช่น ถ้าเราขายได้ 1,000 ชุด ในช่วงโปรโมชั่น เราจะมีกำไรมากกว่าการไม่จัดโปรโมชั่น 40,000 บาท
สินค้าที่นำมาจัดรายการโปรโมชั่นร่วมด้วย จะเป็นสินค้าที่เราขายหรือไม่ได้ขายก็ได้
ถ้าปกติเรามีครัวซองขาย
เราจะมีค่าเสียโอกาสกำไรถ้าขายครัวซองในราคาปกติ
140 - 40 = 100 บาท
คิดเป็นค่าเสียโอกาสจากการทำโปรโมชั่นสุทธิ
100 - 40 = 60 บาท
แต่ถ้าเราไม่ได้ขายครัวซอง จะไม่มีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้น เพราะไม่มีโอกาสในการขาย เพียงแค่ซื้อเอามาขาย เป็นต้นทุนขายตามตัวอย่างข้างต้น
“ค่าเสียโอกาส” ไม่ใช่ “ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง” เป็นเพียงการคำนวนหามูลค่าของโอกาสที่เสียไป เพื่อตัดสินใจในช่วงการวางแผนการทำโปรโมชั่น เปรียบเทียบการจัดหาสินค้ามาร่วมรายการนั่นเอง
มูลค่าของค่าเสียโอกาส = ค่าเสียโอกาส x ความน่าจะเป็นที่จะขายสินค้านั้นได้
ดังนั้น ค่าเสียโอกาสจากการจัดโปรโมชั่น “ชุดสุดคุ้ม” นี้จะแทบไม่มีมูลค่าเลย ถ้าครัวซองเป็นสินค้าที่เราขายไม่ดี มีสต็อกเหลือจำนวนมากและมีต้นทุนในการเก็บรักษา หรือเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงในช่วงนี้ที่ต้องลดราคาเพื่อให้ขายได้อยู่แล้ว เป็นต้น
หวังว่าพวกเราจะได้ไอเดียไปต่อยอดลูกเล่นในการทำโปรโมชั่น โดยนำทักษะทางการเงินมาเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด ในการเปรียบเทียบทางเลือกในการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ให้กระตุ้นยอดขายและให้ได้กำไรเพิ่ม
นอกจากจะเลือกใช้ได้ตามเป้าหมายของการทำโปรโมชั่นแล้ว อยากแนะนำให้พวกเราหมั่นติดตามศึกษาตลาด และคู่แข่ง หากเป็นมือใหม่ ลองเริ่มจากจัดโปรโมชั่นเป็นช่วงสั้นๆ ทดลองตลาด นอกจากจะทำให้ชำนาญขึ้นแล้ว ยังจะทำให้มีสีสันใหม่ๆ กระตุ้นความสนใจลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องด้วย
แล้วติดตามกันต่อในตอนต่อๆ ไป กับ Manage Your Money ค่ะ
โฆษณา