28 ม.ค. 2022 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
┍ ┑
CPI กับ PPI ต่างกันยังไง
แล้วเกี่ยวอะไรกับเงินเฟ้อ? 🤔
┕ ┙
เวลาที่อ่านเรื่องเงินเฟ้อ หลายคนน่าจะคุ้นๆ กับคำว่า CPI ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และบางครั้งในบทวิเคราะห์ที่ลึกขึ้นก็จะมีคำว่า PPI ปรากฏขึ้นมาด้วย
คำถามคือ…
🔹 CPI และ PPI คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับเงินเฟ้อ?
🔹 แล้วทั้ง 2 คำนี้ต่างกันยังไง?
ในบทความนี้ Macro Snap จะมาพาทุกคนไปรู้จักกับทั้ง 2 คำนี้ในแบบที่สนุกและเข้าใจง่าย 🧩
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
[ ความหมายของ CPI และ PPI 📝]
จากนิยามที่เราเห็นกันบ่อยๆ เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 📈 และเงินที่เราถืออยู่มีอำนาจซื้อลดลง
เช่น เงิน 10 บาท เคยซื้อไข่ไก่ได้ 2 ฟอง พอเวลาผ่านไป เงิน 10 บาทเท่าเดิม สามารถซื้อไข่ไก่ได้แค่ 1 ฟองเท่านั้น
แต่ทุกคนรู้กันมั้ยว่าเงินเฟ้อนี่วัดจากอะไร? 🤔
เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าเงินเฟ้อ 1% หรือ 10%?
คำตอบก็คือ CPI นี่แหละ
🔹 CPI (Consumer Price Index) หรือที่เรียกภาษาไทยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค 🙍‍♀️
ขออธิบายง่ายๆ โดยเปรียบเทียบกับการไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ต 🛒
เวลาที่เราไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ต เราจะหยิบสินค้าที่เราอยากได้มาใส่ในตะกร้าตามจำนวนที่จะใช้ แล้วเดินไปจ่ายเงินที่ cashier
ซึ่ง CPI ก็หลักการคล้ายๆ กันเลย คือ เอาสินค้าและบริการที่คนทั่วไปจำเป็นต้องใช้มาใส่ในตะกร้า โดยสินค้าแต่ละอย่างจะมีสัดส่วนแตกต่างกัน
จากนั้นคำนวณราคาสินค้าทั้งหมดออกมา เหมือนเวลาที่พนักงาน cashier คิดเงินสินค้าให้เรา สมมติว่าได้ราคา 100 บาท เป็น CPI ของปีแรก
มาถึงตรงนี้ เราใกล้มาถึงคำว่าเงินเฟ้อแล้ว
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เรามาคิดราคาสินค้าในตะกร้าเดิมอีกรอบ โดยใช้สัดส่วนของสินค้าแต่ละชนิดเท่าเดิม จะได้เป็น CPI ของปีที่ 2 เท่ากับ 105 บาท
นี่แหละ ถึงเวลาของคำว่า เงินเฟ้อ แล้ว
จะเห็นว่าราคาของสินค้าในตะกร้าใบเดิมของเรา ที่เป็นชนิดเดิมและมีสัดส่วนเท่าเดิม มีราคาเพิ่มขึ้นมา 5% จากปี่แล้ว นี่แหละที่เรียกว่าเงินเฟ้อ 5%
สรุปได้ว่า
CPI คือ การวัดราคาของสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับคนทั่วไป โดยการคิดราคาจะให้น้ำหนักตามสัดส่วนของสินค้าแต่ละชนิดในตะกร้า
มาต่อกันที่คำว่า
🔹 PPI (Producer Price Index) หรือดัชนีราคาผู้ผลิต 👩‍🔧
ซึ่งเป็นดัชนีราคาที่มีหลักการคล้ายๆ กับ CPI เพียงแต่เปลี่ยนคนช้อปปิ้งจากผู้บริโภคไปเป็นผู้ผลิต (ตามชื่อของดัชนีเลย)
ทำให้สินค้าในตะกร้าเปลี่ยนจากสินค้า เช่น อาหาร เสื้อผ้า และค่าเดินทาง ไปเป็นพวกวัตถุดิบที่ใช้ในโรงงานผลิกรถยนต์ เหมืองแร่ หรือพลังงาน
1
ดังนั้น PPI จึงเป็นตัวบอกต้นทุนของผู้ผลิต และยังสามารถนำมาวิเคราะห์เงินเฟ้อประกอบกับ CPI ได้ (อธิบายเพิ่มด้านล่าง)
[ การวิเคราะห์เงินเฟ้อ 📊]
2
🔹 เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากสินค้าไหนในตะกร้า?
1
พอเรารู้แล้วว่าเงินเฟ้อมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการในตะกร้า และสินค้าแต่ละอย่างก็มีสัดส่วนไม่เท่ากัน นั่นแปลว่าในเวลา 1 ปี ถ้าเสื้อผ้ากับน้ำมันราคาเพิ่มขึ้น 10% เท่ากัน จะส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่เท่ากัน
เช่น สมมติว่า ในตะกร้าเงินเฟ้อ (CPI) มีสัดส่วนของเสื้อผ้า 5% และน้ำมัน 50%
ดังนั้นเห็นชัดเลยว่าราคาน้ำมันต้องกระทบเงินเฟ้อมากกว่าเสื้อผ้าแน่ๆ
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว เงินเฟ้อมาจาก
👔 เสื้อผ้า 0.5% (10% x 5%) และ
⛽ น้ำมัน 5% (10% x 50%)
รวมกันแล้วเงินเฟ้อจากสินค้า 2 ชนิดนี้เป็น 5.5%
🇹🇭 ตัวอย่างจากเงินเฟ้อไทย เดือนธันวาคม 2021
สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงมากเทียบกับปีที่แล้ว คือ ผักสด🥦 (15.5%) และ พลังงาน ⚡ (16.23%) ถึงจะเฟ้อเท่าๆ กัน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว ผักสดเป็นแค่ 2.9% ส่วนพลังงานเป็นถึง 13% ของน้ำหนักสินค้าในตะกร้า
ทำให้เงินเฟ้อจากพลังงานมีผลกระทบมากกว่า และเป็นสินค้าหลักที่ดันเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมปีที่แล้วไปที่ 2.17%
ส่วนเรื่องราคาหมูแพง🐖 ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ ถึงแม้ว่าราคาหมูจะขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้กระทบเงินเฟ้อมากนัก เพราะสัดส่วนของเนื้อหมูเพียงอย่างเดียวในตะกร้าเงินเฟ้อไม่สูงมาก
แต่ในเดือนนี้ ราคาหมูวิ่งสูงขึ้นไปอีก และราคาเนื้อสัตว์อย่างอื่นก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย รวมไปถึงราคาของอาหารในร้านยังปรับเพิ่มขึ้นตามมาอีก
และเมื่อรวมกันแล้วสินค้าในกลุ่มอาหารพวกนี้ก็กินสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อไปเยอะพอสมควร ดังนั้นเงินเฟ้อในเดือนนี้จึงน่าจะได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น และปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว
(เรื่องราคาพลังงานก็ยังสูงอยู่ ดูจากราคาน้ำมันโลกที่ไม่ลดลงเลย)
🔹 การวิเคราะห์ PPI คู่ไปกับ CPI
ปกติเวลาวิเคราะห์เงินเฟ้อ จะดูจาก CPI เป็นหลัก แต่บางครั้งก็จะมีการพูดถึง PPI และนำมาวิเคราะห์กับ CPI ด้วย เพราะ PPI เป็นเหมือน leading indicator ของ CPI
ตัวอย่างเช่น ถ้า PPI สูง แปลว่าต้นทุนของผู้ผลิตสูง ซึ่งผู้ผลิตก็คงไม่ยอมขายของราคาเท่าเดิม ในขณะที่ต้นทุนแพงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตขึ้นราคาสินค้า ต้นทุนนี้จึงถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคในที่สุด CPI จึงสูงขึ้นตาม PPI
กรณีที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ในตอนนี้ของประเทศไทย 🇹🇭
โดย PPI ของไทย สูงนำ CPI มาตั้งแต่ต้นปี 2021 แล้ว (ก่อนเรื่องราคาหมูแพง) และล่าสุด PPI ของไทยก็วิ่งขึ้นไปถึง 7.7% ในขณะที่ CPI ยังอยู่แค่ 2.17% อยู่เลย (ข้อมูลเดือนธันวามคม 2021)
แปลว่า PPI หรือราคาฝั่งผู้ผลิตสูงขึ้นมาแล้ว แต่ผู้ผลิตยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนนี้มายังผู้บริโภคได้
ทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมาก ในขณะที่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เท่ากับว่า ผู้ผลิตมีกำไรลดลง 📉
ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าผู้ผลิตจะสามารถแบกรับต้นทุนที่สูงมากนี้ต่อไปได้นานแค่ไหน เพราะถ้าต้นทุนสูงขึ้นอีก รายได้อาจไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนสินค้าได้อีกต่อไป และขาดทุนในที่สุด
และเมื่อผู้ผลิตทนรับต้นทุนไม่ไหว อาจนำไปสู่การผลักต้นทุนมาสู่ผู้บริโภค และทำให้ CPI หรือเงินเฟ้อ สูงขึ้นตามมา 📈
สุดท้ายนี้ Macro Snap หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า CPI และ PPI มากขึ้น
รอติดตามเรื่องที่สนุกและเข้าใจง่ายได้อีกในบทความต่อไป
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
📎 Sources
โฆษณา