28 ม.ค. 2022 เวลา 11:02 • ธุรกิจ
ทำไม Nikkei Asia ถึงยกย่องให้ Robinhood เป็น App ที่มีบริการเหนือชั้น
Robinhood X ลงทุนแมน
เมื่อต้นเดือน มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ และเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้
เมื่อ App Food Delivery สัญชาติไทยอย่าง Robinhood คว้ารางวัล Nikkei Asia สาขา Superior Products and Services Award ประจำปี 2564
2
หลายคนอาจยังงง ว่ามันคือรางวัลอะไร
อธิบายสั้น ๆ ก็คือ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่แบรนด์ที่มีบริการเหนือชั้นกว่า
ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น
โดยการมอบรางวัลนี้จัดขึ้นโดย Nikkei Inc. ซึ่งเป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น
1
สงสัยไหมว่าทำไม Nikkei ถึงมองว่า Robinhood คู่ควรกับรางวัลนี้
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือเวลานี้ Robinhood กำลังเติบโตแบบติดเทอร์โบ
ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้ และจำนวนเครือข่ายร้านอาหารที่อยู่ใน App ตัวเอง
แล้ว Robinhood ทำสิ่งที่ใคร ๆ คิดว่ายาก ให้เกิดขึ้นจริง ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในอดีต ธุรกิจ Food Delivery ในเมืองไทย
ถูกยึดครองด้วยผู้เล่นรายใหญ่ที่เป็นบริษัทต่างชาติ โดยมีกฎเหล็กในการหารายได้
คือการเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านอาหารราว ๆ 25-30%
อธิบายให้เห็นภาพก็คือ หากลูกค้าสั่งอาหารในราคา 100 บาท
เจ้าของร้านจะได้รับเงินจริง ๆ อยู่ที่ 70-75 บาท
ซึ่งเรื่องนี้ความจริงก็ไม่ได้ผิดอะไร ขึ้นอยู่กับวิธีคิด และโมเดลธุรกิจของแต่ละบริษัท
เพียงแต่ ธุรกิจร้านอาหาร มีต้นทุนแปรผันตามจำนวนลูกค้า หรือที่เรียกว่า Variable Cost
คือยิ่งมีลูกค้ามากขึ้นเท่าไร ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ
ต้นทุนค่าคอมมิชชัน 25-30% ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ลูกค้าสั่ง Food Delivery
เป็นภาวะจำยอมที่ร้านอาหารต้องแบกรับ พร้อมกับหาวิธีลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ
เพื่อให้ตัวเองมองเห็นกำไรจากการขายผ่าน Food Delivery
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายร้านอาหารต้องคิดหนักมากขึ้นกว่าเดิม
ก็คือช่วงล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด 19
ที่ร้านอาหารแทบจะต้องพึ่งพาการขายผ่าน Food Delivery เกือบ 100%
ค่าคอมมิชชัน 25-30% จึงกลายเป็นต้นทุนที่สร้างแรงกดดันในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นทวีคูณ
1
แล้วใครจะคิดว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคาร SCB จะตัดสินใจลงทุน 300 ล้านบาท
เพื่อสร้าง App Robinhood ที่ฉีกกฎสูตรธุรกิจ Food Delivery
ด้วยค่าคอมมิชชัน 0% จนกลายเป็นข้อได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทันที
แต่ในมุมของ SCB กลับไม่ได้มองในเชิงการแข่งขันมากนัก
เมื่อเป้าหมายของ Robinhood คือการช่วยเหลือร้านอาหารให้อยู่รอดและเติบโต
โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19
ผลของค่าคอมมิชชัน 0% กำลังทำให้ร้านอาหารมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อีกทั้งลูกค้าที่ใช้บริการก็รู้สึกคุ้มค่ากับอาหารที่สั่ง เมื่อร้านอาหารไม่ต้องลดปริมาณอาหาร
เพื่อควบคุมต้นทุนจากการเสียค่าคอมมิชชัน หรือการเอาส่วนต่างตรงนี้มาทำส่วนลดราคาอาหารได้อีก
2
ทีนี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า ข้อเสนอคอมมิชชัน 0% สร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งฝั่งร้านอาหาร
และผู้ใช้บริการให้ดีขึ้นกว่าในอดีตที่มีแต่ App ยักษ์ใหญ่ต่างชาติครองตลาด
4
ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ Nikkei ตัดสินใจมอบรางวัล Superior Products and Services Award
ให้แก่ Robinhood ในครั้งนี้
ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าภูมิใจของคนไทยไม่น้อย
เพราะใครจะคิดว่า App Food Delivery ที่เกิดจากไอเดียคนไทย แถมยังเพิ่งทำธุรกิจแค่ 1 ปี
จะได้รับการยอมรับยกย่องในระดับสากล ขณะที่ App Food Delivery รายอื่น ๆ
ที่เป็นของต่างชาติทำธุรกิจนี้ในเมืองไทยนาน 5-8 ปี
1
และด้วยโมเดลธุรกิจนี้ ก็ยังช่วยให้ Robinhood เติบโตรวดเร็วเกินคาด
เพราะเชื่อหรือไม่ว่า ในเวลาแค่ 1 ปีที่ Robinhood ลืมตาในธุรกิจนี้
ได้สร้างเครือข่ายร้านอาหารกว่า 186,000 แห่ง และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 2.4 ล้านราย
(ข้อมูลเดือน ธ.ค. 2564)
3
แต่นั่นคือตัวเลขที่ Robinhood เปิดบริการแค่อย่างเดียวคือ Food Delivery
แถมยังจำกัดพื้นที่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
1
แล้วเคยคิดบ้างไหมหาก Robinhood เพิ่มพื้นที่บริการไปต่างจังหวัด
จะเติบโตกว่าเดิมมากแค่ไหน ?
ข้อมูลที่เปิดเผยเบื้องต้นก็คือ ในปีนี้จะมีเปิดบริการเพิ่มใน 3 จังหวัดท่องเที่ยว คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะมีร้านอาหารเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 300,000 ร้าน
และมีลูกค้าเป็น 4 ล้านคนภายในปีนี้
2
และด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก็ยิ่งกระตุ้นให้ Robinhood มาไกลเกินกว่าจะเป็นแค่ App Food Delivery
แต่กำลังเตรียมจะเป็น Super App ที่มีบริการหลากหลาย
โดยในเดือนมีนาคม Robinhood เตรียมเปิดบริการ Travel จองที่พักโรงแรม
โดยตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการ 480,000 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว
ที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด 19
บริการใหม่ต่อมา คือ Mart Service ช่วยให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่าง ๆ
ผ่านทาง ไรเดอร์ ที่จะได้สินค้าในเวลารวดเร็ว โดยตั้งเป้าร่วมมือกับร้านค้า 10,000 แห่ง
โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 1.5 ล้านราย
สุดท้ายคือ บริการ Express Service บริการรับส่งสินค้า
ที่ลูกค้าเรียกรถผ่าน App เพื่อไปส่งหรือรับสินค้าจากที่หนึ่ง ไปยังที่หนึ่งในเวลารวดเร็ว
โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 5,000 ราย มีการขนส่งสินค้ากว่า 4,000 รายการต่อเดือน
พออ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการที่ Robinhood ได้รับรางวัลจาก Nikkei
ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ในตอนนี้ โลกการแข่งขันธุรกิจมันกำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ในอดีตสถานะ “ผู้มาทีหลัง” จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะก้าวตามทันคู่แข่งผู้มาก่อน
แต่ในโลกธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เพราะหากใครที่มอบข้อเสนอที่ตอบโจทย์
ที่มาพร้อมบริการที่เหนือชั้น
ก็สามารถวิ่งทันคู่แข่งได้ในชั่วพริบตา
เหมือนอย่างที่ Robinhood กำลังทำอยู่ในตอนนี้ นั่นเอง..
 
References
1
โฆษณา