28 ม.ค. 2022 เวลา 13:30 • สุขภาพ
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เตือน ‘ภาวะเมธฮีโมโกลบิน’ หลังพบเด็กป่วยหลังกินไส้กรอก
1
วันนี้ (28 มกราคม 2565) ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เตือน ‘ภาวะเมธฮีโมโกลบิน’ (Methemoglobin) หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะนี้ 6 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมาใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย, สระบุรี 1 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย, เพชรบุรี 1 ราย และตรัง 1 ราย โดยทั้ง 6 รายมีประวัติรับประทานไส้กรอกไม่ทราบยี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ ในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต
9
ภาวะเมธฮีโมโกลบินคืออะไร
1
ภาวะเมธฮีโมโกลบินในเลือดหรือ ‘เมธฮีโมโกลบินนีเมีย’ (Methemoglobinemia) เป็นภาวะที่ ‘ฮีโมโกลบิน’ ในเม็ดเลือดแดงทำปฏิกิริยากับสารเคมีกลายเป็น ‘เมธฮีโมโกลบิน’ ซึ่งในภาวะปกติฮีโมโกลบินจะทำหน้าที่จับกับออกซิเจน เมื่อกลายเป็นเมธฮีโมโกลบินจะไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และสีเม็ดเลือดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ
5
ร่างกายปกติมีระดับความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบินประมาณ 1% และมีกลไกรักษาระดับเมธฮีโมโกลบินให้อยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าได้รับสารพิษจะทำให้ความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบินมากขึ้น
6
- ความเข้มข้น 3-15% ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำลง
- ความเข้มข้น 15-19% ผิวหนัง ปลายมือปลายเท้า ริมฝีปากสีคล้ำ
- ความเข้มข้น 20-49% หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายขึ้น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นลม
- ความเข้มข้น 50-60% ชีพจรเร็ว หายใจเร็ว ซึม ชัก หมดสติ
- ความเข้มข้น > 70% เสียชีวิต
2
สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
1
สารเคมีที่ทำให้เกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย ได้แก่
- อาหารที่มีปริมาณดินประสิว (Potassium nitrate) เกินขนาด
- สีย้อม
- ลูกเหม็น
- น้ำดื่มที่ปนเปื้อนปุ๋ยไนเตรท
- คลอโรเบนซีน
- สารกำจัดวัชพืชบางชนิด
4
สำหรับกรณีดังกล่าว ศูนย์พิษวิทยาสงสัยสาเหตุจากไส้กรอก ซึ่งเด็กทั้ง 3 จังหวัดรับประทานเหมือนกัน เป็นไส้กรอกที่ติดป้ายว่า ‘ฟุตลองไก่รมควัน’ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีวัน-สถานที่ผลิต ไม่ลงวันหมดอายุ ลักษณะภายนอกไม่ต่างจากไส้กรอกปกติ เนื่องจากสีของไส้กรอก แฮม เบคอน หรือลูกชิ้นไม่ได้บอกว่ามีปริมาณไนเตรทมากหรือน้อย และการปิ้งย่างทอดไม่ได้ทำลายสารพิษนี้
2
สารไนไตรท์-ไนเตรทในอาหาร
ไนไตรท์-ไนเตรท์เป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นสารกันเสีย และทำให้เกิดสีในเนื้อสัตว์เป็นสีแดงอมชมพูในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป หากได้รับในปริมาณที่สูงเกินจะเกิดผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก
2
ในประเทศไทยเคยพบภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมียในผู้ป่วยเด็กที่บริโภคไส้กรอกไก่ ซึ่งมีปริมาณสารไนไตรท์มากกว่า 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 และผู้ป่วยจำนวน 24 ราย ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย หลังจากการบริโภคไก่ทอดที่ใช้สารไนไตรท์ ซึ่งใช้ปริมาณมากเกิดกว่าปริมาณสูงสุดที่อนุญาตหลายเท่า โดยพบว่ามีการใช้โซเดียมไนไตรท์ 100%
2
ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 418 พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรท์หรือโพแทสเซียมไนไตรท์สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดไม่เกิน 80 มก./กก. และโซเดียมไนเตรทหรือโพแทสเซียมไนเตรทไม่เกิน 200 มก./กก.
1
การรักษาภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย
หากสงสัยว่ามีภาวะนี้คือมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะรักษาประคับประคองตามอาการ ให้ออกซิเจนเสริมหากมีอาการเหนื่อยหรือเขียว ให้น้ำเกลือทดแทนหรือหากมีภาวะความดันโลหิตต่ำ และใส่ท่อช่วยหายใจหากมีภาวะหมดสติหรือการหายใจไม่เพียงพอ ยาต้านพิษคือ ‘เมธิลีนบลู’ (Methylene Blue) แพทย์จะพิจารณาให้เมื่อมีข้อบ่งใช้
1
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีแจ้งให้ระวังการรับประทานไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากจะไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการผิดปกติควรไปตรวจที่โรงพยาบาล ขณะนี้ทางศูนย์พิษวิทยาประสานกองระบาดวิทยา​ กรมควบคุมโรค​ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดำเนินการสืบค้นแหล่งที่มาของการระบาดเพิ่มเติมแล้ว
3
เรื่อง: นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก
อ้างอิง:
- ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมียจากพิษของสารกำจัดวัชพืช https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/pdf/books/Antidote_book4-11_Herbicide-induced-Methemoglobinemia.pdf
- แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2/2556 http://food.fda.moph.go.th/data/tradermain/Update%20Food%20Additives2-2556.pdf
3
- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/418_FoodAdditives.pdf
โฆษณา