31 ม.ค. 2022 เวลา 00:45 • ไลฟ์สไตล์
“EP.09 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 1/3”
ลัดสั้น ตรงทางธรรม
”… ขอให้ท่านทั้งหลาย กำหนดใจความนี้ไว้ให้ดี ๆ เป็นหมวดธรรมสำคัญของอานาปานสติ คนจะปฏิบัติมาตามลำดับตั้งแต่หมวด (๑) หมวด (๒) หมวด (๓) แล้วมาถึงหมวด (๔) นี้ก็ได้
หรือจะปฏิบัติอย่างลัดสั้น คือปฏิบัติหมวด (๑) พอสมควร มีสมาธิบ้างแล้ว ก็ลัดสั้นมายังหมวดที่ (๔) นี้ก็ยังได้ เป็นการสะดวกดี และเป็นการประหยัดได้อย่างมาก จึงนับว่ามีความหมายสำคัญ
ความหมายของ “ธรรม” ในกรณีอานาปานสติ หมวด (๔)
สำหรับคำว่า ธรรม โดยทั่วไปนั้นหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร
แต่ว่าในกรณีนี้อานาปานสติหมวดที่ (๔) นี้และ โดยเฉพาะในขั้นนี้ คำว่า ธรรม หมายถึงสิ่งที่มาปรากฏอยู่ในความรู้สึก
ปรากฏอยู่ในความรู้สึก ขอให้ทำความเข้าใจให้ดี ๆ ว่าสิ่งนั้นกำลังรู้สึกอยู่ในภายใน ซึ่งเป็นการสะดวก หรือเป็นการที่จะเป็นไปได้ ในการที่จะกำหนดพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรโดยแท้จริง
โดยเป็นเรื่องจริง แต่โดยเหตุที่ทุกสิ่งไม่ว่าอะไร เรานำเอาความหมายหรือคุณค่าของมันมากำหนดไว้ในใจ ให้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในใจ แล้วก็พิจารณาลงไปที่สิ่งนั้น ก็จะรู้ความจริงของสิ่งนั้น ๆ ได้
สิ่งทุกสิ่งมันมีคุณค่ามีความหมาย เอาคุณค่าหรือความหมายของสิ่งนั้น ๆ เท่าที่เราจะรู้สึกนั้นเองมากำหนดอยู่ แล้วพิจารณาดูว่ามันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็มีลักษณะอย่างไร ยึดถือเข้าแล้วจะเกิดผลเป็นอย่างไร
ขอให้สนใจกันในข้อนี้ ธรรมะอย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นอารมณ์ภายนอก
ธรรมะที่เป็นภายใน มีอยู่ในตัวเอง
ธรรมที่เป็นภายนอก คือ กำหนดเอาสิ่งภายนอกมาทำให้เป็นภายใน แล้วก็กำหนดอย่างเดียวกัน
นี้เรียกว่ากำหนดสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก
เรื่องของผู้อื่นเอามากำหนดเป็นภายในเป็นเรื่องของเราก็ทำได้ เพื่อว่าจะไม่ต้องยึดถือทุกอย่างทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก
เราอาศัยความสัมผัสทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เอาสิ่งนั้นมากระทำเป็นภายในได้ หรือว่าสัมผัสโดยมโนสัมผัสทางใจอย่างเดียว ก็เอามาเป็นอารมณ์สำหรับรู้สึกได้
เป็นอันว่าสามารถที่จะเอาโลกทั้งโลก ทั้งที่เป็นภายนอกทั้งที่เป็นภายใน มาทำเป็นอารมณ์ของการกำหนดนี้ได้ จนกระทั่งว่าไม่มีความยึดถือในสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตน
ซึ่งมีหลักเฉพาะสติปัฏฐานนี้โดยเฉพาะ ว่าไม่เกิดอภิชฌาและโทมนัสในสิ่งใด ๆ คือไม่เกิดเกลียดชังอิดหนาระอาใจในสิ่งใด และก็ไม่เกิดหลงรักพอใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในสิ่งใด หรือพูดอย่างภาษาวิทยาศาสตร์ก็ว่า ไม่เห็นสิ่งใดใด โดยความเป็นบวก หรือโดยความเป็นลบ คือ ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรที่น่าเกลียด
มันเป็นเช่นนั้นเอง นี่คือผลที่ต้องการ สำหรับการศึกษาพิจารณาโดยการปฏิบัติข้อนี้ …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๗
๒๓ เมษายน ๒๕๓๑
โฆษณา