1 ก.พ. 2022 เวลา 01:32 • ไลฟ์สไตล์
“EP.10 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 2/3”
“ … หลักปฏิบัติธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็จะได้พูดถึงตัวการปฏิบัติแห่งหมวดนี้ทั้ง ๔ ขั้น ไปตามลำดับ
ขั้นที่ ๑๓ แห่งอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ก็เป็นขั้นที่ ๑ แห่งหมวดที่ (๔) หรือหมวดธัมมานี้ กำหนดชื่อของมันไว้ให้ดี ๆ ถ้าถือว่าอานาปานสติทั้งหมดมี ๑๖ ขั้น ขั้นที่จะกล่าวนี้ก็เป็นขั้นที่ ๑๓ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะหมวดที่ (๔) นี้หมวดเดียวแล้ว มันก็เป็นขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ (๔)
คือพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง มีหัวข้อเรียกว่า อนิจจานุปัสสี - มีปกติตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่ หายใจเข้า หายใจออก
เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่ในความรู้สึก หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ด้วยความรู้สึกว่ามันไม่เที่ยงอย่างนั้น ๆ
โดยที่ถือเป็นหลักก็เรียกว่า สิ่งนั้นต้องเข้าไปมีอยู่ในความรู้สึกนี้เฉพาะเจาะจง ซึ่งโดยสะดวกที่สุดก็ได้แก่สิ่งทั้ง ๑๒ สิ่ง ในหมวดที่ (๑) ที่ (๒) ที่ (๓)
  • คือย้อนกลับไปกำหนดลมหายใจยาว ที่กำลังรู้สึกอยู่ว่า หายใจยาว ก็เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจยาว
1
  • แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจสั้น
  • แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของการที่ลมหายใจนี้ปรุงแต่งร่างกาย หรือว่าของทั้ง ๒ กาย คือ กายลมหายใจและกายเนื้อ เห็นความไม่เที่ยง
  • แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของการที่กระทำให้ลมหายใจระงับลงไป กายเนื้อก็ระงับลงไป แม้ในตัวความระงับนั้น ก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง นี่ ๔ แล้วความรู้สึกที่รู้สึกอยู่จริง ๆ ในจิตใจ
ฟังดูให้ดี ๆ เดี๋ยวจะไม่เข้าใจว่า
ลมหายใจยาวก็ไม่เที่ยง 🍃
ลมหายใจสั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
ลมหายใจและกายเนื้อที่ลมหายใจปรุงแต่งอยู่นี้ก็ไม่เที่ยง 🍃
การที่ทำให้ลมหายใจระงับจนกลายเนื้อนี้ระงับลงไป
ความระงับนั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
นี่ก็ได้ ๔ ไม่เที่ยงในหมวดที่ (๑)
ที่นี้ในหมวดเวทนา
ปีติเกิดขึ้นปีติก็ไม่เที่ยง 🍃
ความสุขเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง 🍃
ปีติและสุขทั้ง 2 อย่างนี้ปรุงแต่งจิต
การปรุงแต่งจิตนั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
การทำให้ปีติและสุขระงับลง
ระงับจิตตสังขาร ทำปีติและสุขให้ระงับลง
การระงับลงแห่งปีติและสุขนี้ก็ไม่เที่ยง 🍃
ก็เลยได้เป็น ๔ อย่างอีกในหมวดเวทนา
ที่นี้ในหมวดจิต
จิตตามปกติโดยอาการ 8 คู่นั้น
คู่ใดก็ตามก็ไม่เที่ยง 🍃
การทำจิตให้ปราโมทย์บันเทิง
ความปราโมทย์บันเทิงนั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
ทำจิตให้ตั้งมั่น
ความตั้งมั่นนั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
ทำจิตให้ปล่อย
ความปล่อยนั้นก็ไม่เที่ยง 🍃
นี่ก็ได้อีก ๔ อย่างในหมวดจิตตานุปัสสนา
นี่ ๓ หมวดหมวดละ ๔ อย่างก็เป็น ๑๒ อย่าง แต่ละอย่าง ๆ กำหนดได้ในความรู้สึกในกายในเห็นชัดอยู่ แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเปลี่ยนแปลง
ถ้าจะเอาอะไรข้างนอกทั้งหมดในโลก มาทำให้เห็นความไม่เที่ยง ก็ต้องเอามาทำในความรู้สึก ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร รู้สึกต่อคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอยู่ จึงจะเห็นความไม่เที่ยงโดยตรง โดยเจาะจงของสิ่งนั้น ๆ
ทีนี้ก็มาดูความหมายของคำว่า อนิจจัง
อนิจจัง ความไม่เที่ยง นี้เป็นจุดตั้งต้นของการเห็นประเภทธัมมัฏฐิติญาน
เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาณ คือ การตั้งอยู่ตามธรรมดา
ความจริงของสิ่งที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา
มีกี่อย่างก็เอามาดูกันตอนนี้
อย่างแรกก็คือความไม่เที่ยงเป็นจุดตั้งต้น เห็นความไม่เที่ยง ก็เห็นได้ว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การที่ต้องผูกพันอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ มันก็เป็นทุกข์ เป็นลักษณะที่ 2 คือความทุกข์
ไม่มีอะไรที่จะต้านทานความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์นี้ได้ นี้คือความเป็นอนัตตา
แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในความรู้สึก มันเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย ตามเหตุตามปัจจัยเรื่อย ก็เป็นอนิจจัง
เพราะต้องอยู่กับอนิจจัง ผูกพันอยู่กับอนิจจัง มันก็ต้องเป็นทุกข์
ไม่มีอะไรต่อต้านความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ได้ นี้ก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนจะหยุดยั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์
เห็นได้ ๓ อย่างแล้วว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ที่นี้ก็อยากจะแยกแยะให้ละเอียด ให้ละเอียด ซึ่งเขาไม่ค่อยพูดกันนักหรอก แต่ว่าเราจะพูดให้เห็นชัดให้เห็นละเอียด โดยอาศัยหลักที่มีอยู่ในพระบาลีนั้นเองว่า
เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ย่อมจะเห็นธัมมัฏฐิตตา คือความตั้งอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา ความตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ
ความตั้งอยู่โดยธรรมชาติตามธรรมดา นี่ธัมมัฏฐิตตา
คือลักษณะที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นแหละ
เป็นธัมมัฏฐิตตา ตั้งอยู่โดยธรรมดา
แล้วก็เห็นลึกลงไปว่ามันมีกฎบังคับอยู่อย่างนั้น
เรียกว่า ธัมมนิยามตา โดยกฎบังคับของธัมมนิยาม
ความเป็นกฎธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น
เห็นชัดอย่างนี้ เรียกว่า เห็นธัมมนิยามตา
ดูไป ๆ ก็ยิ่งเห็นว่า โอ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ
มีเหตุให้เกิดผล แล้วผลก็กลายเป็นเหตุให้เกิดผล
ผลกลายเป็นเหตุแล้วก็ให้เกิดผล
ผลกลายเป็นเหตุแล้วก็ให้เกิดผล
ไม่มีที่สิ้นสุดเหลือจะกำหนดนับ
นี่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจัยตา - ความที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ นี่เห็นอิทัปปัจจยตา
ชุดนี้ก็แยกได้อีกเป็น ๓ ว่า
ธัมมัฏฐิตตา เห็นความที่เป็นไปตามกฎธรรมดา
ธัมมนิยามตา เห็นว่ามันมีกฎบังคับอยู่อย่างนั้น
อิทัปปัจจยตา คือความที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ที่นี้ดูต่อไปก็จะเห็น โอ้ ว่างจากอัตตา ว่างจากความหมายแห่งตัวตน
ไม่มีส่วนใดที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน นี้เรียกว่าเห็นสุญญตา เห็นสุญญตา เมื่อเห็นสุญญตาเป็นไปถึงที่สุด ก็เห็นตถาตาว่า โอ้ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง
สรุปความทั้งหมดตั้งแต่อนิจจตามาจนถึงอันนี้ เห็นเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง เห็นตถาตา เห็นตถตาถึงที่สุดแล้ว โอ้ ก็รู้สึกว่า อาศัยมันไม่ได้อีกแล้ว
จะผูกพันกับมันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จะยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เลิกกันที พอกันที นี้ก็เรียกว่า อตัมมยตา เป็นคำที่แปลกใหม่ที่นำเอามาให้ได้ยินได้ฟัง เป็นหมันอยู่ในพระบาลีนมนานแล้ว
อตัมมยตา แปลว่า ความพอกันที ในการที่จะผูกพัน ยึดมั่นอาศัยปรุงแต่งกันอย่างที่แล้วมานี้ พอกันที พอกันที
ขอพูดเป็นภาษาชาวบ้าน ค่อนข้างโสกโดกธรรมดา ๆ ว่ามีความรู้สึกขึ้นมาเต็มที่ว่า “กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว”
กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว มันเข้าใจง่ายดี
นี่ความรู้สึกอันสุดท้ายนี้ ที่เห็นธัมมัฏฐิติญาณมาตามลำดับแล้ว
มันมาจบลงที่เห็นว่า กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว
กูเอากับมึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
กูอยู่กับมึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
กูผูกพันกับมึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
นี่ จำไว้เถอะว่าเป็นธรรมะศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ในการที่จะละจากสิ่งใด จะละจากสิ่งใดต้องประพฤติกระทำจนให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า อตัมมยตา ขึ้นมาในสิ่งนั้น
นับตั้งแต่ว่ามันจะหย่าขาดจากบุหรี่ มันจะหย่าขาดจากขวดเหล้า มันก็ต้องพิจารณาจนเห็นชัดทีเดียวว่า กูเอากับมึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว โดยแน่นอน มันจึงจะทิ้งบุหรี่ได้ ทิ้งเหล้าได้
หรือมันจะหย่าผัวหย่าเมีย หย่าอะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันจะหย่าขาดกันได้จริง มันก็ต้องเห็นถึงขั้นที่ว่า ไม่ไหว ๆ เกี่ยวข้องกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จะละอะไรก็ตาม จะละความชั่วชนิดไหนก็ต้องมาถึงขั้นที่มองเห็นชัดว่า ไม่ไหว เอากับมันไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว
เดี๋ยวนี้ก็จะหย่าขาดจากสังขารทั้งปวง จากโลกทั้งปวง ที่เคยยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นของตนมาตลอดกาลนาน บัดนี้มาถึงขั้นที่จะหย่าขาดจากกัน ไม่มีอุปาทานในสิ่งนั้นอีกต่อไปแล้ว ก็ต้องพิจารณามาโดยลำดับ จนเห็นถึง อตัมมยตา ความรู้สึกว่า เกี่ยวข้องกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
นี่ทบทวนดูให้ดี ๆ ว่า
มันเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ชุดหนึ่ง ๓ อย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วก็เห็นธัมมัฏฐิตตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา อีกชุดหนึ่ง
ครั้นแล้วมันก็เห็นสุญญตา ตถาตา อตัมมยตา อีกชุดหนึ่ง
รวมเป็น ๓ ชุดชุดละ ๓ สาม มันก็คือ ๙ ตา
๙ ตา : ตา ตา ตา มา ๙ ตานั้น
ก็ถึงอตัมมยตาแหละ อยู่กันไม่ไหวอีกแล้ว
นี่มันมาจากการเห็นอนิจจังเป็นจุดตั้งต้น แล้วการเห็นนั้นลึกซึ้ง ๆ ขยายตัวออกไป ขยายตัวออกไปจนกระทั่งเห็นอตัมมยตา มันเป็นชื่อที่แปลกประหลาด เพราะไม่ค่อยมีใครเอามาพูด
เดี๋ยวนี้ก็อยากเอามาพูดให้ได้ยินได้ฟังให้เป็นของธรรมดา ให้รู้จักกันเสีย การละสิ่งสุดท้ายที่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอันสูงสุดนั้น ละด้วยอตัมมยตาที่สูงสุด
แต่เราก็เอาอตัมมยตาลดลงมาในระดับที่จะละของสามัญตามธรรมดาก็ได้ อะไรที่จะต้องละ มันก็จะต้องละได้ด้วยการเห็นว่าเช่นนั้นเอง เห็นเช่นนั้นเอง ตถาตาแล้ว เอากับมันไม่ได้อีกต่อไป
ขออภัย ยกตัวอย่างด้วยพวกทัศนาจรทั้งหลาย พวกทัศนาจรทั้งหลาย ทัศนาจรเกาะสมุยบ้าง เกาะพีพีบ้าง เกาะอะไรบ้าง ทัศนาจรเมืองนั้น เมืองนี้เมืองโน้น เขายังไม่เห็นตถาตา มันก็ไปแหละ
1
จะไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนา ไปไหนก็ตามใจ ถ้ามันยังไม่เห็นตถาตาว่าเช่นนั้นเอง มันก็ต้องไปอีกแหละ
หรือมาสวนโมกข์นี้ก็เหมือนกันหมด ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นเอง มันก็มาอีกแหละ ถ้ามันเห็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มันก็หยุดมา
ฉะนั้น ตถาตา ตถาตานั่นแหละ ทำให้เห็นว่าพอกันที พอกันที ไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว
นี่ช่วยเข้าใจกันไว้ให้ดี ๆ โดยเฉพาะพวกทัศนาจร ชอบทัศนาจร เสียเท่าไรไม่ว่า ไปทัศนาจร มันน่าสงสารที่ว่าไปเท่าไร ๆ มันก็ไม่เห็นเช่นนั้นเอง
เมื่อยังไม่เห็นเช่นนั้นเอง มันก็ต้องไปอีกแหละ มันก็ต้องไปอีกแหละ ไปที่เดียวกันนั่นแหละ มันก็ไปอีกแหละ
ถ้าเห็นว่า อ้อ มันเช่นนี้เอง หรือเช่นนั้นเอง มันก็ไม่ไป มันก็จะหยุดไป
นี่ คำว่าตถาตานี้มีความหมายมากทีเดียว ที่จะทำให้ละหรือหย่าขาดจากสิ่งใด ๆ เพราะว่าถ้ามันเกิดตถาตา ๆ แล้ว มันก็เกิดอตัมมยตา ในความหมายที่ว่า พอกันที กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว
ไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว นี่มันก็ไม่ลำบาก มันก็หยุด มันก็หยุด มันก็หมดเรื่องที่ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา หรือว่าไปเกาะติดอยู่ที่ไหน ไม่ต้องเที่ยวแสวงหาอะไร ไม่ไปเที่ยวหลงยึดมั่นอยู่ในอะไรในที่ใด อย่างนี้เรียกว่า อตัมมยตา เป็นผลที่เกิดมาจากการเห็นอนิจจตา อนิจจังเป็นข้อแรก
ขอไล่ทบทวนอีกทีว่า
เห็นอนิจจตา ไม่เที่ยง
เห็นทุกขตา ความเป็นทุกข์
เห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตน
เห็นธัมมทิฏฐิตตา ความที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา
ธัมมนิยามตา เพราะมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนั้น
อิทัปปัจจยตา คือต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
แล้วสุญญตา ว่างจากตัวตน
แล้วก็ตถาตา เช่นนั้นเอง
อตัมมยตา พอกันทีสำหรับการเกี่ยวข้อง
สำหรับการผูกพันเกี่ยวข้องด้วยอุปาทาน
พอกันที พอกันที หยุดกันที
2
นี่ขั้นเดียวคำเดียวของอนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยงนี้ มันขยายความออกไปได้อย่างนี้
นี้โดยเฉพาะในอานาปานสติภาวนา ที่จะเห็นความไม่เที่ยงนี้ มันมุ่งหมายไปถึงเห็นอนัตตานั่นแหละเป็นส่วนใหญ่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นอนัตตา จึงจะเห็นถึงที่ใจความสำคัญ หรือเห็นเช่นนั้นเอง
เห็นเช่นนั้นเองก็เห็นว่ามันเป็นสักว่านามรูป เป็นเพียงนามรูป อะไร ๆ จะสวยจะไม่สวย จะอร่อยจะไม่อร่อย อย่างชนิดไหนก็ตามเถอะ มันก็เป็นเพียงนามรูป นามรูป สักว่าเป็นเพียงนามรูป ไม่มีอะไรไปกว่านั้น
หรือถ้าชัดไปกว่านั้นก็มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นอนัตตา มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นของมันเอง มันเป็นอนัตตา ไม่มีอัตตาอยู่ในสิ่งนั้น จะใช้คำว่าเห็นเป็นเพียงนามรูปก็ได้ จะใช้คำว่า เห็นเป็นอนัตตาก็ได้ มันมีผลเท่ากันแหละ
ถ้าเห็นเป็นเพียงนามรูป ก็คือมิใช่อัตตา
ถ้าเห็นเป็นมิใช่อัตตา มันก็คือเป็นเพียงนามรูป
ฉะนั้นกำหนดไว้ให้ดี ๆ ว่าจะเห็นให้หยุดยึดมั่นถือมั่น ก็คือเห็นเป็นเพียงนามรูป เป็นไปตามปัจจัย หรือว่าเห็นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่จะเป็นตัวเป็นตนอะไรได้
การเห็นนี้เป็นไปตามระบบของจิต จิตมันสามารถทำอย่างนั้น เมื่อมันได้รับการแวดล้อม มีปัญญา มีคุณสมบัติทางปัญญาขึ้นมาแล้ว มันก็เห็นได้เช่นนั้น โดยจิตนั้นเอง ไม่ต้องมีตัวอัตตาที่ไหนเข้ามาสิงสู่ แล้วจะได้เห็น ไม่ต้อง ๆ
ไม่ต้องมีตัวอัตตาเข้ามาสิงสู่ในกายในจิตนี้ แล้วจะได้เห็น นี้ไม่ต้อง
จิต ลำพังจิต เมื่ออบรมดีแล้ว มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าปัญญา ปัญญาหรือญาณทัสสนะตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็เห็นได้ตามลำพังจิตเลย ไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องเอาอัตตาเข้ามาช่วย มันก็เห็นได้
ที่นี้ก็จะแก้ข้อสงสัยว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสระบุแต่อนิจจังข้อเดียว ในธัมมามานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อแรก ระบุแต่อนิจจัง ๆ เท่านั้นแหละ แล้วก็ไปตรัสวิราคะ นิโรธะ ปฏินิสสัคคะ ไปเลย
ขอให้เข้าใจว่าตรัสเพียงอนิจจัง อนิจจังคำเดียวนั้น อนิจจังมันคลอดลูกออกไปจนถึงที่สุดจนครบหมดของพวกธัมมัฏฐิติญาณ
ญานแบ่งเป็น ๒ พวก :
พวก ๑ ธัมมัฏฐิติญานเบื้องต้น ให้เห็นความเป็นจริงของสังขารทั้งปวง ว่าเป็นอย่างไร นี้มีกี่ญาน ๆ ก็เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาน
ครั้นธัมมัฏฐิติญานเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ก็เกิดนิพพานญาน ญานที่จะทำให้นิพพาน คือหลุดพ้นออกไป เป็นดับสนิทแห่งตัวตน
ญาน จะมีกี่สิบญานกี่ร้อยญานก็แยกเป็น ๒ พวก :
พวกหนึ่งเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง ในหลาย ๆ ชื่อ
เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาน คือการตั้งอยู่ตามธรรมดา
แล้วต่อมาก็เป็นนิพพานญาณ
ก็เห็นตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงตามธรรมดา
แล้วก็ปล่อยวาง ก็หลุดพ้น ก็เป็นนิพพาน เป็นมรรค ผล นิพพาน
ฝ่ายนี้จะมีอยู่กี่ญาน ๆ ก็เรียกว่า นิพพานญาณ
คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่อยมาจนถึงอตัมมยตา
ไม่เอากับมันอีกแล้วโว้ย
นี่พอฝ่ายนี้ ต่อไปจากนี้ก็ปล่อยวาง ก็ปล่อยวาง
ก็เป็นมรรค ผล นิพพาน
สังเกตดูให้เข้าใจถึงเรื่องธรรมดาสามัญ ว่าถ้าเห็นมาถึงว่า เอากับมันไม่ได้อีกต่อไปแล้วโว้ย มันก็หย่าขาดจากสิ่งนั้น
อตัมมยตานั้นอยู่ตรงกลาง คั่นแดน อยู่ตรงแดน ปันแดน ข้างหนึ่งอยู่ในโลก ขาข้างหนึ่งอยู่ในโลก ขาข้างหนึ่งอยู่ในโลกุตระ ปันแดนกันที่ตรงนั้น
เดี๋ยวนี้เห็นอนิจจังตามลำดับ ๆ มาถึงอตัมมยตา ก็เห็นว่าหมดครบถ้วนในฝ่ายธัมมัฏฐิติญาณ ต่อไปนี้ก็จะเป็นฝ่ายนิพพานญาน
การปฏิบัติในข้อนี้ เดี๋ยวนี้เห็นอนิจจังในอะไร ก็กำหนดความรู้สึกอนิจจังในสิ่งนั้น หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
เห็นอนิจจังในสิ่งใดในความรู้สึกในภายใน กำหนดอนิจจังนั้นแหละในความรู้สึก แล้วหายใจเข้าก็อนิจจัง หายใจออกก็อนิจจัง
หายใจเข้าก็อนิจจัง หายใจออกก็อนิจจัง
แต่ไม่ใช่ปากว่า ไม่ใช่ปากว่า ไม่ใช่ท่องบ่น
แต่เป็นการเห็นด้วยความรู้สึกว่าอนิจจัง
เช่น ลมหายใจยาวเป็นอนิจจังก็เห็นชัดอยู่
หายใจเข้าก็เห็นอยู่ หายใจออกก็เห็นอยู่
หายใจเข้าก็เห็นอยู่ หายใจออกก็เห็นอยู่
อย่างนี้ทุก ๆ ลม ทุก ๆ อารมณ์ที่เป็นอนิจจัง
หายใจยาวก็อนิจจัง ลมหายใจก็อนิจจัง
ความยาวก็อนิจจัง
ลักษณะอาการก็อนิจจัง ผลของมันก็อนิจจัง
เห็นอนิจจังซึมซาบแก่จิตใจ
แล้วรู้สึกอนิจจังนั้นอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
หายใจเข้าอยู่หายใจออกอยู่
นี่คือการปฏิบัติอนิจจัง ทำมาอย่างนี้จนหมดทั้ง ๑๒ อารมณ์ของ ๓ หมวดหมวดละ ๔ อย่างที่พูดมาแล้ว โดยหัวข้อ
ลมหายใจยาวอนิจจัง 🍃
ลมหายใจสั้นอนิจจัง 🍃
ลมหายใจ กายลมและกายเนื้อสัมพันธ์กันอยู่ก็เป็นอนิจจัง 🍃
กายลมระงับ กายเนื้อระงับ อนิจจัง 🍃
ปีติอนิจจัง 🍃
สุขอนิจจัง 🍃
ปรุงแต่งจิตอนิจจัง 🍃
ปิติสุขระงับลง จิตระงับลง ก็อนิจจัง 🍃
จิตทุกชนิดอนิจจัง 🍃
จิตปราโมทย์อนิจจัง 🍃
จิตตั้งมั่นอนิจจัง 🍃
จิตปล่อยวางอนิจจัง 🍃
อนิจจัง ๆ ไม่ใช่ปากว่า แต่รู้สึกเห็นอยู่อย่างแจ่มแจ้ง
แล้วก็หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
ในข้อนี้ก็หายใจเข้า หายใจออกอยู่
ด้วยความเห็นว่าอนิจจัง …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๗
๒๓ เมษายน ๒๕๓๑
โฆษณา