29 ม.ค. 2022 เวลา 13:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หลายคนเข้าใจว่า ถ้าเราลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้น กองทุนตราสารหนี้นั้นๆ ได้รับดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่ถือ ทำให้ได้เงินผลประโยชน์เข้ามาในกองทุนนั้นเรื่อยๆ ดังนั้นกองทุนตราสารหนี้ในระหว่างทาง NAV ควรจะค่อยๆ บวกเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วในระหว่างทางกองทุนเหล่านี้สามารถผันผวนในทางลงได้ด้วยเช่นกัน ทำไมเป็นแบบนี้ มาอ่านโพสนี้กัน...
เริ่มต้นกันที่ NAV (Net Asset Value) หรือ ทรัพย์สินสุทธิของกองทุน คิดมาจากมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน รวมถึงเงินผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนได้รับ หักด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุน ก็ได้ออกมาเป็นทรัพย์สินสุทธิของกอง
และถ้านำ NAV มาหารด้วย จำนวนหน่วยลงทุน ก็จะเป็น NAV ต่อหน่วย ซึ่งกองทุนจะทําการคํานวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน
ราคา NAV หรือมูลค่าหน่วยลงทุนของกองตราสารหนี้ ขึ้นกับปัจจัยใหญ่ 5 อย่าง..
1. ดอกเบี้ยที่ได้รับ การลงทุนในตราสารหนี้นั้น ก็จะได้ดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในตราสารนั้น ถึงจะไม่ได้รับดอกเบี้ยในทุกวัน แต่ก็จะมีการบันทึกทางบัญชีเป็นลักษณะการทยอยรับรู้รายได้ดอกเบี้ยนี้เข้ามาในทุกวัน ซึ่งด้วยปัจจัยนี้ก็จะทำให้ NAV กองทุนค่อยๆ บวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันได้
ซึ่งโดยทั่วไป ตราสารหนี้ระยะยาว ก็จะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากในระหว่างทางที่ถือมีโอกาสที่จะถูกเรื่องการปรับขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปัจจัยอื่นๆ มากระทบ ทำให้มูลค่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ ตราสารหนี้ระยะยาวก็มักจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า
2. อัตราดอกเบี้ย “ตราสารหนี้เดิมจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง และตราสารหนี้เดิมจะมีมูลค่าน้อยลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น” หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่เขาพูดถึงมูลค่าของตราสารหนี้ประมาณนี้
เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ตราสารหนี้ที่เรามีอยู่เดิมได้ดอกเบี้ยดีกว่าดอกเบี้ยใหม่ที่ประกาศ ก็ทำให้ ถ้าเราขายตราสารหนี้นั้นออกมาก็จะขายได้ราคาสูงขึ้น (เพราะดอกเบี้ยที่เราถือนั้นสูงกว่า
ตราสารหนี้รุ่นใหม่)
เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น พันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ออกมาใหม่นี้ก็จะได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ในตลาด เพราะฉะนั้นตราสารหนี้เดิมที่ออกมาก่อนหย้าที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยใหม่ ถ้าเราจะซื้อหรือขาย ก็จะซื้อหรือขายตราสารหนี้ชุดเดิมนั้น ได้ในมูลค่าหรือราคาที่ถูกกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว
สำหรับกองทุนรวมนั้น ถ้าตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่มีมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้น หรือลดลง ถึงแม้ไม่ได้ขายออกมา แต่มูลค่าในตลาดลดลง ก็ก็ต้องมีการบันทึกมูลค่าที่ลดลงนั้นด้วย และถ้าตราสารหนี้นั้นมีมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้น ก็จะบันทึกเป็นบวกเพิ่มขึ้นด้วย ที่เราเรียกว่าเป็นการ Mark to Market
ดังนั้นตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่ถ้าอายุที่เหลือของตราสารยิ่งนาน ก็ยิ่งถูกมีโอกาสที่จะถูกปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยมากระทบได้มาก
3. การซื้อหรือขายทรัพย์สินของกองทุน การตัดสินใจซื้อขายทรัพย์สินเข้า หรือออกจากกองทุนของผู้จัดการกองทุน ก็จะส่งผลต่อค่า NAV ของกองทุนได้ ดังนั้นการตัดสินของผู้จัดการกองทุนก็สำคัญในการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ย และประมาณการณ์การเพิ่มหรือลดลงของมูลค่าตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่
4. ค่าธรรมเนียม กองทุนรวมนั้นก็จะมีค่าธรรมเนียมที่เราเรียกว่า TER (total expense ratio) ค่านี้จะแสดงเป็น % ต่อปี เช่น 1% ต่อปี ซึ่งเขาจะนำมาหักเฉลี่ยเป็นรายวัน ก็คือ 1%/ 365 = 0.00274% ต่อวัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่ายรายวันของกองทุนเกิดขึ้น ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายนี้จะมีการหักในทุกวัน ไม่ว่าวันนั้นจะได้กำไร หรือขาดทุนก็ตาม
ถ้ามูลค่าตราสารที่กองถืออยู่ในพอร์ตลดลง และมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมที่หักเขามาเป็นรายวัน รวมกันแล้ว มากกว่าดอกเบี้ยที่รับรู้รายได้เข้ามาในแต่ละวัน ก็อาจจะทำให้ NAV ของกองตราสารหนี้เป็นลบได้
1
5. การจ่ายปันผล ถ้ากองทุนมีการจ่ายปันผลออกมา ก็จะส่งผลโดยตรงทำให้ NAV ของกองลดลง เพราะการปันผลนั้น ปันออกมาจากทรัพย์สินของกองทุน ดังนั้นกองตราสารหนี้ที่มีการจ่ายปันผลระหว่างทาง เราก็จะเห็น NAV ปรับลดลงเป้นช่วงๆ ที่มีการจ่ายปันผลได้ แต่กองตราสารหนี้ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยปันผล จึงไม่ค่อยถูกปัจจัยนี้กระทบ
ดังนั้นการลงทุนในกองตราสารหนี้นั้นถ้าดูแนวโน้มเราก็จะเห็นการปรับขึ้น แต่ก็มีความผันผวนเกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง เพียงแต่ไม่ผันผวนมากเท่ากองทุนรวมหุ้น
#กองทุนรวม
#ตราสารหนี้
#กองทุนรวมตราสารหนี้
#NAV
#มูลค่าหน่วยติดลบ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา