2 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • คริปโทเคอร์เรนซี
เปรียบเทียบการเก็บภาษีคริปโตของต่างประเทศ
แนวทางในการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนด ก็คือ มุมมองต่อคริปโตของแต่ละประเทศ
โดยในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปสำรวจผ่านกรณีศึกษาของหลายประเทศว่า มุมมองที่แตกต่างกันต่อคริปโตส่งผลอย่างไรต่อการเก็บภาษี
📌 สหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ จัดให้คริปโตเป็นสินทรัพย์การลงทุนประเภทหนึ่ง ทำให้มันจำเป็นต้องเสียภาษีกำไรจากหลักทรัพย์ (capital gain tax) นั่นเอง
2
โดยอัตราภาษีของคริปโตในอเมริกาจะอยู่ตั้งแต่ 0-37% ขึ้นอยู่กับระดับรายได้และระยะเวลาในการถือครอง ซึ่งมีเส้นแบ่งระยะเวลาอยู่ที่ 1 ปี
โดยผู้ที่ถือคริปโตนานกว่า 1 ปีอาจจะไม่เสียภาษีจากกำไรเลยก็ได้ หากมีรายได้รวมทั้งหมดของตนเองอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
📌 สวิสเซอร์แลนด์
สวิสเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่มีความพิเศษในการเก็บภาษี จากรายได้ที่เกิดจากการขายสินทรัพย์ เพราะ สวิสเซอร์แลนด์ยกเว้นภาษีส่วนนี้ ให้กับนักลงทุนจำนวนมาก
2
ซึ่งนี่รวมถึงสินทรัพย์อย่างอื่นด้วยนอกจากคริปโต ทั้งหุ้นหรือพันธบัตรก็ได้รับการยกเว้นภาษีกำไรจากหลักทรัพย์ เพราะสวิสเซอร์แลนด์จัดสินทรัพย์พวกนี้เป็น “Private Wealth Asset”
ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่บริษัทหรือนักลงทุนเต็มตัว ก็ไม่ต้องกังวลใจที่จะเสียภาษีจากการขายคริปโตเลย อย่างไรก็ดี คุณก็อาจจะยังเสียภาษีความมั่งมี (Wealth Tax) ที่เก็บจากสินทรัพย์รวมของคุณได้อยู่จากการถือครองคริปโต
📌 เยอรมนี
อาจจะสร้างความประหลาดใจให้กับหลายท่าน แต่เยอรมนีถือได้ว่าเป็น “crypto tax haven” หรือที่ปลอดภัยของภาษีที่คริปโต ที่หนึ่งเลยทีเดียว
ด้วยมุมมองต่อคริปโตที่ทางเยอรมันมองว่ามันเป็น “สินทรัพย์ส่วนตัว (private assets)” ทำให้ภาษีส่วนที่นำมาใช้เก็บจากรายได้คริปโต จึงเป็นภาษีจากรายได้ (income tax) แทนที่จะใช้ ภาษีกำไรจากหลักทรัพย์ (capital gain tax) เหมือนในหลายประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น เยอรมันก็ยังจะยกเว้นภาษีรายได้จากคริปโตให้อีก หากคุณถือครองมันมากกว่า 1 ปี หรือแม้ว่าจะถ้าถือครองน้อยกว่า 1 ปี แต่กำไรไม่เกิน 600 ยูโรต่อทั้งปีนั้น คุณก็จะได้รับการยกเว้นในการเสียภาษีอยู่ดี
อย่างไรก็ดี รายได้จากขุดเหมืองคริปโต การรับเงินเดือน หรือพวกธุรกรรมของคริปโตต่างๆ ก็ยังเสียภาษีตามอัตรารายได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี
📌 ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังมีท่าทีเฝ้าระวังสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ เห็นได้จากที่ทางญี่ปุ่นถือว่า รายได้จากคริปโตเป็นรายได้ในหมวดจิปาถะ (Miscellaneous Income)
ซึ่งการจัดให้รายได้จากคริปโตเข้าไปอยู่ในหมวดนี้ ทำให้กำไรคริปโตในญี่ปุ่นอาจจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดถึง 45% และเมื่อต้องรวมกับภาษีผู้อาศัยท้องถิ่น (Inhabitant tax) ที่บริษัทต้องจ่ายให้กับรัฐบาลท้องถิ่น ในการตั้งบริษัทในเขตพื้นที่ในอัตราคงที่ 10% ก็ทำให้ภาษีรวมกันอาจจะสูงถึง 55% ได้เลย
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจ และถูกยกมาเปรียบเทียบ ก็คือ อัตราภาษีการขายหุ้นในญี่ปุ่น ที่เก็บภาษีจากกำไรแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าภาษีคริปโตอยู่พอสมควรเลย
📌 อินเดีย
อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่เฝ้าระวังการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยก่อนหน้านี้เคยประกาศออกมาว่า จะแบนการใช้คริปโตในประเทศด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้เอง ทางรัฐบาลอินเดียก็ออกมาประกาศแสดงความชัดเจนมากขึ้นในประเด็นนี้ โดยเปลี่ยนมาเป็นการเก็บภาษีในอัตรา 30% แทน และก็จะมีการเก็บเพิ่มอีก 1% ในทุกๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในงานแถลงเดียวกัน ทางรัฐบาลอินเดียก็ยังได้พูดถึง สกุลเงินดิจิทัลของตัวเองด้วย ที่มีชื่อว่า “digital rupee” ที่จะเปิดตัวในปีนี้ ซึ่งก็อาจจะมีนัยยะบางอย่างต่อตลาดคริปโตอินเดียในอนาคตเพิ่มเติม
📌 เอล ซัลวาดอร์
ประเทศสุดท้ายที่ยกมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ คือ เอล ซัลวาดอร์ ประเทศที่ถือว่าเป็น “เศรษฐกิจบิทคอยน์แห่งแรก”
จากข่าวที่สร้างความฮือฮาในปีก่อน ที่ประเทศประกาศให้สามารถใช้บิทคอยน์เพื่อซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศได้ (means of payment) ซึ่งด้วยนโยบายนี้เอง ก็ทำให้ไม่มีการเก็บภาษีกับบิทคอยน์ในประเทศเลย
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา IMF ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถือบิทคอยน์ของเอล ซัลวาดอร์ได้ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากทางเอล ซัลวาดอร์ ที่จะลดสัดส่วนการถือครองบิทคอยน์ลง
ท้ายที่สุดนี้ มุมมองต่อคริปโตและการเก็บภาษีในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปแบบชัดแจ้งว่า แบบไหนเป็นรูปแบบที่ถูกต้องที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในความสนใจของรัฐบาลแต่ละประเทศทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
มีรายงานหนึ่งจากทาง PWC ที่น่าสนใจ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภาษีคริปโต โดยมีผลส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลหลายประเทศก็ยังไม่ได้ออกคำแนะนำในการเก็บภาษีสินทรัพย์เหล่านี้อย่างชัดเจน ในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของ NFTs
แสดงให้เห็นว่า พวกเขาก็ยังมีการบ้านที่ต้องตอบอยู่ ถึงความเหมาะสมและบทบาทที่พวกเขาอยากให้คริปโตเป็นในประเทศของตนเอง ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกสักพักถึงมันจะตกผลึกชัดเจน และถ้าสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ เป็นอนาคตอย่างแท้จริง ก็เชื่อว่า กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์บทบาทของมันเอง
#Tax #ภาษี #ภาษีคริปโต #ภาษีคริปโท #คริปโต #Cryptocurrency #สหรัฐ #สวิส #เยอรมนี #ญี่ปุ่น #อินเดีย #เอลซัลวาดอร์ #Cryptotax
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา