2 ก.พ. 2022 เวลา 12:15 • สุขภาพ
เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” (3)
วันนี้ผมพบคุณตาท่านหนึ่งมารับยาแทนให้คุณยายซึ่งเป็นภรรยา ผมเห็นคุณตาแข็งแรง กระฉับกระเฉง ผมชมท่านไป ท่านเลยถามผมกลับมาว่า
“หมอลองทายดูว่าผมอายุเท่าไหร่” ผมตอบว่า 70 ปี คุณตาบอกว่า ยังไม่ใช่ ผม 85 แล้วหมอ แล้วคุณตาก็ลุกนั่งยองๆกับพื้น พร้อมกับลุกขึ้นยืนทันที โดยไม่ต้องจับอุปกรณ์ใดๆ ทำซ้ำๆให้ผมดูติดกันอีก 2-3 ครั้ง
“ลูกๆผมดูแลดีน่ะหมอ” คุณตาพูดทิ้งท้าย
แค่นี้ผมก็บอกได้เลยว่า ท่านไปถึง 100 ปีได้สบายๆแน่ๆ เวลาเห็นผู้สูงอายุแข็งแรงแบบนี้ เราก็พลอยมีความสุขไปด้วย แต่ใช่ว่าผู้สูงอายุจะโชคดีแบบนี้กันทุกคน .....
ประเทศไทยเราก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ต่างจากหลายๆประเทศ แต่จุดอันตรายก็คือ สังคมไทยเรายังไม่พร้อมรับมือกับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง เราก้าวมาถึงจุดนี้เร็วไปหลายปี เรามาถึงโดยปราศจากแผนรองรับ นับเป็นคลื่นปัญหาสังคมที่พร้อมซัดเราอีกรอบหลังจบเรื่องโควิด
จากข้อมูลสถิติของประเทศเราพบว่า มีผู้สูงอายุเพียง 10% เท่านั้นที่มีลูกหลานดูแล นอกจากนี้จำนวนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั้งของรัฐและเอกชนในประเทศไทยนั้น มีเพียง 500 กว่าแห่ง และส่วนใหญ่ เกือบ 70% อยู่ในกทม และจังหวัดใหญ่ๆเช่น เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น จังหวัดอื่นๆมีอยู่ไม่มากหรือบางจังหวัดยังไม่มี (ประเทศญี่ปุ่นมีประมาณเกือบ 6,000 แห่ง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้การดูแลได้)
ซึ่งหากนับอายุเฉลี่ยเฉพาะช่วงที่ผู้สูงอายุยังแข็งแรงไม่ต้องทุกทรมานจากโรคภัยนั้น อายุเฉลี่ยจะลดลงจากเดิมอีก 5 ปี แปลว่า ในช่วง 5 ปีก่อนเสียชีวิตนั้น ผู้สูงอายุมักมีภาวะทุพลภาพกันอยู่ไม่มากก็น้อยก่อนจากไป
ทุพลภาพ แล้วย่อมต้องพึ่งพา จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า ในช่วง20ปีมานี้ มีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพังเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และจำนวนคนวัยทำงาน 4 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 1 คน ผู้สูงอายุในไทยจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่นถึง 55% ประเทศไทยจึงถูกจัดว่าประเทศ จนก่อนแก่ โดยสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน
ผมหวังว่าเราทุกคนจะเริ่มตระหนักถึงปัญหา วางแผนรับมืออย่างจริงจังและช่วยกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุหลายท่านขาดโอกาส ขาดกำลังทรัพย์และไม่ได้แข็งแรงเหมือนกันทุกคน การได้รับการช่วยเหลือจากสังคมทั้งภาครัฐหรือเอกชนก็ตามนับเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำ ไม่มากก็น้อยครับ
โฆษณา