2 ก.พ. 2022 เวลา 14:25 • ปรัชญา
ทำไมเรารู้หมดแล้วแต่ก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี?
1
สิ่งที่เป็นความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม หรือ ธรรมะก็ตาม กับสิ่งที่ใจเราจะทำอย่างนั้นได้จริง มันเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’
2
มนุษย์ใช้เวลาไม่นานในการเรียนรู้ที่จะท่องจำ แต่เราใช้เวลานานมากในการให้จิตเข้าถึงสภาวะนั้นได้จริง
ความทุกข์โดยส่วนมากมักเกิดจากความคิดของเราเอง
ทางด้านร่างกายนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากความคิดทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง หากบริษัทของคุณกำลังจะขาดทุน แล้วพอตกกลางคืนนั้น คุณนอนไม่หลับ
ณ ตอนนั้น คุณกำลังทุกข์เพราะเงิน หรือทุกข์เพราะความคิด
ใช่แล้ว.. คุณกำลังทุกข์เพราะความคิดนั่นเอง
เพราะจริง ๆ แล้วถ้าเราจะแก้ปัญหาก็ไปแก้ตอนกลางวัน แต่อะไรที่เราทำไม่ได้ ณ ตอนนี้ เราก็ต้องหยุดทำ
แต่ทีนี้ความคิดมันไม่เลิก ความคิดมันเปิดสวิชต์ไปเรื่อย ๆ
เสียงของความคิดมันดัง ความทุกข์มันผ่านมาทางความคิด พอคิดให้มันเป็นทุกข์มันก็เป็นความทุกข์
1
เวลาที่เราวางความคิด.. ธรรมชาติเวลาเราวาง สักพักมันก็จะถูกดึงดูดเข้ามาเช่นเดิม
ดังนั้น ขอให้เข้าใจคำ 2 คำ และแยกมันให้ออก ระหว่างคำว่า “เข้าใจ” และ “รู้สึก” หรือ “รู้สภาวธรรม”
2
เรื่องของจิตใจหรือธรรมะทั้งหมดที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กจนโต หรือคุณธรรม จริยธรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เราเข้าใจ แต่เราไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นได้จริง
เช่น “การปล่อยวางจะนำมาซึ่งความสุข และวางความทุกข์ลงได้”
สมมุติคุณกำลังคิดเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทีนี้เพื่อนคุณมาบอกว่าให้คุณปล่อยวาง
คำถามคือปล่อยวางต้องทำยังไงบ้าง?
ลองคิดดูดี ๆ ปล่อยวางจริง ๆ มันไม่ต้องทำอะไร
การทำอะไรสักอย่าง มันทำให้เกิดการปล่อยวางไม่ได้ คุณยิ่งทำ มันยิ่งไม่ปล่อยวาง
ปล่อยวางนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย
แต่การไม่ทำอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่เราทำไม่ได้
เราทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นไม่ทำอะไรเลย เราก็เลยคิดไปเรื่อย ๆ
คนในโลกทุกวันนี้มักจะให้ความสำคัญกับความคิด หรือทัศนคติ
มักกล่าวกันว่า คนเราสำคัญที่ทัศนคติ
แต่จริง ๆ แล้วทัศนคติเป็นเรื่องที่เปลี่ยนง่ายที่สุด เพียงแค่อ่านหนังสือสักเล่ม หรือเข้าคอร์สเรียน คุณก็เข้าใจได้ทั้งหมด
ทัศนคติคือหมุดหมาย คืออุดมการณ์ คือสิ่งที่เราคิดว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
แต่ตัวที่ทำให้ไปไม่ถึงหมุดหมายก็เพราะว่าจิตใจเราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ
เช่น เรารู้ว่าการนินทาว่าร้ายเป็นสิ่งไม่ดี แต่เราก็ยังอยากพูดอยากเล่าต่อ
ที่จริงคนเราถ้าสภาวธรรมเขาถึง เขาไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากมายเลย
1
ฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกระหว่างความรู้ธรรมะ และ จิตที่รู้ธรรมะ ว่ามันเป็นคนละส่วนกัน
ในเรื่องของความรู้สึก คือความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราล้วนเกิดจากการสะสมมาทั้งนั้น
จิตที่มีความทุกข์ง่าย คือจิตที่สะสมความทุกข์ไว้ในปริมาณมหาศาล
จิตที่มีความทุกข์ได้ยาก ก็คือจิตที่สะสมความทุกข์ไว้ในปริมาณไม่มาก
เมื่อมีทุกข์ แทนที่จะดีดมันทิ้ง คุณกลับเข้าไปแช่อยู่ในนั้น
พอเข้าไปแช่ครั้งที่ 1 จิตมันก็จะเกิดความคุ้นเคย พอมีครั้งที่ 2..3..4 แม้ว่าเราจะบอกว่าไม่อยากมีความทุกข์ แต่ลึก ๆ แล้ว มันคุ้นกัน จิตมันก็จำสภาวะนั้น
เพราะฉะนั้นหากเราจะมีความสุขได้ หรือเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราไม่ได้เปลี่ยนอย่างทันทีทันควัน แต่เราต้องดูแลความคิด ความรู้สึก หรือเวทนา หรือ สัญญาต่าง ๆ ที่เข้ามาในแต่ละขณะ
ต้องเรียนรู้ที่จะวางมันลง อย่าเข้าไปแช่กับมันนาน
จิตนี้ถ้าเข้าไปแช่ในสิ่งไหน มันจะจำสิ่งนั้น และมันก็จะดึงดูดสิ่งนั้นซ้ำ ๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ยากคือ เวลาจิตจำอะไรก็ตามแต่ อารมณ์อะไรก็ตามแต่ คุณต้องทำในสิ่งที่ตรงข้าม
คือทำไปทั้ง ๆ ที่ไม่อยาก
คุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่ควรจะทำ
ความยากมันอยู่ตรงนี้
สิ่งที่เราทำมากสุดในชีวิตคือสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ว่าจะควรหรือไม่ควร
พัฒนาขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเป็นคนที่ทำสิ่งที่ควรทำและอยากทำด้วย
เช่น คนขี้โมโหแต่ใจกว้าง สิ่งที่เขาจะทำก็คือ เมตตา เช่น บริจาค การให้ต่าง ๆ
เพราะทำแล้วรู้สึกดี และทำง่ายตรงจริตความใจกว้างของตัวเอง
แต่จริง ๆ แล้วให้จำไว้เลยว่า ถ้าจะพัฒนาจิตวิญญาณ ต้องไปตีกิเลสที่มันร้ายที่สุด ไม่ใช่ไปทำของง่าย
ทุก ๆ คนจริตแตกต่างกัน ต้องสังเกตให้ได้ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน
ไม่ว่าจะ ขี้โมโห ขี้เหนียว ขี้เกียจ...
ต้องเอามาตัวหนึ่ง ตัวที่ร้ายกาจที่สุด แล้วมาเริ่มจากตรงนั้น
1
คุณจะรู้สึกว่ามันทำได้ยาก เพราะคุณต้องไปทำในจริตที่มันเป็นคู่ปรับกัน
วันที่คุณลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ย้อนศร ตรงกันข้ามกับความต้องการของตัวเอง เรียกว่าเป็น “การสั่งสมอนุสัยใหม่”
อนุสัย แปลว่า กิเลสที่นองเนื่อง ที่เป็นพื้นฐานชีวิตเรา
1
บางคนสะสมอนุสัยความเศร้า ความโกรธ ความวิตกกังวล
เราจะมีพื้นจิตซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกันอันเกิดจากการสั่งสมมา
หากจะสั่งสมอนุสัยใหม่ ให้คุณทำตัวเหมือนคนดูต้นทาง
คือก่อนที่คุณจะให้ใครเข้ามา คุณต้องดูว่าเขาควรจะเข้ามาไหม
ไม่ใช่ไปดูว่ามันเป็นเรื่องนี้ เราเลยต้องคิดแบบนี้
เพราะเราต้องไม่ลืมคิดไปว่า คนบางคนเข้ามาทำให้เรารู้สึกไม่ดี แต่คน ๆ นั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป
1
จิตที่เราสั่งสมต่างหากจะอยู่กับเราตลอดไป ถึงขนาดอยู่ไปทุกภพทุกชาติตราบใดที่ยังต้องเกิดอยู่
เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือเราต้องรู้จักเลือก.. รู้ว่าสิ่งไหนควรอยู่ สิ่งไหนควรรีบวาง
ต้องไม่ลืมที่จะฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณอยู่เนือง ๆ ฝืนกิเลสดูบ้าง ทำบ่อย ๆ เข้า เราจะได้ประโยชน์เสียเอง
ทีนี้จะได้เลิก “รู้แต่ทำไม่ได้” กันสักที
.
คัดเนื้อหาบางส่วนจากวิดีโอ วิธีแก้นิสัย ให้ได้ผลจริง โดย พศิน อินทรวงค์
สามารถรับฟังคลิปเต็มได้ที่:
โฆษณา