4 ก.พ. 2022 เวลา 06:51 • ปรัชญา
“เห็นความจริง คือ ไตรลักษณ์ จนจิตวางจิตเอง”
“ … เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆๆ ในที่สุดก็จะรู้ว่า
ทุกอย่างเสมอกันหมด
ความสุขหรือความทุกข์ก็เสมอกัน
เพราะเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน
ควบคุมบังคับเอาไว้ไม่ได้เหมือนกัน
ความดีและความชั่วเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน
เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ดีกับชั่วเวลาเราบอกว่ามันเสมอกัน ต้องต่อด้วยคำว่า
เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
เพราะดีกับชั่วมันไม่เสมอกันในเรื่องของเหตุกับผล
เหตุที่จะทำดีก็อันหนึ่ง เหตุที่จะทำชั่วมันก็อันหนึ่ง
ผลจากการทำดีมันก็อันหนึ่ง ผลจากการทำชั่วก็อันหนึ่ง
มันไม่เท่ากันหรอก
อย่างคนชั่วมีความทุกข์รออยู่ข้างหน้า
คนซึ่งใจเป็นกุศลใจเป็นบุญมีความสุขรออยู่
ถ้าฉลาดพอก็จะเห็นเลย
ทันทีที่เราคิดจะทำบุญ จิตเริ่มมีความสุขแล้ว
อย่างคิดว่าวันนี้เราจะใส่บาตรแล้ว
แค่คิดใจมีความสุขแล้ว แล้วลุกขึ้นมาแต่เช้ามืด
อากาศก็สดชื่น มาทำเตรียมอาหารใส่บาตร มีความสุข
ไปใส่บาตรก็มีความสุข กลับมากรวดน้ำอีก มีความสุขอีก
ใจที่เป็นบุญมันจะมีผลเป็นความสุข
ส่วนใจที่มีบาปผลมันเป็นความทุกข์
อย่างถ้าเรามองผิวเผินเราไม่เห็น
อย่างพวกโกงชาติ โกงบ้านโกงเมือง รวยเป็นหมื่นล้านแสนล้าน
เรานึกว่าเขารวยเยอะๆ แล้วเขาจะมีความสุข
เขาไม่ได้มีความสุขหรอก เขาเครียดตลอดเลย
อย่างพวกที่ขี้โกง ก็กังวลกลัวจะถูกจับได้สักวันหนึ่ง
หรือมีปัญหาอยู่บ้านอยู่เมืองไม่ได้อะไรต่ออะไร ใจไม่ได้มีความสุข
ความชั่วทำแล้วก็ความทุกข์เกิดขึ้นทันทีเลย
แต่เจ้าตัวจะรู้หรือเปล่าเท่านั้น
อย่างเราคิดจะไปปล้นเขา เราคิดชั่วแล้ว
ขณะที่คิดจะไปปล้นจิตเศร้าหมองแล้ว
จิตฟุ้งซ่านวุ่นวาย กังวลอะไรต่ออะไรสารพัด
เริ่มรับบาปตั้งแต่คิดชั่วแล้ว
พอพูดชั่วก็รับหนักขึ้นไปอีก
พอทำชั่วก็รับเยอะๆ เลย
เริ่มมาจากจิตมันชั่วก่อนแล้ว
คำพูดมันก็ชั่ว การกระทำมันก็ชั่ว
ทันทีที่แค่เริ่มคิดชั่วจิตก็ไม่มีความสุขแล้ว
จิตที่เคยสงบก็เปลี่ยนเป็นจิตฟุ้งซ่านแล้ว
ระหว่างจิตสงบกับจิตฟุ้งซ่าน
ถ้าเราชำนิชำนาญภาวนาจนเรารู้จักจิตที่สงบแล้ว
เราจะรู้เลย ทันทีที่จิตฟุ้งซ่าน
ความทุกข์ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้นแค่คิดชั่วความทุกข์มันมาแล้ว
แค่คิดดีความสุขมันก็มาแล้ว
ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดี แล้วสำเร็จผลตามที่ต้องการ
เราก็อิ่มอกอิ่มใจ ทำสำเร็จแล้วอย่างนี้ได้บุญเยอะ
นึกทีไรก็ชื่นใจ
ฉะนั้นเราพยายามดูตัวเอง
อ่านตัวเองไปเรื่อยๆ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้
เราก็จะเห็นจิตเป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ
จิตเป็นอกุศลเกิดแล้วก็ดับ
จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ
มันเท่ากันหมดเลย ทุกสิ่งทุกอย่างคือเกิดแล้วดับ
แต่เวลาทำลงมือทำต้องทำดี ถ้าทำชั่วจะมีผลเป็นทุกข์
ดีกับชั่วไม่ได้เท่าเทียมกันในเรื่องของผล
แต่ดีกับชั่วนั้นเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ต้องแยกให้ออก
ไม่ใช่เดี๋ยวบอกหลวงพ่อปราโมทย์บอกดีกับชั่วเท่ากัน
เดี๋ยววันนี้เราแวะปล้นธนาคารก่อนจะกลับบ้าน ไม่ใช่
อันนี้ฟังคำสอนแล้วเพี้ยน
หัดดูของจริงแล้วเราจะเห็นอย่างที่หลวงพ่อบอก
สุขกับทุกข์มันก็เหมือนๆ กัน
เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
ดีกับชั่วมันก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ฉะนั้นจะให้เราภาวนาเอาดี รู้สึกต่ำต้อย เพราะอะไร
เพราะดีมันไม่เที่ยงที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ
เราไม่ได้ภาวนาเอาดี ไม่ได้ภาวนาเอาสุข ไม่ได้ภาวนาเอาสงบ
เพราะอะไร เพราะดีมันไม่เที่ยง สุขมันไม่เที่ยง สงบมันไม่เที่ยง
1
แล้วอะไรที่เที่ยง สัจจะมันเที่ยง เคยได้ยินไหม
“ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”
สัจจะคือความจริง ไม่สูญหายไม่ตาย
พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ท่านก็สอนสัจจะอันเดียวกัน คืออริยสัจ
ท่านก็สอนอย่างเดียวกัน
ฉะนั้นไม่ตาย หรือกฎของธรรมะทั้งหลาย เรียกว่าธรรมนิยาม
ว่าสังขารทั้งหลายคือสิ่งที่ปรุงแต่ง เกิดขึ้นมาทั้งหลาย
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เที่ยง
หลักการนี้เที่ยง กี่ยุคกี่สมัยมันก็เป็นอย่างนี้
สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้
แต่หลักที่ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้มันเที่ยง
ไม่ใช่ว่าทุกอย่างไม่เที่ยงเลย สัจจะนั้นมันจริง มันจริงตลอด
สมมติสัจจะมันไม่เที่ยง สมมติสัจจะไม่เที่ยง จริงโดยสมมติ
ถามว่ามีไหมจริงโดยสมมติ มี
1
อย่างสมมติว่านี่คือพ่อ นี่คือแม่ นี่ครูบาอาจารย์
นี่เรียกว่าบ้าน นี่เรียกว่ารถ ก็จริงของมันเหมือนกัน
แต่ว่ามันจริงโดยสมมติไม่ยั่งยืนหรอก
อาจจะเรียกพ่อว่าอย่างอื่นก็ได้ เรียกป๊า เรียกอะไรก็ได้
แต่ตัวความจริงตัวธรรมะแท้ๆ มันยั่งยืน
เรียนก็เรียนให้ได้ของจริง ของที่ยั่งยืน
เรียนให้เห็นความจริง เรียนให้เข้าถึงสัจจะ
ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดดับแน่นอน
เรียนเพื่อให้เห็นอย่างนี้
เรียนให้เข้าถึงสัจจะ ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดดับแน่นอน
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมฺชโช
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ถ้าเราดูทุกวันๆ
เราก็จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ
อันแรกอันที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ
อันที่สองเกิดแล้วดับ
อันที่ล้านหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ
ถึงจุดหนึ่งจิตมันสรุปทุกอย่างเกิดแล้วดับ
ทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น ภาวนาเรื่อยๆ
ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้แล้วว่า
สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ
เราจะรู้ว่าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวเราถาวรหรอก
ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนมันก็เกิดชั่วคราว
แล้วมันก็ดับเหมือนกัน
ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา ก็จะเห็นตัวเราไม่มี
ล้างความเห็นผิดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
คือตัวเราของเรา
อย่างคนไม่เคยภาวนาก็เห็นว่า
นี่ร่างกายของเรา นี่ตัวเราล่ะ ตัวเรานั่งอยู่ตรงนี้
ภาวนาเป็นมันก็เห็นนี่เป็นวัตถุธาตุ
มันก็ธาตุเดียวกับโลกนั่นล่ะ
ธาตุทั้งหลายยืมโลกมาใช้ มันเป็นอันเดียวกับโลก
มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา มันสมบัติของโลก
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งนั้นเลย
เหมือนความฝัน เหมือนภาพลวงตา เหมือนพยับแดด
ล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับๆ ไม่มีสาระแก่นสารที่ควรจะยึดถือไว้
ตัวจิตใจเป็นตัวที่ดูยากที่สุด
นี้เราฝึกทุกวันเราก็เห็นจิต
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง
ในที่สุดปัญญามันก็แทงตลอด
จิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ
จิตทุกดวง จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
พอเห็นอย่างนี้มันก็จะรู้เลย จิตก็ไม่ใช่ตัวเราหรอก
เพราะว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับไป
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวรสักอย่างเดียว
ถ้าเราเห็นได้ถึงขนาดนี้
เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
โดยเฉพาะถ้าเราเห็นเข้ามาที่ตัวจิตเลย
จิตไม่ใช่เรา อันอื่นจะไม่ใช่เราแล้ว ขาดตรงนั้นเลย
ไม่จำเป็นต้องมาไล่ทีละตัวๆ ให้ครบขันธ์ 5 หรอก
ถ้าเห็นความจริงได้ จิตจะวางเอง
ถ้าตัดเข้ามาที่จิตได้ จิตไม่ใช่เราสักอันเดียว
ร่างกายมันก็แค่ของเรา เคยคิดว่าเป็นของเรา
ถ้าเราไม่มีแล้ว ร่างกายเป็นของใครล่ะ
ของโลกไป ไม่ใช่ของเราแล้ว มันอัตโนมัติเลย มันจะวาง
ถ้าละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราได้
มันจะละความเห็นผิดในขันธ์ 5 ทั้งหมดเลย
ในขณะเดียวกันถ้าเราหมดความยึดถือในจิตได้ทีเดียว
เราจะหมดความยึดถือในขันธ์ 5 ทั้งหมด
หมดความยึดถือในโลกทั้งหมด
เพราะฉะนั้นอย่างพระอรหันต์ท่านบรรลุพระอรหันต์ขึ้นมา
ท่านแตกหักลงที่จิต แตกหักลงมาที่จิต
ภาวนาจนวางตัวอื่น วางๆๆๆ ไปหมดแล้ว
เข้ามาที่จิตดวงเดียวนี่เอง
สุดท้ายก็เห็นความจริง จิตไม่ใช่อะไรเลย ไม่ใช่ตัวเรา
บางท่านก็เห็นว่าจิตไม่เที่ยง เกิดแล้วดับๆ
ผู้รู้เองก็เกิดดับ ผู้รู้ไม่ได้เกิดแล้วก็อมตะ
ถ้าเห็นว่าผู้รู้เกิดแล้วเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านสอนไว้ชัด
หลวงปู่หล้า ภูจอก้อ เก่งมากองค์นี้ แล้วฉลาดมากเลย
ธรรมะท่านคมกริบเลย ท่านบอกว่า
“ถ้าเห็นจิตผู้รู้มันเที่ยง ยังใช้ไม่ได้ ยังเห็นผิดอยู่”
ดูลงไป เห็นจิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ ไม่เที่ยงหรอก
จิตผู้หลงเกิดแล้วก็ดับ จิตผู้เพ่งเกิดแล้วก็ดับ
จิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ
อย่างนี้จิตท่านบรรลุพระอรหันต์ วางจิต
ปล่อยวางจิตได้เพราะเห็นว่าจิตนั้น มันเป็นของไม่เที่ยง
อันนี้เขาเรียกบรรลุพระอรหันต์แบบ อนิมิตตวิโมกข์
ไม่มีเครื่องสังเกต ไม่มีเครื่องหมายอะไรเหลืออยู่
เพราะว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย
ถ้าบางท่าน ท่านชำนาญในฌาน ทรงฌาน
เวลาท่านดูจิตผู้รู้ มันมีความสุขมหาศาล
ไม่เหมือนจิตพวกเราแกว่งไปแกว่งมา
จิตของท่านเด่นดวงทรงตัวอยู่ได้ทั้งวัน
ท่านรู้สึกว่านี่ล่ะดีเป็นที่พึ่งที่อาศัย
ตรงเป็นพระอนาคามี รู้สึกผู้รู้เป็นที่พึ่งที่อาศัย
ฌานสมาบัติเป็นที่พึ่งที่อาศัย
ส่วนใหญ่มาติดอยู่ที่ตรงนี้แล้วไปไม่รอดแล้ว
หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไว้ ส่วนใหญ่ภาวนามาแล้วมาติดตรงนี้
เพราะฉะนั้นเครื่องอยู่ก็จะอยู่ในฌานอย่างนี้
แล้วอยู่อย่างนี้ทั้งวันแล้วบอกไม่มีกิเลส
อย่างนั้นยังวางไม่ได้จริงหรอก
ถ้าท่านทรงฌานแล้วท่านดูเห็นผู้รู้ มีความสุข
อยู่ๆ มันจะไหวตัวพลิกทีเดียว มันคือตัวบรมทุกข์เลย
ไม่มีตัวไหนทุกข์เท่าตัวจิตนี้เลย แล้วท่านก็วาง
วางเพราะเห็นเลยตัวผู้รู้นี้มันเป็นตัวทุกข์
ตัวจิตนี้เป็นตัวทุกข์ อันนี้ท่านบรรลุพระอรหันต์
ด้วยวิธีที่เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์
ถ้าพวกที่ปัญญาท่านกล้า มีสติปัญญาแรง
ท่านก็เห็นมันว่างเปล่า เห็นมันว่างแล้วก็วาง
อันนี้เรียกว่าสุญญตวิโมกข์
แต่ละคนแต่ละท่านเป็นของท่านเอง
ท่านไม่ได้เลือกหรอกว่าท่านจะเป็นอย่างไร
พวกเราก็ไม่ต้องเลือก เรามีสติรู้อะไรได้ชัดเจน
เห็นตัวนั้นเกิดดับได้บ่อยๆ เอาอันนั้นล่ะ
อย่างเราเกิดมาบุญเราเยอะเรามีแต่ความสุข
เราก็ดูไปความสุขเกิดขึ้นเรารู้ ความสุขตั้งอยู่เรารู้
ความสุขหายไปเรารู้
เดี๋ยวก็สุขอีกแล้ว คงทำบุญมาเยอะแหมมันสุขอยู่เรื่อย
เราก็ใช้ความสุของเรานี่ล่ะทำกรรมฐาน
ก็เห็นความสุขไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าเราความทุกข์เยอะ เดี๋ยวก็ทุกข์ๆ เดี๋ยวก็กังวล
เดี๋ยวก็กลุ้มใจ นี่กิเลสแล้ว
ตัวไม่สบายใจ ตัวทุกข์ใจเป็นตัวเวทนา
ตัวกลุ้มใจเป็นโทสะ อยู่ในสังขาร คนละกลุ่มกัน
สุข ทุกข์ อยู่ในเวทนาขันธ์
ดี ชั่ว อยู่ในสังขารขันธ์
เฝ้าดูลงไปสมมติว่าเราขี้โมโห
เราก็ใช้ความโกรธเป็นอารมณ์กรรมฐาน
จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหายโกรธก็รู้
ดูมันทั้งวันอย่างนี้ อดทนดูแล้วดูอีก
แล้วถ้าตัวอื่นมันเกิดเป็นครั้งคราว มันก็เห็นเอง
ถ้าเราเห็นตัวหนึ่งได้แล้ว ตัวอื่นเกิดขึ้นมันก็เห็นได้เหมือนกัน
แต่ตัวไหนเกิดบ่อยเอาตัวนั้นเป็นหลักไว้
เรียกว่าเป็นวิหารธรรมไว้
อย่างหลวงพ่อตอนทำสมถะ
หลวงพ่อใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม
ตอนที่หลวงพ่อเดินปัญญา เรียนจากหลวงปู่ดูลย์
หลวงพ่อใช้จิตเป็นวิหารธรรม เห็นจิตเกิดดับ
จิตเป็นกุศลอกุศลเกิดดับทั้งสิ้น
จิตสุขจิตทุกข์เกิดดับทั้งสิ้น
ดูลงไปมันจะคาบเกี่ยวระหว่าง
เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา
อันนั้นเครื่องอยู่แบบหลวงพ่อ
ของเราก็แบบของเรา
ไม่ต้องเลียนแบบใคร ถนัดอะไรเอาอันนั้น
เลียนแบบคนอื่นไม่ได้ กรรมฐาน ทางใครทางมัน
แต่ไม่ว่าจะใช้กรรมฐานอะไร
ถ้าเป็นกรรมฐานรูปนาม มันก็ลงไตรลักษณ์เหมือนกันหมด
จะเห็นไตรลักษณ์เหมือนกันหมด
แล้วก็สุดท้ายก็ปล่อยวางเหมือนกันหมด
จะเดินมาทางกาย หรือทางเวทนา หรือทางจิต
หรือเดินมาด้วยธัมมานุปัสสนา
สุดท้ายก็เข้าไปถึงธรรมะอันเดียวกัน
เข้าไปถึงพระนิพพาน ถึงสุญญตาอันเดียวกัน
เดินทางไหนก็เหมือนกันล่ะ
ฉะนั้นพวกเราพวกคิดมากทั้งหลาย
ดูจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ อดทนไว้
ไม่ใช่วันนี้ดูแล้วก็ลืมไปอีก 3 วัน แล้วมาดูอีกที
ไม่ได้กินหรอก
ดูถี่ๆ เลย ดูให้เยอะที่สุด แต่อย่าโลภ
ขยันดูแต่ไม่ต้องคาดหวังว่าดูแล้วจะได้อะไร
ถ้าหวังว่าจะได้อะไร มันจะไม่ได้อะไรนอกจากความทุกข์
แต่ถ้าขยันดูแล้วไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้อะไร
ดูแล้วจะได้เห็นความจริง
ถ้าได้เห็นความจริง จิตมันจะวางของมันเอง. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 มกราคม 2565
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา